xs
xsm
sm
md
lg

ตร.กำชับดูแลเทศกาลลอยกระทง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
โฆษกตำรวจเผย 8 มาตรการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลวันลอยกระทง

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วันที่ 27 พ.ย. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลวันลอยกระทงว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ได้มอบนโยบายให้ตำรวจทั่วประเทศดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกำลังตำรวจเตรียมพร้อมตามจุดท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศ รวมทั้งท่าเรือต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว รวมถึงควบคุมไม่ให้มีการเล่นดอกไม้ไฟและประทัดในลักษณะที่เกิดอันตราย ป้องปรามไม่ให้ผู้ดื่มสุราไม่ให้ขับรถ หรือก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมถึงสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดอาชญากรรมทางเพศ

ทั้งนี้ ในวันที่ 28 พ.ย. เวลา 13.00 น.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานปล่อยแถวตำรวจเพื่อระดมป้องกันอาชญากรรมและอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ที่บริเวณหอนาฬิกา เอเชียทีก เดอะริเวอร์ฟรอนท์ ถ.เจริญกรุง ขณะที่ในเวลา 14.30 น. พล.ต.อ.วุฒิจะเดินทางไปยังท่าเรือเอเชียทีก เพื่อปล่อยแถวเรือตรวจการณ์ป้องกันเหตุอาชญากรรม พร้อมลงเรือตรวจสอบความปลอดภัยท่าเรือสะพานพระราม 8

“มาตรการต่างๆ ที่ตำรวจดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้ท่องเที่ยวด้วยความสนุกสนาน ปลอดภัย ห่างไกลประทัด อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมทางเพศ และเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยว เติมรอยยิ้ม สร้างเสียงหัวเราะ มอบเป็นของขวัญให้แก่พี่น้องประชาชนก่อนส่งท้ายปี 2555 โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน” โฆษก ตร.กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อแนะนำเพื่อให้เทศกาลลอยกระทงมีสนุกสนานและความปลอดภัยอย่างแท้จริง ดังนี้ 1. ไม่ควรให้เด็กเล็กไปลอยกระทงเพียงลำพัง ควรมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ 2. ควรเขียนชื่อที่อยู่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ ติดใส่เสื้อ กระเป๋าเสื้อ หรือกางเกงของเด็ก เพื่อป้องกันเด็กพลัดหลง 3. ควรลอยกระทงในบริเวณที่จัดเตรียมไว้อย่างปลอดภัย ไม่เบียดไม่แซง หรือหยอกล้อเล่นบริเวณท่าเรือ เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ 4. ห้ามคนจุดประทัด หรือดอกไม้ไฟ ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

5. หากพบเห็นร้านค้าขายประทัดในแหล่งชุมชน ขอให้แจ้งตำรวจดำเนินการจับกุมได้ทันที 6.สำหรับหญิงสาวที่ออกมาเที่ยวในเทศกาลลอยกระทง ควรแต่งตัวให้มิดชิด และควรมีเพื่อนมาด้วย เพื่อป้องกันการถูกลวนลามหรือคุกคามทางเพศ และสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันทีหากรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่สามารถกลับบ้านได้ 7. ขอความร่วมมือจุดโคมลอยในแหล่งชุมชน เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ 8. การยิงปืนขึ้นฟ้าอาจมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากวิถีกระสุนดังกล่าวได้ และผู้ที่ยิงจะได้รับโทษหนักตามกฎหมาย
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. ดูแลงานด้านจราจร ได้มีบันทึกสั่งการงานจราจร บก.1-9 และ บก.จร. จัดกำลังพลจราจรและชุดปฏิบัติการทุก สน. รองรับประชาชนเดินทางเข้าร่วมงานลอยกระทงตามท่านำและสถานที่จัดงานต่างๆทั่วกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ โดยให้อำนวยความสะดวกด้านการจราจรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้ 1.จัดตั้งกองรักษาการณ์ พื้นที่การจัดงานตามความเหมาะสม เพื่อประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย และการจราจร ร่วมถึงสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กพลัดหลง 2.จัดกำลังประจำสะพานข้ามแม่น้ำทุกแห่ง ป้องกันไม่ให้มีจอดรถบนสะพาน หรือการเล่นดอกไม้ไฟบนสะพาน หรือโยนลงไปในเรือที่สัญจรไปมา

"3.จัดเตรียมรถขยายเสียง ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในการ ขับรถ จอดรถ ไม่ให้กีดขวางการจราจร และตักเตือน การเล่นดอกไม้ไฟ 4.จัดกำลังตรวจสอบ และเฝ้าระวังในพื้นที่ กรณีมีปัญหาการจราจรกระทบต่อเนื่องจากงานลอยกระทง โดยให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรจนกว่าจะหมดปัญหาการจราจร 5.บก.จร. จัดกำลังเสริมการปฏิบัติแก่ สน.ท้องที่ เมื่อได้รับการประสานร้องขอ โดยให้จัดนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมการปฏิบัติ"พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าว

พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวอีกว่า 6.บก.จร. จัด ชุดเหยี่ยวถนน บก.น. 1-9 จัด ชุดเคลื่อนที่เร็ว ดำเนินการตั้งจุดตรวจเคลื่อนที่ ป้องกัน ปราบปรามการแข่งรถในทางสาธารณะ และการขับขี่รถในลักษณะก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรการจับก่อนแข่ง เพื่อไม่ให้มีการแข่งรถในพื้นที่โดยเด็ดขาด และ 7.ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) เป็นศูนย์ประสานงานในการแก้ไขปัญหาการจราจร และประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงให้กับประชาชนทราบผ่านสื่อมวลชน โดยให้ผู้บังคับบัญชาระดับ รอง ผบก. , รอง ผกก.(จร.) และ สว.จร. ควบคุมการปฏิบัติโดยใกล้ชิด เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าร่วมงานลอยกระทงในสถานที่ต่างๆ หรือสอบถามเส้นทางเลี่ยง ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางจราจร ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 1197

“จากการสำรวจเบื้องต้น คาดว่าสถานที่สำคัญที่จะมีประชาชนไปร่วมงานลอยกระทงก็จะมีหลายแห่ง อาทิ เชิงสะพานพระราม 8 เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า หรือบริเวณสวนสันติไชยปราการ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อกำหนดจุดวางกำลังตำรวจจราจรในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาลอยกระทง ทั้งนี้ กำลังตำรวจจราจรจะใช้ของท้องที่เป็นหลัก แต่ยังมีกำลังเสริมจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เข้าไปช่วยในบางพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด และยังมีชุดเคลื่อนที่เร็วประจำการไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อคอยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์อื่นๆ ส่วนในวันลอยกระทงที่อาจจะมีกลุ่มวัยรุ่นหรือกุล่มเด็กแว๊นออกมาแข่งรถบนท้องถนนกันนั้น จะมีตำรวจชุดกวดขันออกมาตรวจตราและควบคุมโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ตำรวจจราจรจะไม่ปิดถนนบริเวณที่งานลอยกระทงเด็ดขาด เพียงแต่จะอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้” รองผบช.น. กล่าว

ต่อมาเวลา 14.30 น.พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ในฐานะโฆษกบช.น. แถลงข่าวมาตรการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ว่า เนื่องในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2555 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ประชุมร่วมกับบช.น. พร้อมกำชับให้ตรวจตราไม่ให้กลุ่มวัยรุ่นมั่วสุมก่อเหตุ และจัดชุดสืบสวนออกตรวจตราสถานที่สุ่มเสี่ยง เช่น โรงแรมม่านรูดต่างๆ รวมทั้ง กำชับการเล่นดอกไม้ไฟ พลุ และประทัดยักษ์ โดยพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้สั่งการให้ทุกบก. ระดมกวาดล้างอาชญากรรมต่างๆก่อนเทศกาลลอยกระทง และกวาดล้างจับกุมการจำหน่ายดอกไม้ไฟต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25-29 พ.ย. 2555

พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ทาง บช.น.ยังได้จัดทีมประชาสัมพันธ์ของบช.น.และบก.น.1-9 ให้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสืบสานประเพณีลอยกระทง และการเล่นดอกไม้ไฟ ไม่ให้เล่นด้วยความคึกคะนอง ไม่ให้เกิดอุบัติภัยจนอาจเกิดเพลิงไหม้ได้ โดยจัดรถออกประชาสัมพันธ์ทุกพื้นที่พร้อมทั้งแจกแผ่นพับใบปลิว ให้ประชาชนระวังภัยอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ อีกทั้ง การเดินทางออกไปร่วมเทศกาลลอยกระทงก็ให้ระมัดระวังภัยจากการถูกโจรกรรมทรัพย์สินภายในบ้านเรือน ควรจะมีคนอยู่เฝ้าบ้านตลอดเวลา เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ

“สำหรับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้เล่นดอกไม้ไฟประทัดยักษ์ ถือว่ามีความผิด โดยผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ปีพ.ศ.2490 มาตรา 47 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ มีโทษตามมาตรา 77 จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้เล่นจะมีความผิดฐานทำให้เกิดเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร โทษปรับไม่เกิน 100 บาท แต่หากเล่นจนทำให้เกิดเพลิงไหม้จนเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้จำหน่ายมีการขออนุญาตจากนายทะเบียนก็สามารถวางจำหน่ายได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางบช.น.ได้มีการจับกุมผู้จำหน่ายที่ไม่มีใบอนุญาตมาแล้วหลายราย โดยเฉพาะย่านภูเขาทองที่มีการจำหน่ายกันจำนวนมาก แต่บางร้านก็มีใบอนุญาตถูกต้อง” โฆษกบช.น. กล่าว

ขณะเดียวกันขอฝากความร่วมมือไปยังผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานไม่ควรให้เล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟเป็นอันขาด เพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต หรือพิการได้ ห้ามเด็กเล่นประทัดดัดแปลงผาดโผนเพื่อความสนุก และไม่ปล่อยให้อยู่ใกล้บริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟหรือพลุ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดการใช้กฎหมาย คือ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดให้พลุ ดอกไม้ไฟ จัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง นายทะเบียนท้องที่ควรให้ความสำคัญในการควบคุมการจำหน่ายในช่วงเทศกาลและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้า ผู้ผลิตพลุ ดอกไม้ไฟ รวมถึงประชาชนทราบว่าจะต้องมีการขออนุญาตค้าและผลิตให้ถูกต้อง และในกรณีเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ แล้วสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นด้วย จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในกลุ่มผู้ค้า ไม่ควรขายประทัด พลุหรือดอกไม้ไฟ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น