xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้ ปชช.เบื่อม็อบ ขอมีสติหวั่นปะทะ เฉยๆ ค้านล้างผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ)
สวนดุสิตไม่พลาด ทำโพลรับการชุมนุมกองทัพ ปชช. ผลสำรวจเกินครึ่งเบื่อม็อบ เหตุทำแตกแยก ส่วนใหญ่อยากให้ชุมนุมมีเหตุผล อย่ายั่วยุ ไม่ต้องการความรุนแรง รู้สึกเฉยๆ ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ ชี้เป็นสิทธิแสดงออก รองมาไม่เห็นด้วย อ้างชาติเศรษฐกิจเสียหาย หวั่นมีปะทะ เกิดเหตุสูญเสียชีวิต-ทรัพย์ และขอมีสติ ไม่วู่วาม นึกถึงชาติ ถึงจะไม่เกิดความวุ่นวาย

วันนี้ (4 ส.ค.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็น “การชุมนุมทางการเมือง” ในสายตาประชาชน จากที่มีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปปี 56 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ มีวาระสำคัญที่กำลังเป็นประเด็นร้อนและเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่หลายวาระ โดยเฉพาะเรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่หลายฝ่ายมีความวิตกกังวลว่าอาจมีกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มคนต่างๆ เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านเมืองอาจเกิดขึ้น เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนและเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยผลสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,176 คน ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2556 สรุปผลดังนี้

เมื่อถามว่าประชาชนคิดอย่างไรต่อการชุมนุมทางการเมือง ณ วันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 54.07 เผยว่ารู้สึกเบื่อ ไม่อยากให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย อันดับ 2 ร้อยละ 25.00 เผยว่าเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย อันดับ 3 ร้อยละ 11.63 เผยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีมาตรการการป้องกันที่เด็ดขาด รัดกุม ดูแลผู้ที่มาชุมนุมเป็นอย่างดี และต้องระวังผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างความวุ่นวาย ขณะที่อันดับ 4 ร้อยละ 9.30 เผยว่ากลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ประชาชนไม่ได้รับความปลอดภัย เกิดการสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ส่วนคำถามว่า การชุมนุมทางการเมืองแบบใดที่ประชาชนต้องการให้เป็น อันดับ 1 ร้อยละ 52.57 ระบุว่าควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล มีสติ ใจเย็น/แกนนำต่างๆ ต้องไม่ยั่วยุหรือปลุกปั่น อันดับ 2 ร้อยละ 22.29 ระบุว่า การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการปะทะกัน ไม่มีการพกพาอาวุธร้ายแรง อันดับ 3 ร้อยละ 13.14 ระบุว่าการชุมนุมจะต้องเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และอันดับ 4 ร้อยละ 12.00 ระบุว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือชุมนุมในสถานที่ที่มีการจัดเตรียมให้

ต่อคำถามว่า การชุมนุมทางการเมืองแบบใดที่ประชาชนไม่ต้องการให้เป็น อันดับ 1 ร้อยละ 43.27 มองว่าการประท้วงที่รุนแรง/การทำร้ายร่างกาย มีอาวุธ/ทำลายทรัพย์สินให้เสียหาย อันดับ 2 ร้อยละ 42.69 มองว่าขาดสติ ไม่มีเหตุผล ใช้อารมณ์ในการตัดสิน/เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง อันดับ 3 ร้อยละ 7.61 มองว่าการชุมนุมที่ยืดเยื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน และอันดับ 4 ร้อยละ 6.43 มองว่าปิดเส้นทางจราจร กีดขวางทางเดินหรือบริเวณที่มีการค้าขาย

และคำถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ต่อการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่จะนำเข้าสภาในเดือนสิงหาคมนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 37.24 ระบุว่า เฉยๆ เพราะเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมาก็เคยมีกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวโดยตลอด ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 33.67 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ สังคมเกิดความวุ่นวาย เสี่ยงต่อการเกิดเหตุร้ายแรงผู้ชุมนุมปะทะกัน ควรใช้วิธีการพูดคุยหรือส่งตัวแทนเจรจาอย่างสันติจะดีกว่า ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 29.09 ระบุว่า เห็นด้วยกับการชุมนุม เพราะ ทำให้รัฐบาลรู้ถึงความต้องการและความคิดเห็นของประชาชน รัฐบาลจะได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ และรัดกุมมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้คนในสังคมตื่นตัว รับรู้ข้อมูลหลายด้าน ฯลฯ

ขณะที่สิ่งที่ประชาชนกลัว/กังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 46.47 มองว่าอาจเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน การปะทะกันของผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 มองว่าภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อันดับ 3 ร้อยละ 18.23 มองว่ามีผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างความวุ่นวายในการชุมนุม ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และอันดับ 4 ร้อยละ 12.95 มองว่าเหตุการณ์ยืดเยื้อ บานปลาย/การจราจรติดขัด ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก

ทั้งนี้ ต่อคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ณ วันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 38.01 คิดว่าทุกคนต้องมีสติ ไม่วู่วาม มีเหตุผล และนึกถึงบ้านเมืองเป็นสำคัญ อันดับ 2 ร้อยละ 25.73 คิดว่าทุกๆฝ่ายควรร่วมมือกัน/ประชาชนไม่ออกมาเคลื่อนไหว/สื่อมวลชนจะต้องนำเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง ชัดเจน อันดับ 3 ร้อยละ 23.39 คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีการพกพาอาวุธเข้ามาในกลุ่มผู้ชุมนุม และอันดับ 4 ร้อยละ 12.87 คิดว่าผู้ที่เป็นแกนนำจะต้องดูแลควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ชัดเจนตรงกันกับผู้ชุมนุม


กำลังโหลดความคิดเห็น