ASTVผู้จัดการ - ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ ชี้คำอุทธรณ์ทักษิณฟ้องหมิ่นแกนนำพันธมิตรฯ กรณีแถลงการณ์ 2 ฉบับปี 51 ฟังไม่ขึ้น ไม่เป็นการหมิ่นประมาท แต่กลับคำพิพากษาชั้นต้นสั่งจำคุก “สนธิ” 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นแต่ให้รอลงอาญา กรณีหลังแถลงตอบคำถามว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ ทักษิณก็อาจจะเป็นประธานาธิบดีได้
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่ศาลจังหวัดปทุมธานี ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มอบอำนาจให้นายพิชา ป้อมค่าย เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 2 นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 3 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 4 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 5 นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 6 บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 7 และบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด จำเลยที่ 8 ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 8 ได้ร่วมกันโฆษณาด้วยเอกสารและคำแถลงเรื่องการคัดค้านและประณามการแก้ไข้รัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ตามแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 4/2551 และฉบับที่ 5/2551 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 และ 2 เมษายน 2551 ตามลำดับ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2555 ศาลชั้นต้น จังหวัดปทุมธานี ได้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวมาแล้ว โดยพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการติชมโดยสุจริต แต่โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายดำเนินการอุทธรณ์คดี ทั้งนี้ในการฟังคำพิพากษาวันนี้ ทั้งโจทก์และทนายโจทก์ต่างไม่ได้เดินทางมาคำพิพากษาที่ศาลแต่อย่างใด
ในกรณีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ ภาค 1 วินิจฉัยว่า ตามแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 4/2551 และฉบับที่ 5/2551 และจากคำให้การของโจทก์และจำเลย เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ถึง 6 แสดงออกถึงกิจกรรมทางการเมือง ด้วยการออกแถลงการณ์สองฉบับดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่รวมตัวกันเพื่อตรวจสอบรัฐบาลที่กระทำผิดกฎหมายและอื่นๆ และขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับดังกล่าวนั้น ทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กำลังตรวจสอบการกระทำของโจทก์กับพวกซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจำนวนหลายเรื่อง และบางคดีก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างเช่น คดีที่ดินถนนรัชดาภิเษก นอกจากนี้ยังมีกรณีซื้อเสียงของนายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน อันนำมาสู่การตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ขณะเดียวกัน การที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเคยให้กล่าวยอมรับว่าได้รับการขอร้องจากโจทก์ ทั้งยอมรับว่าเป็นนอมินีให้โจทก์ ทำให้เมื่อนายสมัครกล่าวว่าจะมีการรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ย่อมทำให้จำเลยทั้ง 6 เชื่อว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์แก่โจทก์และพรรคพลังประชาชน
ส่วนในแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2551 ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กล่าวถึงการที่รัฐบาลนายสมัครได้ดำเนินการโยกย้าย ตัดตอนข้าราชการที่มีส่วนสำคัญในในการดำเนินคดีแก่โจทก์ เช่น การที่กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งโยกย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น และข้อความในแถลงการณ์ฉบับที่ 5/2551 ที่กล่าวถึงการปฏิวัติรัฐประหารที่ไม่ได้มาจากกองทัพไทยนั้น เนื่องจากนายสมัครในขณะนั้นเคยให้สัมภาษณ์ว่ามีความพยายามทำรัฐประหารจากกลุ่มอำนาจที่ไม่ใช่กองทัพไทย โดยจำเลยเห็นว่าหากมีการทำรัฐประหารจริงคนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือโจทก์ เพราะคดีความก็จะถูกล้มล้างไปทั้งหมด โดยจากคำให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ถึง 6 เข้าใจได้ว่าการที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือการกระทำอื่นๆ ย่อมจะเป็นประโยชน์กับโจทก์กับพวกที่กำลังมีคดีความอยู่ การที่จำเลยที่ 1 ถึง 6 ออกแถลงการณ์คัดค้านเพื่อยับยั้งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จึงได้รับการยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3) ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมาชอบแล้ว
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 หลังการอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 5/2551 ที่กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นเงื่อนไขของการนำไปสู่ระบบประธานาธิบดี โดยระบุว่า “อีกหน่อยวันดีคืนดีใครก็ตาม เอาเงินมาซื้อเสียง เข้ามามีเสียงข้างมากในสภา อยากจะขอแก้รัฐธรรมนูญหมวดกษัตริย์บ้างล่ะ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ... อันที่ 2 วันดีคืนดี พอแก้รัฐธรรมนูญนี้เสร็จเรียบร้อย อาจจะแก้ต่อว่า จากนี้ไปให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบประธานาธิบดี ให้เลือกประธานาธิบดีคนเดียวพอ แล้วประธานาธิบดีเข้ามา เอาเสียงข้างมาก รากหญ้าที่ไหน ใครคุมอีสาน ใครคุมเหนือได้ ก็เอาอีสานเครือข่ายลงให้ อาจจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ ถ้าเกิดแกหลุดจากคดีเพราะว่า 309 ไม่มีแล้ว แกก็จะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย”
รวมถึงคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า หากรัฐบาลมุ่งแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องไม่สนใจความคิดเห็นของประชาชน ก็สามารถทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ เพราะคิดว่าตนสามารถใช้อำนาจได้ตามใจชอบ ทั้งระบุว่าการกระทำของโจทก์หลายครั้งเป็นการกระทำที่มิบังควรต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมกันนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ ซึ่งเคยได้ฟังคำเทศน์ของหลวงตามหาบัวเมื่อปี 2548 ว่า โจทก์มุ่งจะเป็นประธานาธิบดี นอกจากนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็กล่าวว่าโจทก์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดี และบุคคลต่างๆ ก็ชี้ว่าการกระทำของโจทก์หมิ่นสถาบัน ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เรื่องนี้จำเลยที่ 1 พูดข้อความดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 โดย ณ เวลาดังกล่าวโจทก์อาจจะเป็นดังที่จำเลยกล่าวหรือไม่ พบว่าขณะที่จำเลยที่ 1 พูดมีเพียงคำเทศน์ของหลวงตามหาบัวในปี 2548 เท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยพูดว่าโจทก์จะมาเป็นประธานาธิบดี
ส่วนการกระทำของโจทก์ที่ไม่บังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จำเลยที่ 1 นำสืบอันเป็นภาพจากหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2549 อันเป็นภาพที่ประชาชนมาต้อนรับโจทก์ที่เทศบาลเมืองปราจีนบุรี โดยประชาชนจำนวนมากถือธงชาติไทยขนาดเล็กที่ปรากฏข้อความว่าทรงพระเจริญ และข่าวจากหนังสือพิมพ์ รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆ ในปี 2552 ที่ปรากฏข้อความหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ได้นำคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และปรากฏข้อความจำนวนมากที่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวพาดพิงและล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง และเป็นหลักฐานยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวคำพูดที่ไม่เหมาะสมจริง ทั้งยังบ่งชี้ให้เห็นถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของ พ.ต.ท.ทักษิณในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
นอกจากนี้ยังมีข่าวจากเว็บไซต์คมชัดลึกในปี 2552 ซึ่งระบุว่า เหล่าทัพและองคมนตรี คือ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ต่างให้ความเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณจ้องล้มสถาบันฯ รวมถึงความเห็นของบุคคลต่างๆ ที่เห็นว่าโจทก์กระทำการไม่บังควรแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามเอกสารประกอบ แต่เรื่องต่างๆ ดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พูดข้อความที่เป็นปัญหาในคดีนี้ โดยที่ภาพและข้อความดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของโจทก์ถึงขนาดที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์จะมาเป็นประธานาธิบดี การแสดงความคิดเห็นของจำเลยที่ 1 จึงเป็นสิ่งที่เกินเลยไปจนทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ไม่เลื่อมใสต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามกฎหมายอาญามาตรา 328 โดยไม่มีเหตุยกเว้นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 8 คือ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ซึ่งถ่ายทอดสดการอ่านแถลงการณ์สองฉบับดังกล่าว เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าการเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวไม่เป็นความผิด ส่วนคำกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องนอกเหนือจากแถลงการณ์ทั้งสองฉบับ เพราะเป็นการตอบคำถามหลังจากการอ่านแถลงการณ์ ผู้ถ่ายทอดย่อมไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะพูดอะไรต่อหลังจากการอ่านแถลงการณ์ จึงถือไม่ได้ว่ามีเจตนาสนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1
ในส่วนความผิดของจำเลยที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาชั่วร้าย ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกเนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 แก้ไขปรับตัวอีกสักครั้งด้วยการรอการลงโทษจำคุก สำหรับคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 ลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 13 ฉบับในหน้า 1 เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน และในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ศาลเห็นว่ามากเกินไปเห็นสมควรกำหนดคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันในหน้าใดก็ได้เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 เพียงหนึ่งกระทง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี