xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม” เล็งฟ้อง UN เหตุพม่ายื้อแก้ปัญหายาเสพติด 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ แถลงผลปราบยาเสพติดในพื้นที่นครบาลรายใหญ่ กว่า 4,000 คดี กระจายอยู่ในพื้นที่ 9 เขต เสนอกระทรวงยุติธรรมคำนึงปัญหายาเสพติดมากกว่าสิทธิมนุษยชน เล็งร้ององค์การสหประชาชาติ (UN) กรณีพม่าขอขยายเวลาการแก้ปัญหายาเสพติดเป็น 5 ปี

วันนี้ (8 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อบูรณาการงานความมั่นคงและการป้องกันปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดภาคกลาง

จากสถิติผลการจับกุมคดียาเสพติดในข้อหาสำคัญในพื้นที่นครบาล จำนวนกว่า 4,100 คดี มีผลการจับคดีสำคัญซึ่งมีปริมาณยาเสพติดจำนวนมากในพื้นที่อย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 16 คดี ผู้ต้องหา 26 คน ของกลางยาบ้าประมาณ 1.8 ล้านเม็ด, ไอซ์ 30 กิโลกรัม, เฮโรอีน 23 กิโลกรัม กระจายอยู่ในพื้นที่รวม 9 เขต ได้แก่ จตุจักร หลักสี่ บางกะปิ ทุ่งครุ บางนา บางบอน หนองจอก ห้วยขวาง และประเวศ ทั้งนี้จะได้มีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดใต้ หรือ ศอ.บต. ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากข้อมูลพบว่าขบวนการค้ายาเสพติดมีการลักลอบลำเลียงในพื้นที่ดังกล่าว

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลางยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ภาคกลางถือเป็นแหล่งพักยาเสพติดที่ลำเลียงจากทางภาคเหนือ ก่อนมีการกระจายยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว กลุ่มนักค้าที่มีบทบาทสำคัญยังเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น อาข่า มูเซอ ทำหน้าที่ลักลอบลำเลียงเข้าสู่พื้นที่แพร่ระบาดตอนใน ส่วนแหล่งพักเก็บที่สำคัญได้แก่ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสมุทราปราการ

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ยาเสพติดใน กทม.มีความรุนแรงทุกพื้นที่ โดยจะเห็นได้จากผลการจับกุมผู้ค้ารายย่อยที่มีถึงร้อยละ 60 จากทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตนเคยเสนอว่าควรให้ประหารชีวิตในคดียาเสพติดทันที เพราะที่ผ่านนักโทษในคดียาเสพติดเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็เข้าไปสร้างเครือข่ายในการค้ายาเสพติด จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรมคำนึงปัญหายาเสพติดมากกว่าสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ยังเห็นว่าผู้ว่าฯ กทม.ควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมากกว่านี้ เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเองเป็นรองนายกรัฐมนตรีมา 1 ปี 8 เดือน ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยมาร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดเลยสักครั้งเดียว ขณะเดียวจะเตรียมฟ้องร้ององค์การสหประชาชาติ (UN) จากกรณีที่ประเทศพม่าขอขยายเวลาการแก้ปัญหายาเสพติดเป็น 5 ปี จากเดิมที่อาเซียนกำหนดว่าก่อนที่จะเข้าสู่การประชุมเออีซี ในปี 2558 แต่ละประเทศต้องปลอดยาเสพติดให้ได้ โดยทางการพม่าอ้างว่ามียาเสพติดเป็นจำนวนมากซึ่งเห็นว่าประเทศพม่าควรจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและน่าจะรู้แหล่งผลิตเป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น