กรรมการบริหาร “พีซีซี” นัดเข้ารับทราบข้อหา คดีฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง กับ “ดีเอสไอ” 7 มี.ค.นี้ จ่อแจ้งข้อหา 20 กรรมผู้รับเหมาช่วงร้องทุกข์ อ่วมหนักกรรมละ 3 ปี วัดใจ “สตช.” ชี้ขาดยกเลิกสัญญา
วันนี้ (4 มี.ค.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีฮั้วประมูลและฉ้อโกงการก่อสร้างโรงพักทดแทนจำนวน 396 แห่งว่า ล่าสุดดีเอสไอได้รับการติดต่อจากกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ว่ากรรมการผู้มีอำนาจของบริษัททั้ง 3 ราย ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อุดมสทธิกุล, นายวิษณุ วิเศษสิงห์ และนายจาตุรงค์ อุดมสิทธิกุล จะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วงในวันที่ 7 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น. สำหรับคดีฮั้วประมูลคณะพนักงานสอบสวนได้ประชุมสรุปสำนวนเพื่อเรียบเรียงเอกสารหลักฐานส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายในวันที่ 6 มี.ค.นี้
ด้าน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับการติดต่อจากบริษัท พีซีซี ดีเอสไอได้เตรียมพร้อมในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหาแก่กรรมการบริษัท พีซีซี โดยคดีฉ้อโกงจะแยกกล่าวหาเป็นรายคดีตามที่ผู้รับเหมาช่วงในฐานะผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยขณะนี้มีผู้รับเหมาช่วงเข้าร้องทุกข์แล้ว 20 ราย จึงต้องแจ้งข้อกล่าวหารวม 20 กรรม โดยคดีฉ้อโกงกำหนดระวางโทษจำคุกไว้ กรรมละ 3 ปี หลังจากนี้ดีเอสไอจะรอฟังผลการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ว่าจะมีมติต่อสัญญาขยายเวลาการก่อสร้างให้บริษัท พีซีซี หรือจะตัดสินใจยกเลิกสัญญา หากมีมติให้ยกเลิกสัญญาดีเอสไอจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหากับบริษัท พีซีซี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูลอีก 1 ข้อหา เนื่องจากเป็นการประมูลที่เสนอราคาต่ำจนผิดปกติและผู้ชนะการประมูลไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ
แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยว่า สำหรับคดีฮั้วประมูล หลักฐานค่อนข้างชัดเจนถึงการเข้ามาล้วงลูกแทรกแซงของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะการฝ่าฝืนมติ ครม.สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีมติให้แยกการประมูลเป็นรายกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ซึ่งต่อมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ได้ใช้ดุลพินิจอนุมัติให้ประมูลแบบแยกเป็น 9 กองบัญชาการ แล้วมีคำสั่งยกเลิกการประมูล ก่อนจะอนุมัติให้ประมูลแบบรวมสัญญาเดียวที่ สตช. ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่อให้เห็นถึงการใช้ดุลพินิจกลับไปกลับมา โดยไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของกฎหมาย