“ดีเอสไอ” ประชุมร่วม 6 หน่วยงาน วางแนวทางการตรวจสอบรถจดประกอบต้องสงสัยหลีกเลี่ยงภาษี มียอดเข้าข่ายถูกตรวจสอบ 488 คัน ชี้หากกายภาพของรถไม่สอดคล้องกับเอกสารมีความผิดฐานสำแดงเท็จ
วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ 5 หน่วยงานเพื่อวางแนวทางการตรวจสอบรถจดประกอบต้องสงสัยหลักเลี่ยงภาษีว่า วันนี้มีระดับรองอธิบดี 6 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบไปด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมขนส่งทางบก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานมาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และดีเอสไอ
โดยในที่ประชุมได้มีมติสำคัญที่สามารถเปิดเผยได้ คือ จากการที่ทั้ง 6 หน่วยงานได้นำข้อมูลมาตรวจสอบหาข้อสรุปที่ถูกต้อง โดยให้ถือข้อมูลการจดทะเบียนกรมการขนส่งทางบกเป็นหลัก
ทั้งนี้ รถยนต์ที่เป็นรถจดทะเบียนประเภทรถจดประกอบซึ่งมีมูลค่าราคาในท้องตลาดประมาณ 4ล้านบาทขึ้นไป จากการตรวจสอบแล้วมีทั้งหมด 488 คัน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันว่าให้ประกาศรายชื่อผู้ครอบครองรถทั้ง 488 คัน แต่รายชื่อที่ประกาศดังกล่าวนั้นไม่ได้หมายความว่ารายชื่อผู้ครอบครอง ผู้เกี่ยวข้อง ผู้นำเข้า ผู้จดประกอบทั้งหมด ที่ประกาศรายชื่อเกี่ยวข้องได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในเรื่องของการหลบเลี่ยงการเสียภาษีแต่อย่างใด เบื้องต้นเป็นเพียงรายชื่อรถยนต์และผู้ครอบครองรถยนต์คนปัจจุบันในทางทะเบียน
โดยทั้ง 6 หน่วยงานมีความจำเป็นต้องขอตรวจสอบรถทั้งหมดดังกล่าว สำหรับการประกาศรายชื่อในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าพวกเราทั้ง 6 หน่วยงานทำงานด้วยคงามโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่มีเว้นวรรคใคร ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และเพื่อให้คนที่มีรถไว้ครอบราคาตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป ที่ไม่มีรายชื่อปรากฏอยู่ใน 488 ราย จะได้เกิดความสบายใจว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในข่ายผู้กระทำความผิดรถจดประกอบหลบเลี่ยงภาษี ทั้งนี้ตนเข้าใจว่าบางทีคนที่ซื้อมาก็ไม่ทราบความเป็นมาของรถ เนื่องจากเป็นผู้ซื้อปลายทาง
อธิบดีดีเอสไอกล่าวต่อว่า แผนการที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบรถทั้งหมด 488 คัน จะแบ่งเป็นการตรวจสอบ 2 รูปแบบ คือ 1. ขั้นตอนการตรวจสอบความสมบูรณ์ทางเอกสาร โดยเริ่มตั้งแต่เอกสารการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผ่านวิธีการและพิธีการของศุลกากร เพื่อนำมาดำเนินการประกอบขึ้นเป็นรถ ซึ่งถือเป็นการประกอบในประเทศตามสถานที่ที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมสรรพสามิต จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของวิศวกรที่ได้รับอนุญาตรับรองความมั่นคงแข็งแรงของรถก่อนที่จะนำไปเสนอให้กรมสรรพาสามิตจัดเก็บหรือที่เรียกว่า “การขอรับราคา” ว่าถูกต้องหรืิอไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบของ สมอ.ในกรณีใช้เชื้อเพลิงหลักและแก็ซซึ่งต้องมีวิศวกรผู้ได้รับอนุญาตทำการรับรอง ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการจดทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบก
อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 6 หน่วยงานร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและถ้าพบว่ามีหลักฐานชิ้นไหนของรถคันใดที่อยู่อยู่ใน 488 รายชื่อไม่ถูกต้องก็จะต้องทำงานตรวจสอบทางกายภาพของรถว่าสอดคล้องกับเอกสารที่จดไว้ว่าเป็นรถจดประกอบภายในประเทศจริงหรือไม่ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วเอกสารถูกต้องแล้ว ทางดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกเอกสารยื่นยันการตรวจว่าไม่พบการกระทำความผิด แต่หากมีการตรวจสอบทางกายภาพของรถแล้วพบว่าไม่ได้มีการประกอบโดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยจริง ก็จะถือว่าเป็นการแจ้งเท็จและจะดำเนินคดี โดยการดำเนินคดีนั้นจะมุ่งดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเป็นหลัก ส่วนผู้ครอบครองจะยึดหลักพิจารณาในเรื่องของเจตนาว่ามีส่วนรู้เห็นหรือไม่
สำหรับการตรวจสอบทางกายภาพของรถนั้น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และ สมอ.จะติดต่อกับดีลเลอร์ (ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้ง 12 ยี่ห้อ) ให้จัดช่างเทคนิคมาร่วมตรวจสอบรถร่วมกัน โดยจะเริ่มดำเนินการภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. 56 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เราจะประชุมฝ่ายตรวจสอบกายภาพรถกับดีลเลอร์ทั้งหมดในวันที่ 19 มิ.ย.
นายธาริตกล่าวต่อว่า จากหลักฐานเอกสารรายชื่อผู้ครอบครองรถทั้ง 488 รายนั้น เป็นการจดทะเบียนใน กทม.71 คัน และจดทะเบียนในภูมิภาค 417 คัน ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะรวบรวมส่งมาให้ดีเอสไอภายในวันศุกร์นี้ โดยรถที่จะถูกตรวจสอบทางกายภาพเป็นกลุ่มแรก คือ รถที่ถูกดีเอสไอยึดและอายัด ซึ่งจะเริ่มลงมือตรวจสอบในวันที่ 19 มิ.ย.เป็นต้นไป หลังจากนั้นจึงจะเป็นการตรวจสอบรถทั้ง 488 คันตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.เป็นไป โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ รถกลุ่มที่สมัครใจให้ทางดีเอสไอตรวจสอบ และกลุ่มที่ทางดีเอสไอออกหมายเรียกให้นำรถมาตรวจสอบต่อไป ซึ่งทางดีเอสไอจะตั้งศูนย์ฮอตไลน์ หมายเลข 08-6318-8651 เพื่อให้ผู้ที่ปรากฏรายชื่อโทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดและนัดหมายนำรถมาตรวจสอบได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.เป็นต้นไป
นอกจากนี้จะได้มีการเชิญกรมสรรพากรเข้ามาร่วมทำงานเป็นหน่วยงานที่ 7 โดยจะเริ่มประชุมใหญ่ในวันที่ 18 มิ.ย. เวลา 16.00 น.ที่ห้องประชุม 1 ดีเอสไอ
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อมูลรถจดประกอบจากชิ้นส่วนเก่า ราคาตั้งแต่ประมาณ 4 ล้านบาทขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2553 - 31 พ.ค. 2556 ปี ที่ดีเอสไอจะเรียกให้ผู้ครอบครองรถยนต์หรูราคาแพงนำรถมาตรวจสภาพว่าเป็นรถนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาประกอบเป็นรถจดประกอบหรือนำเข้ามาทั้งคันแล้วสำแดงเท็จเป็นรถจดประกอบเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีทั้งหมด 488 คัน ประกอบด้วย รถที่จดทะเบียนใน กทม. มี 71 คัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 59 คัน จังหวัดนครปฐม 21 คัน จังหวัดปราจีนบุรี 20 คัน จังหวัดอ่างทอง 9 คัน จังหวัดศรีษะเกษ 8 คัน จังหวัดนครนายก 7 คัน จังหวัดราชบุรี 1 คัน และจังหวัดเชียงใหม่ 1 คัน
จังหวัดนนทบุรี จำนวน 205 คัน แยกเป็นรถยี่หอเมอร์เซเดส-เบนซ์ 157 คัน พอร์ช 20 คัน จากัวร์ 9 คัน โรลส์รอยซ์ 1 คันโตโยต้า 5 คัน นิสสัน 12 คัน และคาดิลแล็ก 1 คัน ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงเป็นแก๊ส ยกเว้นรถพอร์ชที่ยังใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด มีรายชื่อบุคคลผู้ครอบครองที่มีชื่อเสียง อาทิ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข มีรถจากัวร์ติดแก๊ส 1 คัน พล.ต.สุรพงส์ ปราการรัตน์ มีรถเบนซ์ติดแก๊ส 1 คัน พล.ต.ต.เพชรัตน์ แสงไชย มีรถเบนซ์ติดแก๊ส 1 คัน พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร.มีรถเบนซ์ติดแก๊ส 1 คัน พ.ต.อ.สุรพงษ์ ผิวงาม มีพอร์ช 1 คัน พ.ต.อ.ประภากร ริ้วทอง มีรถนิสสันติดแก๊ส 1 คัน
พ.อ.บรมวิช วารุณประประภา มีรถโตโยต้าติดแก๊ส 1 คัน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีรถเบนซ์ติดแก๊ส 1 คัน น.ส.ศุธาภา อุตตะโมต ลูกสาวนายประวัฒน์ อุตตะโมต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ มีรถเบนต์ติดแก๊ส 1 คัน น.ส.ศรีวรรณ รักตพงศ์ไพศาล น้องสาวนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน มีรถเบนซ์ เครื่องเบนซิน 1 คัน นายไกรวิชญ์ เฮงสวัสดิ์ หรือนายแพทย์ กวีวัธน์ หรือหมอไพศาล เจ้าของสถานเสริมความงามไบโอคลินิก ย่านสะพานใหม่ มี รถนิสสัน ติดแก๊ส 1 คัน น.ส.บุศรา ศรีรุ่งเรือง หรือกิ๊ฟ นักร้องลูกทุ่งเจ้าของบทเพลงขนแขนสแตนอัพ อดีตมิสทีนไทยแลนด์ปี 2001
จังหวัดสระบุรี จำนวน 86 คัน แยกเป็นยี่ห้อจากัวร์ 3 คัน แลนด์โรเวอร์ 1 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ 63 คัน นิสสัน 17 คัน พอร์ช 1 คัน และโรสรอย 2 คัน ทั้งหมดเป็นรถติดแก๊ส มีรายชื่อบุคคลผู้ครอบครองที่มีชื่อเสียง อาทิ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม จากัวร์ 1 คัน พ.ต.ท.ประสงค์ พันธุ์สวัสดิ์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กทม.จำนวน 71 คัน แยกเป็นรถยี่หอเฟอร์รารี 3 คัน จากัวร์ 6 คัน แลนด์โรเวอร์ 1 คัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ 26 คัน นิสสัน 22 คัน พอร์ช 13 คัน
จังหวัดนครปฐม จำนวน 21 คัน แยกเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ 8 คัน รถนิสสัน 13 คัน จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 20 คัน แยกเป็นรถยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ 15 คัน นิสสัน 3 คัน พอร์ช 1 คัน และโรลส์รอยซ์ 1 คัน จังหวัดอ่างทอง มีจำนวน 9 คัน แยกเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ 6 คัน และนิสสัน 3 คัน จังหวัดศรีษะเกษ จำนวน 8 คัน แยกเป็น เบนท์ลีย์ 2 คัน เฟอร์รารี 2 คัน พอร์ช 3 คัน และเมอร์เซเดส-เบนซ์ 1 คัน จังหวัดนครนายก จำนวน 7 คัน แยกเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ 5 คัน และรถนิสสัน 2 คัน จังหวัดราชบุรี เมอร์เซเดส-เบนซ์ จำนวน 1 คัน และจังหวัดเชียงใหม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ จำนวน 1 คัน ทั้งหมดส่วนใหญ่ผู้ครอบครองเป็นกลุ่มนักธุรกิจ เครือข่ายนักการเมืองและข้าราชการ