โดยผู้กองตั้ง
ทุกข์ชาวบ้านคูคต จ.ปทุมธานี ย่านชุมชนหลังศูนย์การค้าเซียร์รังสิต นับจากสัปดาห์นี้คงต้องนอนผวากันไปอีกหลายคืน กับปรากฏการณ์อพาร์ตเมนต์ 7 ชั้น 2 อาคารเกิดการทรุดตัวอย่างกะทันหัน โดยอาคารที่กำลังก่อสร้างเอียงตัวไปแล้ว 20 องศา
ที่สำคัญคือ เป็นที่น่าวิตกว่าตัวอาคารอาจจะพังทลายลงมาเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะในละแวกโดยรอบของตัวอาคารมีสภาพเป็นชุมชนและหมู่บ้านจัดสรร และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ พบว่าฐานเสาเข็มไม่ได้มาตรฐาน โดยมีบริษัท ดอนเมืองแกรนด์พลาซ่า เป็นผู้ได้รับอนุญาตการก่อสร้างบนเนื้อที่ 10,000 ตร.ม.
เมื่อเวลา 22.00 น.วันที่ 31 มี.ค.ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้ยินเสียงเหล็กดีด และเศษผนังตัวคอนกรีตหลุดร่วงลงมา ส่วนตัวตึกทรุดตัวและค่อยๆ ลาดเอียง จึงรีบแจ้งร้อยเวรสอบสวน สภ.คูคต มาตรวจสอบ และพบว่าอาคารดังกล่าวสูง 7 ชั้น ก่อสร้างอยู่ด้านหลังศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต ม.2 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
ที่เกิดเหตุพบเป็นอาคารสูง 7 ชั้น 2 อาคาร อาคารหนึ่งอยู่ในสภาพเอียงประมาณ 20 องศา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชากรที่อยู่ละแวกใกล้เคียง โดยเจ้าหน้าที่ของเซียร์ รังสิต นำแผงกั้นมาติดตั้งไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้ตัวอาคารดังกล่าว แต่กลับไม่มีชื่อบริษัท หรือผู้รับเหมาการก่อสร้างติดประกาศไว้แต่อย่างใด โดยในเบื้องต้นจังหวัดปทุมธานีได้สั่งการให้ระงับการก่อสร้าง และให้ย้ายคนงานให้ไปอยู่ที่ปลอดภัยในทันที
นายอารัต เมืองจร วิศวกรโยธาชำนาญพิเศษ สำนักงานโยธาจังหวัดปทุมธานี พบว่าเป็นการทรุดตัวของฐานรากของอาคาร แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบภายในตัวอาคารได้ ทั้งนี้ได้ประสานเทศบาลเมืองคูคตให้ประกาศเป็นเขตอันตราย รวมทั้งให้ทำหนังสือระงับการก่อสร้างไว้ก่อน เพื่อเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด
นางสุภารม โลทะกะ นายกเทศมนตรีเมืองคูคต พร้อมคณะเข้าร่วมตรวจสอบ โดยนางสุภารม กล่าวว่า อาคารหลังดังกล่าวขออนุญาตก่อสร้างใบอนุญาตเลขที่ 116/2552 เพื่อเป็นอาคารที่พักอาศัยบนที่ดินของนายพงษ์ เหราบัตย์ โดยมีบริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นผู้เช่าช่วง โดยมีนายทองจันทร์ ตะวงษ์ อยู่บ้านเลขที่ 117 ม.8 ต.หนองแม็ก อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น เป็นผู้รับเหมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งก็ออกใบอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบของเทศบาล
ถัดมาอีก 1 วัน นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองคูคต เข้ามาตรวจสอบอาคารอีกครั้ง พร้อมให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นเป็นการทรุดตัวของฐานรากอาคาร สันนิษฐานว่าเสาเข็มไม่ได้มาตรฐาน
ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัย และประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เดินทางไปดูอาคารดังกล่าว โดยระบุว่าอาคารนี้มีขนาด 10,000 ตร.ม.ค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 100 ล้านบาท ประเมินเบื้องต้นน่าจะเสียหายประมาณ 70 ล้านบาท ซึ่งการแก้ไขต้องรื้อถอนทั้งอาคาร โดยค้ำอาคารด้านทิศเหนือไว้ แล้วค่อยๆ รื้อถอนทีละชั้น เพื่อความปลอดภัยของอาคารรอบข้าง
สำหรับสาเหตุของการทรุดตัวนี้ อาจมีตั้งแต่ปัญหาในขั้นตอนการออกแบบ หรือขั้นตอนการก่อสร้าง และการควบคุมก่อสร้างอาคาร ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ดินแปลงนี้จะก่อสร้างเป็นอพาร์ตเมนต์นั้น ที่ดินแปลงดังกล่าวมีสภาพเป็นหนองน้ำ และอยู่ในบริเวณที่ถูกน้ำท่วมขังในช่วงปี พ.ศ. 2554 อีกด้วย
ขณะที่นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยหลังจากตรวจสอบสภาพอาคารดังกล่าวว่า จากการใช้เครื่องตรวจสามมิติตรวจสอบโครงสร้างแล้วนั้น พบว่าตัวอาคารมีความลาดเอียงแล้ว 6 องศา ซึ่ง 6 องศานั้น ก็ทำให้ฐานรากนั้นหลุดออกแล้ว และจากการตรวจสอบในเบื้องต้นนั้นพบว่ามีหลุดแล้ว 3-4 ฐาน สาเหตุที่เกิดการเอียงตัวนั้นสาเหตุเบื้องต้นน่าจะเกิดจากเรื่องของกำลังรับน้ำหนักบรรทุกที่เกิดขึ้นจากการเยื้องตำแหน่งของเสาเข็ม ทำให้มีกำลังรับน้ำหนักไม่เพียงพอ
ส่วนแนวทางการแก้ไขนั้น ก็มีทั้งการยกอาคารขึ้น หรือทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ซึ่งการจะยกอาคารขึ้นมา จะต้องทำเสาเข็มเสริมขึ้นมาใหม่ เพื่อทำเป็นฐานรองรับเกือบทุกฐาน แล้วตัดเสาตอม่อ แล้วนำแม่แรงมาสอดเพื่อยกขึ้น ซึ่งต้องยกสูงขึ้นมาถึง 3 เมตร เนื่องจากมีการยุบตัวจากระดับเดิมลงไปประมาณ 3 เมตร ดังนั้นการจะยกกลับมาขึ้นมา 3 เมตรนั้นคงต้องใช้พลังเยอะ แต่หากใช้แนวทางทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่อาจจะได้ความเชื่อมั่นและความสบายใจ ซึ่งต้องอยู่ที่เจ้าของอาคารจะตัดสินใจ แต่ในความเห็นโดยส่วนตัวแล้วตนเองก็จะเสนอเจ้าของอาคารให้ทุบทิ้งแล้วก่อสร้างใหม่
นายธเนศ กล่าวต่อว่าจะปล่อยอาคารอยู่อย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาในเรื่องความปลอดภัยที่จะตามมา อีกทั้งยังมีหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้ๆ กับสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งก็ให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปว่าในขณะนี้เจ้าของบ้านที่อยู่ใกล้ๆ นั้น ไม่ควรอยู่ในบ้าน แม้ว่าตัวอาคารจะเอียงไปทางด้านทิศเหนือ และหมู่บ้านจะอยู่ทางด้านทิศใต้ แต่อาจจะมีผลกระทบได้
ประชากรหลังชุมชนเซียร์ รังสิต ฟังข้อมูลแล้ว ถือว่าเป็นความทุกข์อย่างแสนสาหัสกับการกระทำของกลุ่มนายทุนที่ขาดความรับผิดชอบต่อการก่อสร้างที่ไร้มาตรฐาน พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเร่งทุบทิ้งสถานเดียว อย่าไปยกตัวอาคารหรือดีดตัวอาคารขึ้นเพื่อให้รักษาสภาพตัวอาคารไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์อีก
เพราะชุมชนในย่านหลังห้างเซียร์รังสิต ต่างประกาศเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องรักษาชีวิตเป็นอันดับแรก ส่วนทรัพย์สินพร้อมจะทิ้งไปก่อนชั่วคราว แล้วค่อยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันในภายหลัง...
ขณะที่นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ยืนยันว่าบริษัท ดอนเมืองแกรนด์พลาซ่า จำกัด เป็นเจ้าของอาคาร ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารหลังดังกล่าว พร้อมยอมรับว่าขณะเข้าตรวจสอบนั้น มีเสียงเหล็กดีดตัวและปูนแตกร้าวเป็นบางครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกองช่างของเทศบาลเมืองคูคต มาใช้กล้องวัดระดับองศา เพื่อหาความเอียงของตึก ตลอด 24 ชม.ส่วนสาเหตุพบว่าการออกแบบฐานรากไม่สามารถรับน้ำหนักได้ และจะมีผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งเจ้าของอาคารดูแลอีกครั้งหนึ่ง ในขณะนี้ตึกยังไม่ทรุดเพียงแต่เอียงเฉยๆ ซึ่งต้องเป็นหน้าที่และภารกิจของบริษัท และทีมวิศวกรที่จะเข้ามาดูแล และแนะนำว่าจะแก้ไขอย่างไร
ทั้งนี้ ดูภาพรวมแล้วมีวิธีการแก้ไข คือดีดอาคารขึ้นเพื่อให้ใช้งานได้ แต่ต้องสำรวจความปลอดภัยอย่างละเอียดก่อน ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็จะต้องรื้อทิ้ง โดยการรื้อต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับบ้านเรือนใกล้เคียง และในการออกแบบก็มีวิศวกรคำนวณ เมื่อออกแบบถูกต้องแล้วต้องมาดูขั้นตอนของการก่อสร้าง บางครั้งออกแบบถูกต้องแล้ว แต่ก่อสร้างไม่ถูกต้องเช่นวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญทำให้อาคารทรุดและเอียงตัวแบบที่เห็น
ด้าน พ.ต.อ.นราเดช ทิพย์รักษ์ ผกก.สภ.คูคต จ.ปทุมธานี ระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าทุกข์ที่แจ้งความเอาผิดเจ้าของโครงการแต่อย่างใด ซึ่งทางตำรวจจะดูแลในเรื่องคดีความอย่างดี หากมีคนมาแจ้งความ ส่วนเรื่องว่าจะรื้อถอน หรือทำอะไรต่อไปกับอาคารดังกล่าว ก็เป็นเรื่องของทางเทศบาลคูคต ดูแลไป ส่วนผู้มีสิทธิ์มาแจ้งความกับตำรวจได้ คือ ผู้เช่า หรือผู้ที่ซื้อห้องเช่าดังกล่าวกับทางเทศบาล ต.คูคต ซึ่งอาจเข้าข่ายฉ้อโกงได้ เนื่องจากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ เพราะมีการโกงกันในเรื่องวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ตำรวจรอผู้เสียหายมาแจ้งความต่อไป
….นี่แหละเมืองไทย ถึงติดอันดับต้นๆ ของโลก ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในแวดวงการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุนธุรกิจ ไม่วายแม้แต่โครงการก่อสร้างที่พักอยู่อาศัย ชาวบ้านจึงต้องดิ้นรนต่อสู้ในเรื่องสวัสดิการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกันต่อไป