“ณัฐวุฒิ” รมช.พาณิชย์ แถลงร่วมหลายหน่วยงานในการทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์คดีถึงที่สุด ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า อะไหล่รถยนต์ แผ่นซีดี ดีวีดีและ สุรา ฯลฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,634,286 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 90 ตัน มูลค่ากว่า 1,484 ล้านบาท
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21 ส.ค.) ที่กองปราบปราม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญหา กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และภาคเอกชน ร่วมกันทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา รองเท้า อะไหล่รถยนต์ แผ่นซีดี ดีวีดีและสุรา ฯลฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,634,286 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 90 ตัน มูลค่ากว่า 1,484 ล้านบาท
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ตัวเลขของกลางในคดีนี้สะท้อนได้ 2 แง่มุม คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีการกวดขันจับกุมคดีประเภทนี้มากขึ้น หรือผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่ทั้งนี้ก็อยากให้การจับกุมในภาพรวมมีของกลางในคดีลดน้อยลง ซึ่งนั่นจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
นายณัฐวุฒิกล่าวถึงกรณีการหักเอาค่าปรับซึ่งมาจากคำพิพากษาของศาลก่อนส่งคืนเป็นเงินคงคลังกลับมาให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่า ได้กำชับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เร่งรัดดำเนินการประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักคืนเงินค่าปรับก่อนส่งคืนเป็นเงินคงคลัง ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีหลายหน่วยงานบังคับใช้ไปแล้ว แต่ก็มีอีกหลายหน่วยงานยังไม่มีผลบังคับใช้ ต่อมาเมื่อปี 2554 มีผู้ยื่นเรื่องขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมตีความว่าหน่วยงานที่จะได้รับผลจากค่าปรับควรเป็นหน่วยงานใดซึ่งก็มีความเห็นว่าต้องเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายนั้นเท่านั้น หมายความว่า ค่าปรับกรณีนี้ต้องเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ดำเนินการ แต่ก็ยังไม่มีการออกระเบียบกรมทรัพย์สินทางปัญญามารองรับให้ดำเนินการเช่นนี้ได้
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า เมื่อมีคดีที่เจ้าหน้าที่จับกุมคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและเมื่อศาลตัดสินให้เสียค่าปรับแล้ว ค่าปรับก็อยู่ที่ศาล เมื่อถึงเวลาศาลก็ทำเรื่องส่งคืนเป็นเงินคงคลัง ซึ่งเงินค่าปรับดังกล่าวไม่ได้กลับมาที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ระเบียบเปิดให้ทำได้อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา จึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องจัดทำประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งขณะนี้ทำเป็นร่างประกาศแล้วแต่อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดซึ่งตนมั่นใจว่าเสร็จทันตามกำหนดภายในเดือนสิงหาคมนี้แน่นอน
นายณัฐวุฒิกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ทุกคดีที่ศาลพิพากษาเรื่องค่าปรับออกมา สมมติว่าเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จะตัดเป็นส่วนของศาลยุติธรรม 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือ 75 เปอร์เซ็นต์นำมาคิดใหม่เป็น 100 เปอร์เซ็นต์โดยในส่วนนี้ 20 เปอร์เซ็นต์ส่งคืนเป็นเงินคงคลัง ส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็มาคิดใหม่เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนที่เหลือ 75 เปอร์เซ็นต์ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ร่างประกาศจะเป็นแบบนี้ ส่วนการเบิกจ่ายย้อนหลังนั้นจะตกเบิกได้หรือไม่นั้นเรื่องนี้ศาลที่นครปฐมทำเรื่องสอบถามไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมแล้วได้รับคำตอบว่าเบิกจ่ายย้อนหลังได้ภายในกรอบเวลา 5 ปี
นายณัฐวุฒิยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาให้สิทธิบัตรว่า สำหรับภาคประชาชนหรือเจ้าของผลงานที่ส่งผลงานมาจดอนุสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าก็ยอมรับว่าใช้เวลานานจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะต้องตรวจสอบไม่ให้ไปซ้ำซ้อนกับงานอื่นๆ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังมีข้อจำกัดในการให้บริการซึ่งตนได้ผลักดันให้มีการดำเนินการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในการให้บริการเรื่องนี้ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2557 ทำให้การยื่นจดสิทธิบัตรย่นระยะเวลาลงอย่างน้อย 8 เดือน ส่วนอนุสิทธิบัตรย่นระยะเวลาลงอย่างน้อย 6 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการทำลายของกลางที่คดีถึงที่สุดแล้วที่จังหวัดภูเก็ต โดยในครั้งนั้นมีของกลางทั้งสิ้น 94,120 ชิ้น มูลค่ากว่า 297 ล้านบาท ส่วนสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2556 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากรมีทั้งหมด 5,996 คดี ของกลาง 1,787,140 ชิ้น อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2555 พบว่า ภาพรวมมีคดีเพิ่มขึ้น 4.01 เปอร์เซ็นต์ แต่ของกลางลดลง 55.68 เปอร์เซ็นต์