อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงเตือนคนนำคำสั่งไต่สวนการตายของช่างภาพอิตาลี ช่วงม็อบแดงชุมนุมปี 53 ไปปลุกปั่น-ต่อเติม อาจโดนละเมิดอำนาจศาล
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (31 พ.ค.) นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ แถลงข่าวถึงกรณีที่ญาติและทนายความได้แถลงข่าวถึงคำสั่งการไต่สวนชันสูตรพลิกศพของนายฟาบิโอ โปเลงกี จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยว่า
ตนได้อ่านข่าวจากสื่อมวลชนแล้ว พบว่ามีการวิจารณ์ว่าคำสั่งศาลไม่มีความชัดเจน และศาลไม่นำคลิปวิดีโอที่ญาติผู้ตายระบุว่า บันทึกภาพขณะนายฟาบิโอ เสียชีวิตไว้มาพิจารณานั้น ตามข้อเท็จจริงยืนยันว่า ศาลรับพยานหลักฐานจากผู้ร้องไว้ทั้งหมด แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้คำสั่งของศาลก็พิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏลงในสำนวน และหลักเหตุผลไม่ได้นำความรู้สึกส่วนตัวมาพิจารณา โดยการพิจารณาของศาลก็จะทำคำสั่งระบุว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร เพียงเท่านั้น ส่วนที่คำสั่งไม่ระบุว่า ผู้ใดเป็นผู้ยิงนายฟาบิโอนั้น เพราะไม่มีพยานมองเห็นว่า ทหารคนใดเป็นผู้ลั่นกระสุน ถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่ามีทหารผู้ใดเป็นคนยิง ก็ย่อมระบุชัดในสำนวนได้ แต่ทุกครั้งในการสืบพยานไม่เคยปรากฏว่ามีพยานที่ระบุได้ กรณีจึงได้แต่สันนิษฐานว่ากระสุนถูกยิงมาจากทิศทางใดเท่านั้น
“หากศาลไม่ได้รับพยานหลักฐานตามที่กล่าวอ้างมาจริง อัยการผู้ร้องย่อมต้องมีการคัดค้าน และที่ต้องออกมาชี้แจง เพราะยังมีคดีที่ต้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีกหลายสำนวน ถ้าไม่ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อีกหน่อยจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ได้” นายอุดม กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ให้สัมภาษณ์กล่าวพาดพิงคำสั่งของศาลหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า คงไม่ทำขนาดนั้น เพราะอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจ และผู้สื่อข่าวตั้งคำถามล้วงลึกลงไปจนญาติผู้เสียหายที่ไม่เข้าใจกระบวนการรู้สึกว่าศาลไม่ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่ตามกฎหมายถ้าหากมีการกระทำละเมิดอำนาจศาลก็มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 500 บาท ที่ผ่านมาศาลพยายามหลีกเลี่ยงคดีละเมิดอำนาจศาลให้ได้มากที่สุด
ส่วนผู้นำคำสั่งของศาลไปวิพากษ์วิจารณ์หรือยุยงปลุกปั่นนั้น การพูดถึงคำพิพากษาหรือมีความเห็นในอีกแง่มุมย่อมกระทำได้เป็นไปในหลักวิชาการ แต่หากนำคำสั่งศาลไปต่อเติม ศาลก็จะพิจารณาดูในกรณีนี้อีกที ในครั้งนี้ศาลเพียงแต่ออกมาชี้แจง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน