xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้องม็อบไทรอัมพ์บุกทำเนียบ ชี้ไม่เข้าข่ายก่อความวุ่นวาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ: ม็อบไทรอัมพ์ฺยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 2552
ศาลยกฟ้องม็อบไทรอัมพ์ บุกทำเนียบยื่นหนังสือจี้นายกฯ ช่วยพนักงานถูกเลิกจ้างเมื่อปี 2552 ชี้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (11 ก.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ อ.620 / 2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ อายุ 36 ปี อดีตเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และนายสุนทร บุญยอด อายุ 52 ปี ชาว กทม. และ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 39 ปี ชาว จ.สุพรรณบุรี แกนนำม็อบไทรอัมพ์ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันมั่งสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการในการกรทำผิดนั้น และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกกระทำผิดนั้นแล้วไม่เลิก

โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามในฐานะเป็นหัวหน้า หรือผู้สั่งการในการชุมนุม ร่วมกับพนักงานหลายร้อยคนของบริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นในสตรี ได้มาร่วมชุมนุมมั่วสุมกัน บริเวณ ถ.พิษณุโลก และเคลื่อนย้ายไปปิดล้อมทางเข้าออกบริเวณหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล และปิดเส้นทางจราจร รวมทั้งพวกจำเลยยังขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่ยอมสั่งการให้ผู้ชุมนุมเลิกกาชุมนุมมั่วสุมนั้น เหตุเกิดที่แขวง -เขตดุสิต กทม. ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา215,216ด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 300 คน แต่ไม่ได้ปิดเส้นทางการจราจรเสียทั้งหมด และจุดประสงค์ที่พนักงานบริษัทไทรอัมพ์ฯ มาร่วมชุมนุมกัน ก็เพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน หรือผู้มีอำนาจช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้าจึงนัดรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือขอทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

การกระทำของจำเลย จึงยังไม่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อการชุมนุมดังกล่าวไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก แล้วไม่จำต้องวินิจฉัยความผิดฐานขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้หยุดการชุมนุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 พิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น