xs
xsm
sm
md
lg

“ดาบอาญาสิทธิ์-ดีเอสไอ” ขึ้นอยู่ว่าใคร? เป็นคนถือ...

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ บรรยายในการอบรมให้ความรู้สื่อมวลชน เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2556
สน.พระอาทิตย์ / สามยอด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จัดงานบรรยายอบรมความรู้เกี่ยวกับการสืบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ให้กับสื่อมวลชนที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ร้อยกว่าชีวิตด้วยกัน

บรรยากาศภายในงานเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าไปจนถึงช่วงเย็น แล้วหลังจากนั้นก็เป็นงานเลี้ยงสังสรรค์กระชับมิตรระหว่างสื่อมวลชนและกรมสอบสวนคดีพิเศษ

“ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ่องานใหญ่เจ้าบ้าน “ดีเอสไอ”ออกโรงเป็นวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับการสืบสวนคดีพิเศษ จากเอกสารประกอบการบรรยายที่เขียนด้วยตนเองถ่ายทอดให้ความรู้มสื่อมวลชนเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง

เริ่มต้นจากภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่รับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ, ป้องกัน ปราบปราม สืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ, ศึกษา รวบรวม จัดระบบและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ, จัดอบรมและศึกษาเกี่ยวกับงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และการดำเนินงานตามกฎหมายและอำนาจที่อยู่ในหน้าที่

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ บรรยายว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษดูแลคดีอาชญากรรมพิเศษ ซึ่งเป็นคดีที่มีความละเอียดและสลับซับซ้อนยากแก่การควบคุม เช่น อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ, องค์กรอาชญากรรม และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งการจะควบคุมอาชญากรรมพิเศษเหล่านี้ได้นั้นจะต้องใช้กฎหมายพิเศษมารองรับ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมา ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า กฎหมาย ป.วิอาญา ธรรมดาและกระบวนการยุติธรรมปกติอาจมีข้อจำกัดในทการดำเนินคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยกลไกและมาตรการทางกฎหมายเป็นพิเศษ

โดยโครงสร้างของกรมสอบสวนคดีพิเศษในปี 2545 มี 10 สำนัก ประกอบไปด้วย สำนักคดีภาษีอากร, สำนักคดีการเงินการธนาคาร, สำนักคดีทางทรัพย์สินทางปัญญา, สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม, สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศและสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ

ต่อมาปี 2554 ได้มีการปรับโครงสร้างของดีเอสไอใหม่เป็น 16 สำนักงาน 1 งาน 2 กลุ่มงาน ประกอบไปด้วย 1.สำนักบริหารกลาง 2.กองกฎหมาย 3.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ 4.สำนักคดีการเงินการธนาคาร 5.สำนักคดีความมั่นคง 6.สำนักคดีนคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม 7.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา 8.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ 9.สำนักคดีภาษีอากร 10.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 11.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 12.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 13.สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ 14.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ 15.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 16.สำนักปฏิบัติการพิเศษ 17.สำนักพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ 18.กลุ่มตรวจสอบภายใน และ 19.กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ได้กำหนดให้คดีพิเศษหมายความว่า “คดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 ซึ่งจำแนกลักษณะของความผิดได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1.คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2537 และที่กำหนดโดยกฏกระทรวงโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งจะต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ 1.เป็นคดีความผิดอาญาที่มีความสลับซับซ้อน จำเป็นต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษเข้ามาสืบสวนสอบสวน 2.เป็นคดีอาญาที่มีผลกระทบรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ 3.คดีอาญาที่มีลักษณะเป็นคดีข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำความผิดขององค์กรอาชญากรรม 4.คดีอาชญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการใหญ่ในการใช้หรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิด
ข้อนี้นี่แหละสำคัญ เพราะ “ธาริต” บอกว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเพราะชื่อก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นคดีพิเศษที่ตำรวจ หรือกฎหมายธรรมดาไม่สามารถเอาผิดคนกระทำความผิดได้ เนื่องจากคนที่มาเกี่ยวข้องกับคดีพิเศษ ก็ต้องเป็นบุคคลพิเศษ นั่นก็คือ “นักการเมือง” ที่ถือเป็นตัวการสำคัญ
5.คดีอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หรือนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญา หรือเป็นผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา

บัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ประกอบด้วย

1.คดีความผิดว่าด้วยการยืมเงินและฉ้อโกงประชาชน 2.คดี่เกี่ยวกับเอกสารแข่งขันทางการค้า 3.คดีความผิดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ 4.คดีความผิดว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 5.คดีเกี่ยวกับการเล่นแชร์ 6.คดีการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน 7.คดีว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) 8.คดีว่าด้วยการคุ้มครองแบบผังภูมิวงจรรวม 9.คดีเกี่ยวกับการรคุ้มครองผู้บริโภค 10.คดีเครื่องหมายทางการค้า (ละเมิดลิขสิทธิ์) 11.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา 12.คดีค่าชดเชยภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร 13.คดีความผิดว่าด้วยกฎหมายเงินกู้ของสถาบันการเงิน 14.คดีความเกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย 15.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด 16.คดีป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 17.คดีความผิดว่ามด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 18.คดีลิขสิทธิ์ 19.คดีความผิดว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน 20.คดีความผิดเกี่ยวกับคุณภาพสิ่งแวดล้อม 21.คดีความผิดเกี่ยวกับสิทธิบัตร และ 22.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ขบวนการปั่นหุ้น)

ส่วนประเภทที่ 2.นั้นจะเป็นคดีความผิดที่อยู่นอกเหนือบัญชีที่ 1 ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษมีสิทธิ์เสนอคดีที่เห็นว่าน่าจะมีการสืบสวนเป็นคดีพิเศษผ่านทางคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ (กคพ.) ได้โดยต้องผ่านการเห็นชอบและมีการลงมติจาก กคพ.มีคะเเนนไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน (ต้องมีด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมาย) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 วาระ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นกรรมการและเลขานุการ

นอกจากนี้ความรู้ที่ได้ในวันนั้นยังได้รับรู้ถึงกระบวนการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอย่างน่าทึ่งและน่ากลัว!!!

อย่างเช่น การดักฟังโทรศัพท์, การสะกดรอยติดตามบุคคล, การแอบถ่าย, การอำพราง!!!

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้เป็นอำนาจหน้าที่เพียงส่วนหนึ่งที่ขอหยิกยกขึ้นมาให้ฟังประดับความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กันเพียงเล็กน้อย

ถือเป็น “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่มีฤทธิ์เดชในการปราบอธรรมให้มลายสูญไปจากสังคมไทยได้ไม่น้อยทีเดียว!!!

จึงมีคำถามแสลงใจ “ธาริต” ขึ้นในที่ประชุมสัมมนาอบรมฯครั้งนี้ ขณะที่พ่องานใหญ่เปิดโอกาสให้สื่อซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของดีเอสไอว่า...

“ดูเหมือนอำนาจหน้าที่ในการทำงานของดีเอสไอจะมากมายในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดท่านมีความคิดเห็น หรือจุดยืนอย่างไรในการทำงานขณะที่สังคมมองว่าดีเอสไอเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง”

งานนี้ “ธาริต”ถึงกับสะอึก! ในคำถามที่ถามโพลงขึ้นมากลางเวทีพร้อมกับตอบออกมาบางช่วงบางตอนว่า “ความจริงผมไม่คิดว่าวันนี้จะมาตอบคำถามนี้แต่ก็ดีเมื่อเพื่อนสื่อมวลชนมีความเป็นกังวล และสังคมสงสัยในบทบาทหน้าที่การทำงานของเรา ผมขอเรียนให้พี่น้องสื่อมวลชนและสังคมทราบดังนี้ ก่อนอื่นเลยก็ตามที่ผมได้บรรยายไปแล้วข้างต้นว่าคดีพิเศษนั้นบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ย่อมเป็นบุคคลพิเศษด้วย ซึ่งปฎิเสธไม่ได้เลยว่าบุคคลพิเศษเหล่านี้คือใคร นั่นก็คือ “นักการเมือง” ไม่ใช่ว่าผมและดีเอสไอจะอยากเข้าไปเกี่ยวข้องหรือสืบสวนพวกนี้ ไม่ใช่ว่าเราอยากจะไปจ้องจับนักการเมือง แต่นักการเมืองเป็นฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีใหญ่ๆ หลายคดี

แล้วจะให้ทำอย่างไรในเมื่อบทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหน้าที่จัดการคดีพิเศษเหล่านี้ เราจึงไม่มีทางเลยที่จะปฏิเสธการทำหน้าที่ของเราด้วยความชอบธรรมทางกฎหมายที่รองรับ ผมต้องขอเปิดใจกับพี่น้องสื่อมวลชนตรงนี้เลยว่าอย่างคดีที่ดีเอสไอต้องดำเนินคดีกับท่านอภิสิทธิ์ และท่านสุเทพ ซึ่งทั้งสองท่านนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บังคับบัญชาผมมาก่อน แต่ด้วยหน้าที่ผมก็จำเป็นต้องดำเนินคดีหากพบมีพยานหลักฐานที่เพียงพอ ผมยอมรับว่าหนักใจครับ คืนก่อนที่ผมจะตัดสินใจดำเนินคดีทั้งสองท่านผมนอนไม่หลับเลยครับ

แต่ด้วยหน้าที่ที่ผมรับผิดชอบอยู่ ผมต้องทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด มิเช่นนั้นจะตั้งดีเอสไอขึ้นมาทำไมครับ ยอมรับว่าการทำงานของเรามีการกระทบกระทั่งกับฝ่ายการเมือง แต่ผมยืนยันด้วยความจริงว่าผมทำหน้าที่บนหลักพื้นฐานของข้อเท็จจริง ดีเอสไอไม่ได้ทำงานให้กับใคร ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีการดำเนินคดีทั้งสองฝ่ายอย่างคดีล้มเจ้า คดีก่อการร้าย คดีที่เกี่ยวข้อง นปช.ผมก็ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมาทั้งสองฝ่าย”

“อย่าลืมนะครับอำนาจฝ่ายการเมือง เขามีพรรคมีกำลังสนับสนุนอยู่ หากเราไปใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งเขา เขาเอาเราตายเลยครับ อย่างไรก็ตามผมยืนยันในการทำหน้าที่ของตนเอง และการควบคุมดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างตรงไปตรงมาครับ เพราะเราจะดำเนินคดีใครเราต้องมีพยานหลักฐานครับ ผมไม่ใช้อำนาจหน้าที่ไปกลั่นแกล้งใคร หรือตกเป็นเครื่องมือใครเด็ดขาดครับ ไม่ใช่เราเข้าไปยุ่งกับนักการเมือง แต่นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดครับ” คำกล่าวบางช่วงบางตอนของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ต้องบอกว่าดีใจจริงๆ ที่เรามีกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมาช่วยผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าคดีใหญ่ล้วนแล้วแต่มี “นักการเมือง” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันจริงๆ ทั้งสิ้น

“ดาบอาญาสิทธิ์” อยู่ในมือจึงเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองอย่างใคร่ครวญในการใช้อำนาจด้วยความสุจริตเที่ยงตรงจริงๆ แผ่นดินไทยคงสูงขึ้นอีกมากโขทีเดียว...หากนำไปใช้กับ “นักการเมือง” ไม่ว่าจะอยู่ซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และผู้กระทำความผิดกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ อย่างเข้มข้น

มิฉะนั้น! กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ไม่ต่างอะไรจากเครื่องมือของ “นักการเมือง” ที่พรรคใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลและใช้ “ดาบอาญาสิทธิ์” เล่มนี้ไปเชือดเฉือนจัดการฝ่ายตรงข้าม!!!

รศ.สุขุม นวลสกุล บรรยายในหัวข้อ เทคนิคการทำงานของสื่อมวลชนให้ประสบความสำเร็จ

กำลังโหลดความคิดเห็น