“พร้อมพงศ์” เข้ายื่นหนังสือต่อ “ธาริต” สอบถังดับเพลิง กทม.กรณีถังดับเพลิงไม่ได้มาตรฐานกว่า 9 หมื่นถัง ชี้มูลทุจริต-ฮั้ว
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีถังดับเพลิงระเบิดในพื้นที่ 5 เขตของ กทม.
นายธาริตกล่าวว่า ดีเอสไอได้รับมอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องดับเพลิงของ กทม. ซึ่งทำให้เกิดเหตุการระเบิดของถังดับเพลิง และหากเป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับมาอาจจะปรากฏการจัดซื้อที่ไม่ได้มาตราฐานหรือการสมคบในการที่จะได้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยจะเข้าข่ายในความผิดเรื่องฮั้ว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของดีเอสไอโดยตรง ทั้งนี้ทางดีเอสไอขอเวลาในการทำเรื่องนี้สักระยะหนึ่ง และจะแถลงความคืบหน้าต่อไป
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีการระเบิด โดยเฉพาะถังดับเพลิงในกทม.หลายสิบจุดเมื่อต้นปีและที่ผ่านมาล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 56 ได้มีการระเบิดของถังดับเพลิงที่เขตภาษีเจริญ ซึ่งทาง กทม.เองได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่ามีการสอบไปหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งตนมีความห่วงว่าในฐานะที่เป็นรองกรรมาธิการ ป.ป.ช.ก็มีการสอบคู่ขนานในการจัดซื้อถังดับเพลิงทั้งหมดในวงเงินงบประมาณของ กทม.124 ล้านบาท ต่อ 95,797 ถัง แต่ปรากฏว่าเมื่อมีเหตุระเบิดได้มีการร้องไปยังผู้ว่าฯ กทม.รวมทั้งสภา กทม. และได้มีการสั่งการโดยผู้ว่าฯ และฝ่ายบริหารให้เก็บถังดับเพลิง ล่าสุดตนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในชุมชนยังพบว่ามีถังดับเพลิงหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะเขตภาษีเจริญที่มีการระเบิดของถังดับเพลิงซึ่งเป็นการประจานเรื่องการทำงานว่ามีการเก็บถังดับเพลิงจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังเป็นห่วงทั้งในโรงเรียน สถานนีอนามัย โรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือชุมชน ที่มีการแจกถังดับเพลิงทั้งหมด 95,797 ถัง ทั้งนี้ ตนมองว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากถ้ายังไม่มีการตรวจสอบโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงกรรมการที่ กทม.ตั้งขี้นมา
นายพร้อมพงศ์กล่าวต่อว่า วันนี้ได้ตรวจสอบเชิงลึกในชั้นกรรมาธิการก็ได้เรียกผู้บริหารของบริษัท บี แอนด์ บี ซึ่งเป็นคนที่ได้รับสัญญาจาก กทม.เพียงรายเดียวมาสอบ ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวยืนยันว่าการทำสัญญานั้นทำอยู่ 8 เดือน ซึ่งตอนแรกระบุว่าบริษัท บี แอนด์ บี เป็นผู้ผลิต แต่เมื่อตรวจสอบเชิงลึกและลงพื้นที่นั้นพบว่า บ้านที่จดทะเบียนเป็นบริษัท บี แอนด์ บี เป็นทาวน์เฮาส์อยู่ในหมู่บ้านย่านจรัญสนิทวงศ์ หลังจากนั้นก็เข้าตรวจโรงงานตามสลากที่เขียนปิดไว้ข้างถังดับเพลิงซึ่งระบุชื่อโรงงานไว้ 2 โรงงาน คือ หลายดำรง ซึ่งเมื่อตรวจสอบในทะเบียนแล้วไม่พบ จากนั้นได้ไปตรวจสอบบริษัท โปรเทคไฟล์ เป็นบริษัทผู้ผลิต ปรากฏว่าโรงงานอยู่ที่เพชรเกษม 93 ทั้งนี้โรงงานมีการขึ้นทะเบียนคนงานไว้ 14 คน ซึ่งมาตรฐานตรงนี้เมื่อตรวจเทียบกับโรงงานที่ผลิตถังดับเพลิงที่มีมาตราฐานและมีคนงานระดับหลัก 100 คนขึ้นไป โดยสามารถผลิตถังดับเพลิงได้เต็มที่ 5,000 ถังต่อเดือน เพราะฉะนั้น บริษัท บี แอนด์ บี ก็ไม่สามารถที่จะผลิตถังดับเพลิงภายใน 8 เดือนให้ได้ทั้งหมด 95,797 ถังได้แน่นอน
นายพร้อมพงศ์กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการต่อมา บริษัทดังกล่าวยอมรับว่ามีการสั่งซื้อถังดับเพลิงจากจีนจำนวน 60,000 ถัง โดยกรณีต้องมีการตรวจสอบอีกว่าเข้าข่ายการบรรจุถังดับเพลิงอาจจะผิดกฎหมายหรือไม่ และถังดับเพลิงที่ซื้อจากจีนได้มาตรฐานหรือไม่ อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ตนมองว่าอาจส่อไปในทางทุจริต
นายพร้อมพงศ์กล่าวต่อว่า การทำทีโออาร์ (TOR) ที่กำหนดโดยเฉพาะถัง 20 ปอนด์ ซึ่งระบุว่าถังที่ซื้อนั้นมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และในทีโออาที่เขียนไว้นั้นระบุว่าถัง 20 ปอนด์ในท้องตลาด คือ 9.1-9.5 กก. แต่เจ้าของบริษัท บี แอนด์ บี มายอมรับกับชั้นกรรมาธิการว่า ในทีโออาร์ระบุไว้ 9.5 กก. ซึ่งถือเป็นการไปตัดโอกาสของผู้ประมูลรายอื่น เพราะส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะมีแค่ 9.1 กก.และน่าจะมีการล็อกสเปก อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเรื่องนี้น่าจะเข้าข่ายความผิดอยู่ 2 ส่วน คือ ทุจริต และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งเป็นอำนาจของดีเอสไอในการสอบสวนคดีนี้