ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 5 คดีฆ่า “เจริญ วัดอักษร” ชี้หลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 เสียชีวิตไม่ก่อนหน้านี้ในเรือนจำ!
ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2945/2547 ที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเสน่ห์ เหล็กล้วน อายุ 41 ปี อาชีพรับจ้าง, นายประจวบ หินแก้ว อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง, นายธนู หินแก้ว อายุ 51 ปี อาชีพทนายความ, นายมาโนช หินแก้ว อายุ 47 ปี สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ประจวบคีรีขันธ์ และนายเจือ หินแก้ว อายุ 76 ปี อดีตกำนัน ต.บ่อนอก เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ
โดยโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2547 ว่า เมื่อระหว่างประมาณต้นปี 2547 - 21 มิ.ย. 2547 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 3, 4, 5 ได้บังอาจร่วมกันใช้ จ้าง วานให้จำเลยที่ 1, 2 ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม. และ .38 ยิงที่ศีรษะ ใบหน้า และตามร่างกายรวม 9 นัดของนายเจริญ วัดอักษร อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มรักษ์ถิ่นบ่อนอก ที่ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของบริษัท กัลฟ์ อีเลคทริค จำกัด ขณะลงจากรถปรับอากาศสายกรุงเทพฯ-บางสะพาน เลขข้างรถ 66-1443 หลังกลับจากการให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อเรื่องการบุกรุกที่ดินในเขต อ.เมือง จ.ประจวบฯ เป็นเหตุให้นายเจริญถึงแก่ความตาย บริเวณสี่แยกบ่อนอก อ.เมือง ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้ พร้อมแจ้งข้อหาดำเนินคดี โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพตลอด ส่วนจำเลยที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งเป็นพ่อลูกกันให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 และริบปืนของกลาง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยที่ 3 มีความใกล้ชิดพักอยู่ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 และ 2 ในช่วงก่อนเกิดเหตุ โดยมีเหตุจูงใจในการฆ่าผู้ตาย คือ ต้องการฆ่าผู้คัดค้านการสร้างโรงงาน แม้จำเลยที่ 1, 2 เสียชีวิตไประหว่างการพิจารณา ไม่ได้ทำให้คำให้การมีน้ำหนักลดน้อยลงไป ที่จำเลยที่ 3 อ้างถิ่นที่อยู่ เป็นเพียงการอ้างลอยๆ ปราศจากน้ำหนัก จึงรับฟังพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้จ้างวาน ตามมาตรา 84 เมื่อผู้กระทำได้ลงมือจริง จำเลยที่ 3 ต้องรับโทษในผลแห่งการกระทำเสมือนผู้ลงมือ จึงมีความผิดตามฟ้อง และให้ยกฟ้องนายมาโนช หินแก้ว จำเลยที่ 4 และนายเจือ หินแก้ว จำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 นั้น เสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำ
ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนและปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบนั้นไม่เพียงพอที่จะลงจำเลยที่ 3, 4, 5 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 3 นั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้อง จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วย