ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับยกฟ้อง อดีตตำรวจห้วยขวาง พยายามฆ่าโชเฟอร์แท็กซี่ ศาลชี้หลักฐานไม่เพียงพอ อีกทั้งตำรวจไม่สามารถยึดอาวุธปืนที่ก่อเหตุได้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ที่ห้องพิจารณาคดี 612 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ ( 8 มี.ค.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีดำ อ.850/2554 คดีแดง อ.220/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้อง ร.ต.อ.เจษฎา เจตภรณ์ อายุ 30 ปี อดีตรอง สว.สส.สน.ห้วยขวาง เป็นจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2553 เวลากลางคืน จำเลยใช้อาวุธปืนกล็อก ออโตเมติก ขนาด 9 ม.ม. ยิงนายมณเฑียร จิตตระกูล อายุ 46 ปี โชเฟอร์แท็กซี่ ผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผล เหตุเกิดที่ ซ.จำเนียรเสริม แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม.
จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่า ขณะเกิดเหตุเข้าเวรอยู่ที่ สน.ห้วยขวาง ส่วนที่ไม่ส่งมอบปืนให้แก่พนักงานสอบสวนเนื่องจากไม่มั่นใจในกระบวนการสอบสวนของตำรวจ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2555 ว่า ฝ่ายโจทก์มีนาย มณเฑียร ผู้เสียหาย เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ขณะขับรถสวนกับรถตู้ของจำเลย พบจำเลยอยู่ในสภาพหน้าแดงคล้ายคนเมาสุรา จอดรถขวางอยู่กลางซอย จำเลยตะโกนถามว่า “จะถอยหรือไม่” พร้อมชักปืนขู่แล้วขู่ว่า “จะเอาไหม ๆ” แล้วยิงปืนข่มขู่ เห็นว่าผู้เสียหายสามารถจดจำใบหน้าและชี้ตัวจำเลยได้อย่างชัดเจน พิพากษาฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี
ต่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีพิรุธน่าสงสัยว่า ผู้เสียหายจะมีโอกาสจดจำใบหน้าจำเลยได้จริงหรือไม่ และสภาพแสงสว่างในที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นใบหน้าของจำเลยได้ชัดเจนยิงหรือไม่ ทั้งผู้เสียหายยังมีโอกาสได้เห็นภาพของจำเลยก่อนที่มีการชี้ตัวยืนยัน นอกจากนี้อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถตรวจยึดมาได้ อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ พิพากษากลับยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ร.ต.อ.เจษฎา ที่ถูกพนักงานอัยการคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องเป็นคดีดำ อ. 841/2554 กล่าวหาว่า ใช้อาวุธปืนยิง นาวาเอก.วุฒิชัย บุญฤทธิ์ นายทหารสังกัดกรมกำลังพล พระราชวังเดิม กองทัพเรือ เสียชีวิตคารถยนต์ปิกอัพ ในท้องที่ สน.ห้วยขวาง เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2553 เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่ชัดเจนเพียงพอ แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์