สน.พระอาทิตย์ / สามยอด
การหวนคืนสู่รั้ว “กรมปทุมวัน” รอบใหม่ ของ “จูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่ไปลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย หากดูภายนอกอาจจะดูสวยหรู สง่างาม สมใจ พล.ต.อ.พงศพัศ เพราะนอกจากเข้ามานั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ตำแหน่งเดิมก่อนลาออกไปเล่นการเมืองแล้ว ยังได้โบนัสควบเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด หรือเลขาฯ ป.ป.ส.ตามเดิมด้วย
หากแต่มองลึกๆ ภายใน การกลับคืนสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สวมเครื่องแบบสีกากีครั้งนี้ คงจะไม่เหมือนเดิมไม่เหมือนช่วงก่อนที่ พล.ต.อ.พงศพัศ จะตัดสินใจลาออกลงไปเล่นการเมือง เพราะจะมีความกดดัน ความท้าทาย ทั้งจากสังคมภายในและสังคมภายนอกที่ พล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องเผชิญ และก็ต้องยอมรับตลอดการรับราชการจนเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2559 หรือจนกว่าจะตัดสินใจหันหลังให้กรมปทุมวันอีกครั้ง
ความกดดันและความท้าทายภายในที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ต้องเผชิญ อาจจะไม่ได้มาในรูปแบบที่ให้เห็นกันซึ่งหน้าแต่น่าจะมาในรูปแบบคลื่นใต้น้ำ เพราะการกลับมาของพล.ต.อ.พงศพัศ จะทำให้การช่วงชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.ต่อจาก “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.คนปัจจุบันที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2557 ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มดีกรีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น
ต้องยอมรับว่า หาก พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่คืนสมัยมาสวมเครื่องแบบนั่งเก้าอี้รองผบ.ตร.อีกครั้ง คู่แคนดิเดตชิงตำแหน่งสูงสุดผู้นำองค์กรสีกากี จะมีเพียง “บิ๊กย้อย” พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.ซึ่งจะเกษียณราชการปี 2558”
“บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร.เกษียณราชการปี 2559 และ “บิ๊กเอก” พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.เกษียณราชการปี 2559 ทว่าเมื่อพล.ต.อ.พงศพัศ กลับคืนมาตัวเลือกสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร.ก็จะแข่งกันดุเดือด และถือเป็นคู่แข่งสำคัญที่น่ากลัวสำหรับ 3 แคนดิเดตที่มีอยู่ เพราะด้วยสายสัมพันธ์ทางใจเมื่อครั้งที่พล.ต.อ.พงศพัศ ยอมลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แข่งกับ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตามความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญาพี่ชาย “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเมื่อผิดหวังหลายคนก็เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงต้องตอบแทนการเสียสละครั้งนี้ ด้วยเก้าอี้
“ผบ.ตร.”!!!
เหมือนอย่างที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็หวังเช่นนั้น ตามถ้อยคำที่เคยได้ยินต่อการเสียสละครั้งนี้ก็เพื่อ “อยู่ในใจผู้ใหญ่”
แม้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องมาจากตำรวจยศ พล.ต.อ.ในราชการ ที่มาจากการเลือกของนายกรัฐมนตรี เสนอให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เห็นชอบแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ รอง ผบ.ตร.หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าคนใดมีสิทธิ์มากนัก ในเมื่อหาก “จูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ อยู่ในใจผู้ใหญ่ไปแล้ว ขึ้นอยู่ว่าผู้ใหญ่จะจริงใจแค่ไหน เพราะก็ต้องไม่ลืมอีกว่าผู้ใหญ่ที่ พล.ต.อ.พงศพัศ หมายถึงแม้จะเป็นคนที่จะตอบแทนคนที่ทำงานให้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกและผลประโยชน์ หากผู้ใหญ่เห็นว่าได้ตอบแทน พล.ต.อ.พงศพัศ ไปด้วยการให้โบนัสนั่งเก้าอี้เลขาฯ ป.ป.ส.ไปแล้วก็อาจไม่ให้เก้าอี้ “ผบ.ตร.” ก็เป็นไปได้
อีกมุมหนึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็หมายมั่นปั้นมืออยากจะให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ซึ่งมีความสนิทสนมกับตัวเองมากกว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ที่สายตรงดูไบ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก้าวเข้ามาเป็น ผบ.ตร.มากกว่า ก็เป็นอีกทางเลือกที่ต้องจับตาในอนาคต เพราะหาก ร.ต.อ.เฉลิม สามารถทำในสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการได้สำเร็จ การตอบแทนก็อาจจะไปออกที่ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ใช่ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็เป็นไปได้
นอกจากนี้ความกดดันและความท้าทายภายนอก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ต้องเผชิญจากสังคม คือการตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง ในการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ซึ่งเป็นต้นธารกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นช่วงการทำหน้าที่รองผบ.ตร.หรือเลขาฯ ป.ป.ส.หรือแม้แต่ช่วงการก้าวขึ้นเป็น ผบ.ตร.
เพราะแม้จะเป็นหน้าที่เก่าที่ พล.ต.อ.พงศพัศ เคยทำมาก่อน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พล.ต.อ.พงศพัศ ก้าวเหยียบการเมืองแบบเลือกข้างอย่างชัดเจน ไม่ต้องเดาหรือคาดการณ์เหมือนสมัยก่อน การทำงานทุกอย่างก้าวก็คงหนีไม่พ้นต้องถูกจับตา
โดยเฉพาะการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองฝ่ายไหน พรรคใดจะกระทำเข่าข่ายความผิดทางกฎหมาย หากพล.ต.อ.พงศพัศได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแล ก็จะต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
เหมือนอย่างที่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เคยออกมาเตือน พล.ต.อ.พงศพัศ ช่วงที่มีข่าวจะขอกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง หลังจากพลาดหวังเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.
“การที่ลาออกไปสังกัดพรรค ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงขึ้น พล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ต้องคิดให้ดี เพราะนั่นอาจจะเป็นผลเสียต่อองค์กรตำรวจได้”
ดังนั้นการเข้ามาสวมเครื่องแบบสีกากีอีกครั้ง ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย พล.ต.อ.พงศพัศ อย่างมาก เพราะการเข้ามาเป็นตำรวจรอบใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากคือการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สินติราษฎร์ได้อย่างสง่างาม สมกับที่เคยปฏิญาณตนไว้เมื่อครั้งรอดรั้วออกมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน หรือไม่
นั่นแหละคือสิ่งที่ยากกว่า!