xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.ตรึงกำลัง 35 กองร้อยรองรับม็อบต้าน รบ.4 ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


บช.น.กำหนดแผนดูแลความสงบเรียบร้อยภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ตรึงกำลัง 35 กองร้อยดูแล 11 จุด จัดเต็มกำลังเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ เพื่อเตรียมการรองรับการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมวันที่ 4 ส.ค.

วันนี้ (2 ส.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าหน้าที่ได้กำหนดแผนดูแลความสงบเรียบร้อยภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงส่ง กำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และพื้นที่ต่อเนื่องวางผังการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไว้แน่นหนา 11 จุด คือ 1. รัฐสภา 2. แยกราชวิถี 3. แยกขัติยานี 4. แยกการเรือน 5. โค้ง ปตท.ถนนอู่ทองใน 6. ทำเนียบรัฐบาล 7. สะพานชมัยมรุเชฐ 8. แยกสวนมิกวัน 9. สะพานมัฆวานรังสรรค์ 10. สะพานอรทัย และจุดที่ 11. กองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมกำลังตำรวจที่ใช้ 35 กองร้อย จัดลงพื้นที่เต็มอัตรากำลังในวันที่ 3 สิงหาคมเป็นต้นไป ซึ่งระยะ 1-2 วันนี้ใช้กำลังลงพื้นที่บางส่วนเพียง 23 กองร้อยเท่านั้น แบ่งความเข้มข้นในการวางกำลังเป็น 3 ระดับ หรือ 3 ระลอกด้วยกัน คือระลอกแรกใช้กำลัง 12 กองร้อย เป็นตำรวจจาก บช.น. นักเรียนนายสิบ (นนส.) ศูนย์ฝึกอบรมกลาง และกองบังคับการกองปราบปราม (บก.ป.) กำลังระลอก 2 จำนวน 11 กองร้อยเป็นกำลังจาก บช.ตชด. และ บช.ภ.1, 2, 7 ซึ่งรวมกับระลอกแรกแล้วเป็น 23 กองร้อย และกำลังระลอก 3 อีก 12 กองร้อยหากใช้ทั้งหมด 3 ระลอกก็จะเต็มกองกำลังตำรวจที่เตรียมไว้คือ 35 กองร้อย เป็นกำลังจาก บก.ตชด. และบช.ภ.3, 4, 6

โดยแผนป้องกันการรุกล้ำพื้นที่นั้น ตำรวจมีการวางกำลังแนวกั้นแบบสลับฟันปลาใน 3 จุด คือ แยกขัติยานี แยกการเรือน และสะพานอรทัย และวางเครื่องกีดขวางแนวกั้นถาวรคือแท่นปูนแบริเออร์ใน 5 จุด คือ แยกราชวิถี โค้ง ปตท. สะพานชมัยมรุเชฐ แยกสวนมิสกวัน และสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยจะมีการวางเครื่องกีดขวางในช่วง 1-2 วัน นี้รองรับการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมวันที่ 4 ส.ค. มีกองกำลังตำรวจทั้งหมด 35 กองร้อย ที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยครั้งนี้นั้นจะได้รับเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอย่างเต็มที่ตลอดช่วงเวลาที่กำหนดจนกว่าจะยกเลิก พ.ร.บ.มั่นคง แบ่งแยกกันพักตามจุดต่างๆ รอบพื้นที่หวงห้ามเพื่อหวังเข้าจุดกำลังเสริมได้ทันภายใน 5 นาที โดยที่พักกองกำลังทั้งหมดมี 5 จุด คือ สนามเสือป่า ทำเนียบรัฐบาล บช.น. รัฐสภา และสวนสัตว์ดุสิต นอกจากนี้ยังมีฝ่ายปฏิบัติการพิเศษอีกจำนวนหนึ่งประจำการ ณ์ ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาเป็นชุดกองร้อยควบคุมฝูงชนจากนครบาล กองบัญชาการสอบสวนกลางและภูธรตำรวจภาคต่างๆ ชุดสืบสวน ชุดจราจร ชุดพนักงานสอบสวนตรวจที่เกิดเหตุ ชุดเจรจาต่อรอง ชุดบันทึกภาพ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดประชาสัมพันธ์และหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี)

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยนครบาล มอบหมายให้ พล.ต.ต.สุธีร์ เณรกันฐี เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์พื้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรอง ผบ.เหตุการณ์ จำนวน 5 นาย คือ พล.ต.ต.วรัญวัส การุญธัช พล.ต.ต.สำเริง สุวรรณพงษ์ พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสะอาด พล.ต.ต.เอื้อพงศ์ โกมารกุล ณ นคร พล.ต.ต.จิตติ รอดบางยาง พร้อมนายตำรวจระดับ ผบก.น.3,4, 5, 9 ดูแลการปฏิบัติของกองกำลังตำรวจที่แยกพาณิชการ แยกสวนมิกสวัน แยกวังแดง แยกมัฆวาน แยกวัดเบญจ ฯ แยกพล.1 และแยกประชาเกษม

ทั้งนี้ ได้มอบหมายหน้าที่ให้ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ดูแลเรื่องการสอบสวนผู้กระทำผิดกฎหมาย และมอบหมายให้ พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหาญพิทักษ์ เป็น ผบ.เหตุการณ์พื้นที่รัฐสภา มีนายตำรวจระดับรอง ผบช.น.เป็นรอง ผบ.เหตุการณ์คือ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ และ ผบก.น.1, 2, 6, 8 เป็นผู้ช่วย ผบ.เหตุการณ์และกำกับดูแลการปกิบัติของกองกำลังตำรวจบริเวณแยกโค้ง ปตท. แยกการเรือน แยกขัติติยานี และถนนราชวิถี โดย ผบช.น.และ พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงจะดูแลในภาพรวมทั้งหมดมีการประชุมปรับแผนและประเมินสถานการณ์วันต่อวันและให้ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ โฆษกนครบาลแถลงข่าวการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถานการณ์ทั่วไปทุกวันเวลา 13.30 น. พร้อมย้ำทุกหน่วยให้ดำเนินการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น