ส.ส.ปชป.แห่เข้าให้ปากคำกรณีบริจาคเงินเข้าพรรค “วิรัตน์” จวก “เหลิม” บีบให้ ปชป.รับ พ.ร.บ.นิรโทษฯ
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ดีเอสไอ ส.ส.พรรคประชาธิปปัตย์ นำโดยนายกรณ์ จาติกวณิช นายกษิต ภิรมย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายวัชระ เพชรทอง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายอิสระ สมชัย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ประมาณ 30 คน ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สำนักอาญาคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 กรณีที่สมาชิกของพรรค ปชป.บริจาคเงินเข้าพรรคโดยหักเงินจากบัญชีธนาคาร เกิน 2 หมื่นบาท
โดย นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กล่าวก่อนที่จะนำนายกนก วงษ์ตระหง่าน เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของเงินบำรุงพรรค ไม่ใช่เงินบริจาคอย่างที่ถูกกล่าวหา ซึ่งตามขั้นตอนหัวหน้าพรรคเป็นผู้ทำหนังสือถึงรัฐสภาให้หักเงินเดือน ส.ส. ซึ่งทางรัฐสภาได้ดำเนินหักเงิน โดยการออกเช็ครวมเป็นยอดเดียว ทั้งนี้ทางพรรคเห็นว่าเงินดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้พรรคมีคุณภาพ โดยผู้ที่บริจาคนั้นไม่ถือเป็นอาชญากร และคดีนี้ไม่น่าจะเป็นอาชญากรรม อีกทั้งยังเห็นว่าผู้รับผิดชอบดูแลควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มากกว่าจะเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ โดยข้อสงสัยว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดจริง เหตุใด กกต.จึงไม่มาดำเนินคดี กับพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกันนี้นายวิรัตน์ เชื่อว่าการดำเนินคดีครั้งนี้เชื่อมโยงกับรัฐบาล ที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ารังเกรียจและน่าละอาย แต่ทาง ประชาธิปัตย์ก็พร้อมจะให้ความร่วมมือกับ ดีเอสไอ ในการพิมพ์ลายนิ้วมือ ลงในเอกสารตามกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่า ส.ส.ของพรรคปชป.จะไม่ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา รวมไปถึงไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพและอัดเสียงขณะให้การแต่อย่างใด
ต่อมา พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ1 ในฐานะหัวหน้าชุดสอบส่วนคดีดังกล่าว เผยว่า อัยการแจ้งว่าวันนี้สอบปากคำได้ที่ละ6คน เนื่องจากอัยการให้เหตุผลว่าไม่สะดวกที่จะอยู่สอบปากคำต่อได้ ดังนั้นตนจะสอบมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะระเบียบข้อกฎมายของดีเอสไอการสอบสวนต้องให้อัยการร่วมสอบสวนด้วย ส่วนที่เหลือต้องมาตามที่ดีเอสไอได้นัดหมายก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ยืนยันว่าดีเอสไอได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และไม่ได้กลั่นแกล้งแต่อย่างใด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าข่ายตามกฎหมาย และองค์ประกอบในการแจ้งข้อกล่าวหาได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ส.ส.พรรค ปชป.ทั้งหมดจะมีความผิดตามที่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
เมื่อถามว่าเรื่องนี้ทาง กกต.ไม่มีการยับยั้งและยังคงปล่อยให้ ส.ส.พรรค ปชป.สามารถสมารถบริจาคเงินให้กับพรรคได้ ดังนั้นหลังจากมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วดีเอสไอยังจะต้องมีการดำเนินคดีกับ ส.ส.ปชป.ต่อไปอีกหรือไม่ พ.ต.อ.นิรันดร์ กล่าวว่า ถ้าหากมีผู้กล่าวหาอีก ตนในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายก็จะต้องดำเนินการตามหน้าที่
เมื่อถามว่าทำไมดีเอสไอไม่ไปดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับ กกต.ซึ่งยังคงปล่อยให้ ส.ส.ของพรรค ปชป.บริจาคเงินเข้าพรรคเรื่อยมาเป็นระยะเวลา 5 ปี พ.ต.อ.นิรันดร์ กล่าวว่า ตนทำหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่กฎหมายอาญาสำหรับการกล่าวหาได้มีการตั้งข้อกล่าวหาการกระทำความผิดตั้งแต่ช่วงปี 2550-2555 ในข้อหาบริจาคเงินสดให้แก่พรรคการเมืองโดยที่ไม่ได้ซื้อแคชเชียร์เชค หรือไม่เขียนเชคสั่งจ่ายเงินที่เป็นจำนวน 2 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะกฎหมายกำหนดให้ทำสัญญาตั๋วใช้เงินหรือเชคขีดค่อมสั่งจ่ายพรรคปชป.
เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวสภาและเลขาสภาจะต้องร่วมมีความผิดด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.นิรันดร์ กล่าวว่า อดีตสมาชิกพรรค ปชป.เดิมก็ได้มีการปฏิบัติกันในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ ส.ส.ปชป.ปัจจุบันกลับปฏิบัติผิดปกติไปจากเดิม ดังนั้นจึงถือว่าเป็นความผิดเทคนิคทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวมีบทกำหนดลงโทษไม่ร้ายแรง แต่หากถามว่า ส.ส.ของพรรคละเมิดกฎหมายหรือไม่ก็ต้องตอบว่าใช่ เพราะเป็นการที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าต้องให้ปฏิบัติ
นายวิรัตน์ ทีมกฎหมายพรรค ปชป.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า ส.ส.ปชป.เดินทางมาที่ดีเอสไอในวันนี้ในฐานะผู้ต้องหา ที่โดนกล่าวหาว่าบริจาคเงินให้พรรคโดยไม่ออกเชค แต่ข้อเท็จจริงพรรค ปชป.เป็นพรรคของทุกคน ดังนั้นทุกคนจึงให้เงินบำรุงพรรค ซึ่งเงินบำรุงพรรคนั้นก็มาจากค่าตอบแทนที่สภาจ่ายให้ โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ ได้มีหนังสือไปถึงสภาผู้แทนราษฎรให้หักเงินเดือน ส.ส.เพื่อบำรุงพรรค ทั้งนี้แทนที่สภาจะออกเชคเงินสดให้เป็นรายคนแต่เพื่อความประหยัดค่าเอกสารและอากรแสตม์เชคของทางราชการ ทางสภาจึงได้มีการออกเชครวม ตและหลังจากนั้นจึงจะออกใบเสร็จเป็นรายบุคคลให้
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า ทางพรรคยืนยันว่าการกระทำของพรรคเป็นการกระทำเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตย จึงได้มีการจ่ายเงินตอบแทนซึ่งเป็นเงินบำรุงให้พรรค แทนที่จะได้รับคำชื่นชมจากรัฐบาลนี้ แต่รัฐบาลกลับยัดเยียดข้อหาว่าพวกเราเป็นอาชญากร และยืนยันว่าการบริจาคเงินบำรุงพรรคเป็นไปโดยถูกต้องซึ่งแตกต่างจากเงินที่มาจากบ่อน ยาเสพติด และทุจริตเงินจำนำข้าวซึ่งไม่สามารถดำเนินการให้เงินกับพรรคได้อย่างเปิดเผย ทั้งนี้เจตนาของกฎหมายก็เพื่อป้องกันไม่ให้เงินสีดำ หรือสีเทาหนุนพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวผู้ที่ดูแลเรื่องการบริจาคเงินคือ กกต.โดยเราได้แจ้งการจ่ายเงินบำรุงพรรคให้กับ กกต.ทราบมาเป็นเวลา5ปีแล้วและกกต.เองก็ไม่เคยทักท้วงหรือแจ้งให้พรรคปรับหรือแก้ไขเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้นข้อกล่าวจึงถือว่าอยู่นอกกรอบการทำหน้าที่ดีเอสไอ ทั้งนี้ตนขอกล่าวหา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ว่าเป็นคนสั่งการให้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษและบีบให้พวกตนยอมรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มอำนาจการตรวจสอบ จากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางรัฐบาลได้แอบสั่งการมาที่ดีเอสไอให้ดำเนินการเรื่องนี้ แต่แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องพวกเราก็มารับทราบข้อกล่าวหาและพร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอ ทั้งนี้พวกเราจะโต้แย้งเมื่อถึงเวลาหนึ่งแล้วจะใช้สิทธิทั้งทางแพ่งและอาญาตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ตนได้มีการประสานกับ พ.ต.อ.นิรันดร์ แล้วว่า ส.ส พรรคจะมาให้ปากคำทั้งหมด ซึ่ง พ.ต.อ.นิรันดร์ ก็บอกว่าไม่มีปัญหา และ ส.ส.พรรคจะให้การทั้งหมดแม้ว่าจะดึกก็ตาม แต่วันนี้พอพวกตนมาพร้อมกันทั้งหมดท่านก็บอกว่าจะสอบปากคำทีละ 6 คนเท่านั้น