ศาลพิพากษายกฟ้อง “2 นปช.” ข้อหาวางเพลิงเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ศาลชี้พยานหลักฐานอ่อน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ที่ห้องพิจารณา 405 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 วันนี้ (25 มี.ค.) เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาวางเพลิงเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คดีหมายเลขดำ ด. 2478/2553 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสายชล แพบัว อายุ 31 ปี ชาว จ.ชัยนาท การ์ด นปช. และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 29 ปี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โดยอัยการยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวก ร่วมกันชุมนุม และมั่วสุมกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ กทม. ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และได้เข้าไปในบริเวณอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใช้กำลังทำลายบานกระจก ผนังอาคารบานกระจกประตู อาคารเซ็นทาวเวอร์ อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จนแตกเสียหายเป็นการกีดขวางการจราจร ขัดขวางต่อการประกอบกิจการของห้าง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเสียหาย และเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเข้าไปภายในบริเวณอาคารเซ็นทาวเวอร์ และอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เป็นทรัพย์โรงเรือนที่เก็บสินค้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ลุกลามเผาอาคารเซ็นทาวเวอร์ และไฟไหม้เผาทรัพย์สินต่างๆ ของผู้เสียหาย ที่มี 270 ราย รวมค่าเสียหาย 8,890,578,649.61 บาท และเป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ หรือกิตติพงษ์ สมสุข ที่อยู่ภายในอาคารดังกล่าวถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่แขวงและเขตปทุมวัน กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 217, 218, 224 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 4, 5, 9, 11, 18 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 7 เม.ย. 2553 และประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 ชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
โจทก์นำสืบว่า ระหว่าง มี.ค.-พ.ค. 2553 กลุ่ม นปช.ได้จัดชุมนุมทางการเมืองที่แยกราชประสงค์เขตปทุมวัน กทม. ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปซื้อสินค้าและบริการภายในห้างสรรพสินค้าเซน และเซ็นทรัลเวิลด์ที่ได้ปิดบริการชั่วคราวแต่ยังจัดให้มีการรักษาความปลอดภัย 24 ชม.เพื่อดูแลความเรียบร้อยรวมทั้งป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยหลังจากที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้วได้มีกลุ่มคนร้ายใช้ไม้ และเหล็กทุบกระจกเข้าไปในห้างเซน และใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่บรรจุน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจุดไฟแล้วโยนเข้าไปในบริเวณชั้น 1 ของห้างซึ่งเป็นแผนกเครื่องสำอางน้ำหอม และเสื้อผ้าทำให้เพลิงไหม้อย่างรวดเร็ว ทำให้ รปภ.ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ เป็นเหตุให้นายกิติพงษ์ หรือกิตติพงษ์ สมสุข ถึงแก่ความตาย ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์พบว่าสำลักควัน และขาดอากาศหายใจ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มี รปภ.ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ และถ่ายภาพจำเลยที่ 1 ขณะถือถังดับเพลิงสีเขียวของห้างไว้ได้ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 19 พ.ค. เบิกความ เห็นจำเลยกับกลุ่มคนร้าย 5-6 คน ใช้ไม้ทุบกระจกเข้ามาภายให้ห้างซึ่งตนเกิดความหวาดกลัวจึงได้หลบไปอยู่ชั้น 3 ระหว่างนั้นได้ถ่ายภาพจำเลยไว้ด้วย ขณะที่ พงส.ชนะสงคราม ได้ขอหมายศาลจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่สนามหลวงหลังเกิดเหตุ ซึ่งได้พูดคุยกับจับเลยที่ 1 แล้วไม่ได้ขัดขืนการจับกุม และยอมให้การแต่โดยดีว่าเป็นคนเดียวกันกับบุคคลตามหมายจับของศาล ขณะที่ พงส.สน.ปทุมวัน เบิกความว่า หลัง ตร.สน.ชนะสงคราม ส่งตัวจำเลยมาให้ ซึ่งในพยานซึ่งเป็น รปภ.ชี้ตัวได้ถูกต้องถึง 2 ครั้ง ในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ไม่ใช่ผู้กระทำผิด ส่วน พงส.ดีเอสไอ เบิกความ หลังจากที่ได้รับคดีนี้มาเป็นคดีพิเศษ จำเลยที่ 1 ได้ให้การใหม่ว่า ขณะเกิดเหตุขายซีดีอยู่ที่ห้างอิมพีเรียลเวิร์ล อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ เขียนได้เฉพาะชื่อตนเอง
ศาลเห็นว่าแม้โจทก์มีพยานเป็น รปภ.ซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพของจำเลยที่ 1 ได้ในที่เกิดเหตุ แต่ก็อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 30 เมตร และเห็นเพียงว่าจำเลยที่ 1 ถือถังดับเพลิง ซึ่งไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะใช้ในการวางเพลิง แม้จะอนุมานไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จะเข้าไปช่วยดับเพลิงหรือไม่ ประกอบกับพยานโจทก์ปากนี้ก็ไม่สามารถตอบคำถามทนายจำเลยได้ว่าเห็นจำเลยที่ 1 เป็นผู้วางเพลิงหรือไม่ นอกจากนี้ โจทก์ยังไม่มีพยานปากอื่นที่จะมาเบิกความชี้ชัดถึงพฤติการณ์จำเลยที่ 1 ในการวางเพลิง หรือสนับสนุนการวางเพลิงแต่อย่างใด นอกจากภาพถ่ายเพียงใบเดียวที่แสดงให้เห็นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่มีใครเห็นว่าจำเลยที่ 1 จะทำอย่างไรต่อไป พยานโจทก์จึงยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมทำผิดในคดีนี้หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีพนักงานห้างเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุเห็นคนร้ายประมาณ 40-50 คน มีชาย 4-5 คน เดินนำหน้าใช้หนังสติ๊กยิงใส่เป็นระยะพนักงานจึงหลบหาที่กำบัง และเห็นชายชุดดำลายพรางสวมหมวกปีก ใช้ระเบิดโยนใส่มีคนเจ็บ 9 คน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายภายในห้างได้จำนวน 9 คน มีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย จึงพาไปคุมตัวที่ลานจอดรถ อย่างไรก็ตาม คำเบิกความของพยานโจทก์กลุ่มนี้ที่สามารถจดจำรูปพรรณสัณฐานจำเลยที่ 2 ได้ตรงกันหมด ยกเว้นเพียงสีเสื้อที่ไม่ตรงกับภาพที่ปรากฏ ทั้งที่ระหว่างพยานต้องคอยหลบลูกหินที่กลุ่มคนร้ายยิงเข้าใส่ อีกทั้งพยานอยู่ห่างไปกว่า 30 เมตรนั้นน่าสงสัยว่าจะสามารถจำคนร้ายได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังไม่นำเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมจำเลยที่ 2 มาเบิกความถึงการจับกุมจับจำเลยว่าจับกุมได้ที่ชั้นไหน มีวัสดุ หรืออุปกรณ์ หรือมีร่องรอยหลักฐานตามตัวในการวางเพลิงหรือไม่อย่างไร พยานโจทก์ที่นำสืบมานั้นยังมีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะกระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ โรงเรือนที่เก็บสินค้า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะให้การปฏิเสธในภายหลังว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่จากคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุม ซึ่งให้การไม่นานหลังเกิดเหตุ ว่าเข้าไปในห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุเนื่องจากได้รับคำสั่งจากหัวหน้าการ์ด นปช.ให้เข้าไประงับเหตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามชุมนุม ประกอบกับพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงเชื่อว่าคำให้การไม่ใช่การให้ร้ายจำเลยเพื่อให้รับโทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ในภายหลังจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 1 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกเป็นเวลา 9 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เนื่องจากพนักงานอัยการได้เคยยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในอีกคดีหนึ่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาแเล้วเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 ซึ่งพฤติการณ์ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุคดีนั้นเกี่ยวพันกับคดีนี้ ถือเป็นความผิดกรรมเดียว จึงไม่สามารถนำคดีมาฟ้องให้ศาลลงโทษได้อีก พิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วได้อธิบายให้จำเลยฟังว่า จำเลยถูกคุมขังมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลลงโทษจำคุกแล้ว และศาลไม่ได้มีคำสั่งขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ จึงจะออกหมายปล่อยจำเลยจากเรือนจำภายในวันนี้ ขณะที่ศาลชี้แจงด้วยคดีนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุด โดยอัยการโจทก์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้
ภายหลัง นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ที่มาร่วมฟังคำพิพากษา กล่าวว่า เมื่อศาลยกฟ้องคดีนี้แล้วว่า จำเลยไม่ผิดที่ถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเผาเมืองแล้ว ที่ผ่านมาที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยนำรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไปโฆษณาโจมตีช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า กลุ่ม นปช. เผาบ้านเผาเมือง แล้วเมื่อ กกต. ต้องรับรองผลการเลือกตั้งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก้ต้องวินิจฉัยว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดหรือไม่
ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า เมื่อศาลยกฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วโดยที่ผ่านมา จำเลยถูกคุมขังในเรือนจำมานานเกินกว่าโทษที่ศาลให้จำคุก รัฐบาลก็ควรเร่งให้การเยียวยา ขณะที่ตนขอฝากไปยังพี่น้องว่า หากต่อไปนี้ได้ยินหรือได้ฟังกลุ่มประชาธิปัตย์กล่าววหาว่าเราเผาบ้านเผาเมืองอีก ทั้งที่ศาลยกฟ้องแล้ว ขอให้ไปแจ้งความดำเนินคดีเลย