“อภิสิทธิ์” เบิกความ “ฮิโรยูกิ" ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ถูกยิงตายช่วงเสื้อแดงชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปี 2553 ยันมีกองกำลังชุดดำปะปนม็อบ ระบุเจ้าหน้าที่ทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วน “สุเทพ” ประกาศนำมวลชนต้านนิรโทษกรรม ยังไม่ใช่มติพรรคขอหารือก่อน
วันนี้ (6 ส.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.1/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น, นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ร่วมชุมนุม นปช.ซึ่งทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553
โดยในวันนี้อัยการนำ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเบิกความสรุปว่า ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2551-2554 ซึ่งในปี 2552 ได้มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และในปีเดียวกัน กลุ่ม นปช.ได้ทำการล้มการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีชรีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และก่อความวุ่นวายอีกหลายจุด ทั้งใน กทม.และปริมณฑล และในเวลาต่อมาเดือน มี.ค.2553 กลุ่ม นปช.ได้มีการชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันให้รัฐบาล และองคมนตรีลาออก โดยในขณะนั้นได้มีการเจราจากันระหว่างรัฐบาล และแกนนำ นปช.แต่ตอนหลังได้มีการล้มการเจรจา และมีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ยกระดับการชุมนุมโดยได้บุกเข้ารัฐสภา
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 รัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งได้มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็น ผอ.ศอฉ.โดยตนได้มอบให้นายสุเทพ ทำตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยึดตามหลักสากล ทั้งนี้ตนไม่ได้เป็นคณะกรรมการ ศอฉ.ขณะที่วันที่ 10 เม.ย.2553 เมื่อเห็นว่ากลุ่ม นปช.ที่ชมุนุมอยู่ตรงบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีจำนวนน้อยลง จึงมีการขอคืนพื้นที่เพื่อเปิดเส้นทางการจราจร ไม่ได้เป็นการสลายการชุมนุม แต่ในช่วงเย็นถึงช่วงค่ำของวันเดียวกัน ได้มีการขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ทหารได้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลายราย ต่อมาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ตรวจสอบเหตุดังกล่าว พบว่า มีข้อมูลตรงกันคือ มีกองกำลังหลบซ่อนอยู่ในบ้านพักหลังหนึ่ง ใกล้กับโรงเรียนสตรีวิทยา
ภายหลังทราบจากผู้เชี่ยวชาญว่า กระสุนปืนที่กองกำลังใช้ ไม่ใช่กระสุนปืนที่ใช้ในราชการ ดังนั้นการหาข้อสรุปว่า นายฮิโรยูกิ ตายอยู่จุดใด และตายด้วยเหตุอะไร จึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากบุคคลที่เป็นพยานไม่ได้ให้ความร่วมมือ ซึ่งทางคณะอนุกรรมการวุฒิสภาเห็นว่า หลักฐานยังรับฟังข้อสรุปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ยังเบิกความตั้งข้อสังเกตว่าการ์ดบันทึกข้อมูลในกล้องของนายฮิโรยูกิ หายไปในขณะเกิดเหตุ ต่อมาจึงได้รับการ์ดบันทึกข้อมูลคืนจากผู้ชุมนุม แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ภาพที่อยู่ในการ์ดบันทึกข้อมูลในช่วงก่อนเกิดเหตุได้ถูกลบไป ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามประกาศของ ศอฉ.ที่ให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธเพื่อป้องกันชีวิต และทรัพย์สินในเวลาที่จำเป็น
ทั้งนี้ระหว่างการเบิกความดังกล่าว ยังได้มีการเปิดคลิปวิดีโอเป็นภาพเหตุการณ์ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ซึ่งขณะที่มีการสลายการชุมนุมพบว่า มีภาพชายชุดดำอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ แสดงให้ศาลดูด้วย ซึ่งภาพนั้นสอดคล้องกับที่แกนนำ นปช.ได้ระบุว่า นปช.มีกลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่าย คอยสนับสนุนอยู่
ภายหลังเบิกความเสร็จสิ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้มาเบิกความเป็นพยาน และไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เป็นการเบิกความตามความเป็นจริง ส่วนกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งชี้สาเหตุการตาย 6 ศพวัดปทุมวนาราม เสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบริเวณ ถ.พระราม 1 ตามคำสั่งของ ศอฉ.นั้น ก็เป็นการระบุเพียงว่า กระสุนปืนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของใคร
ส่วนกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจะนำมวลชนชุมนุมที่รัฐสภา เพื่อคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 7 ส.ค.นั้น นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า ยังไม่ใช่มติของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในวันนี้พรรคจะมีการประชุมหารือกันก่อน หากพรรคมีมติดังกล่าว ยืนยันว่าการชุมนุมจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ