กว่า 6 ปีแล้วที่ “เจ้าพ่อเมืองชล” สมชาย คุณปลื้ม หรือที่รู้จักกันดีในนาม “กำนันเป๊าะ” ผู้กว้างขวางแห่งภาคตะวันออก ได้หลบหนีคำพิพากษาที่ถูกอาญาแผ่นดินจำคุก 30 ปี 4 เดือน จากคดีจ้างวานฆ่าผู้อื่น 25 ปี และคดีทุจริตซื้อที่ดินทิ้งขยะเมืองพัทยาอีก 5 ปี 4 เดือน
แต่ในที่สุดกลับมาถูกจับกุมอย่างง่ายดายเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา บนถนนมอเตอร์เวย์ หลังจากเดินทางเข้ามาหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการป่วยโรคเบาหวาน เรียกว่า “ตกม้าตาย” อย่างไม่น่าเชื่อ
แน่นอนเรื่องนี้ย่อมต้องให้เครดิตกับทีมตำรวจกองปราบปราม ซึ่งได้เฝ้าติดตามพฤติกรรม “กำนันเป๊าะ” มานานกว่า 2 เดือน หลังสืบทราบแน่ชัดว่าได้หลบหนีการจับกุมมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านใน จ.ชลบุรี พื้นที่อิทธิพลของเขาเอง
จนถึงวันดีเดย์ในวันนี้ ตำรวจกองปราบฯ ก็ได้สะกดรอยตาม “กำนันเป๊าะ” ตั้งแต่ออกจากบ้านพัก จนกระทั่งมาเฝ้าอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่ง “กำนันเป๊าะ” มาพบแพทย์เพื่อรักษาโรคเบาหวาน โดยเจ้าตัวได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นายกิม แซ่ตั้ง” ในการเข้ารักษาพยาบาล เมื่อเสร็จจากการพบแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ติดตามขบวนรถยนต์ยี่ห้อเลกซัส สีดำ ทะเบียน ฎฎ 9579 กรุงเทพมหานคร ของ “กำนันเป๊าะ” มาจนถึงด่านเก็บเงินมอเตอร์เวย์ ลาดกระบัง (ขาออก) และแสดงตัวเข้าจับกุมตัวในที่สุด
ว่ากันว่าที่ผ่านมา “กำนันเป๊าะ” ก็ไม่ได้หลบหนีไปต่างประเทศอย่างที่เข้าใจกัน แต่หลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านพักใน จ.ชลบุรี มาโดยตลอด ซึ่งก็มีผู้พบเห็นเจ้าตัวในที่สาธารณะบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินการจับกุมแต่อย่างใด การถูกจับกุมครั้งนี้จึงถูกมองว่า “เจ้าพ่อเมืองชล” ออกอาการย่ามใจจนพลาดท่าเสียที
จากนี้ก็จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เริ่มตั้งแต่การสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนำไปรายงานตัวที่ศาลอาญาเพื่อรับหมายจำคุกถึงที่สุด ก่อนจะส่งตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที เพื่อตรวจสุขภาพและทำประวัติการต้องโทษ และคุมตัวส่งเข้าเรือนจำต่อไป
ในกรณีนี้ “กำนันเป๊าะ” ไม่อาจได้กับการประกันตัวได้อีก เนื่องจากมีพฤติกรรมหลบหนีการการฟังคำพิพากษาตั้งแต่ศาลชั้นต้นที่ตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน ในคดีทุจริตเขาไม้แก้ว จนถึงเมื่อครั้งศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีจ้างวานฆ่าผู้อื่นจำคุก 25 ปีไปเมื่อ 12 มี.ค. 55 ที่ผ่านมา จึงถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว
ด้าน “บิ๊กแป๊ะ-สนธยา คุณปลื้ม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของกำนันเป๊าะ กล่าวสั้นๆ ในเรื่องนี้ว่า คงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่กระทบต่อการทำหน้าที่รัฐมนตรี และยืนยันว่าไม่ทราบมาก่อนว่ากำนันเป๊าะอยู่ในประเทศไทย เพราะปกติส่วนใหญ่จะเดินทางไปมาอยู่ในต่างประเทศ
ถึงบรรทัดนี้ต้องขอย้อนรอย 2 คดีดังที่ทำให้ “กำนันเป๊าะ” ต้องโทษทัณฑ์และหลบหนีอาญาแผ่นดินมาเป็นเวลาหลายปี เริ่มตั้งแต่ “คดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้ว” หรือคดีทุจริตในการจัดซื้อที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่ฝังกลบขยะของเมืองพัทยา จำนวน 140 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเมื่อปี 2536 เทศบาลเมืองพัทยามีโครงการจัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นที่กลบฝังขยะ
โดยได้กำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเมืองพัทยาในรัศมีไม่เกิน 15 กิโลเมตร แต่หลังเปิดประมูล ไม่ปรากฏมีเจ้าของที่ดินเจ้าใดเสนอมา จึงมีการแก้ไขเงื่อนไขว่าให้ห่างออกไปอีกเป็น 25 กิโลเมตร ทำให้ “พีระ ศิลรัตน์” ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 150 ไร่ ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เสนอที่ดินจำนวน 140 ไร่ ให้ทางเทศบาลเมืองพัทยาพิจารณา โดยเสนอขายในราคาไร่ละ 6 แสนบาทเศษ รวมเป็นเงิน 93 ล้านบาทเศษ ซึ่งภายหลังเมืองพัทยาก็ตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวเอาไว้ และชำระเงินให้เจ้าของที่ดินไปทั้งหมด
แต่กลับเกิดปัญหาขึ้น เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และมทีหลักฐานว่าผู้ครอบครองที่ดินรู้เรื่องดีอยู่แล้ว เนื่องจากกรมที่ดิน และสำนักงานที่ดิน จ.ชลบุรี ได้เคยมีหนังสือเพิกถอนสิทธิไปก่อนหน้านั้น แต่ยังฝ่าฝืนและทำสัญญาซื้อขายกับทางเทศบาลเมืองพัทยา ไม่เพียงเท่านั้นยังพบข้อมูลที่เพิ่มน้ำหนักว่าเกิดการทุจริตขึ้นอย่างมโหฬาร เพราะมีหลักฐานว่า “พีระ ศิลรัตน์” ซื้อที่ดินแปลงนี้มาเมื่อปี 2535 ในราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท โดยที่ทั้งผู้ซื้อผู้ขายลงชื่อยอมรับเองว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนฯ
กลายเป็นปมความผิดปกติ ทั้งเรื่องที่ดินในเขตป่าสงวนฯ และราคาขายที่พุ่งขึ้นมากกว่า 10 เท่าในระยะเวลาเพียงปีเดียว ทำให้ต้องมีการสืบสวนเชิงลึก ภายใต้การนำของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” เมื่อสมัยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ (ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจภาค 2) ที่สืบทราบว่า “พีระ ศิลรัตน์” ผู้ขายที่ดินให้เมืองพัทยา ทำงานเป็นคนสวนอยู่ในบ้าน “กำนันเป๊าะ” นั่นเอง
เรื่องราวจึงโยงใยเชื่อมต่อมาถึงตัว “เจ้าพ่อภาคตะวันออก” จนทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุก ซึ่ง “กำนันเป๊าะ” หลบหนีไปตั้งแต่ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาเมื่อวันที่ 10 พ.ค.50
ถัดมาที่คดีจ้างวานฆ่า “กำนันยูร-ประยูร สิทธิโชติ” ผู้ทรงอิทธิพลร่วมเมืองชลบุรี ซึ่งความผิดคนละส่วนกับคดีที่ “กำนันยูร” ถูกสังหารเสียชีวิต เนื่องจากได้มีการวางแผนและจ้างวานให้สังหาร “กำนันยูร” มาเป็นระยะเวลาพอสมควร และด้วยความ “ร้อนใจ” ของผู้จ้างวาน จึงได้ติดต่อมือปืนหลายชุด จนสุดท้ายก็สามารถปลิดชีพ “กำนันยูร” ได้ตามแผน
แต่ด้วยมีผู้รู้เห็นมากเกินไป จนเรื่องมาถึงหูตำรวจ ในขณะที่แกะรอยมือปืนต้องสงสัยหลายชุด ซึ่งมีการสอบสวนจนมีมือปืนชุดหนึ่งสารภาพและซัดทอดว่า “กำนันเป๊าะ” กับ “ส.ท.เหี่ยว-ภาสกร หอมหวล” คนสนิท เคยติดต่อให้สังหาร “กำนันยูร” แต่ถูกมือปืนชุดอื่นลงมือเสียก่อน
ปมความขัดแย้งจนถึงแตกหักของ “สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองชล” เริ่มมาจากการการขัดผลประโยชน์และมีการล้างแค้นระหว่างคนสนิทของ “สองผู้ยิ่งใหญ่” ทั้งการตายของ “ยุทธเป๋ - ประยุทธ สิทธิโชติ” ที่เป็นหลาน “กำนันยูร” เมื่อช่วงปี 2543 ซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงการถูกยิงเสียชีวิต “พ.ต.ท.ไชยันต์ วิชัยดิษฐ์” รอง ผกก.5 บก.อก.ภาค 2 นายตำรวจคนสนิทของ “กำนันเป๊าะ” เมื่อปี 2545
ระหว่างนั้นว่ากันว่า “กำนันเป๊าะ-กำนันยูร” ต่างระมัดระวังตัวด้วยกันทั้งคู่ เพราะรู้ว่ามีผู้หวังปรองร้าย โดยเฉพาะ “กำนันยูร” ที่พยายามวิ่งเต้นเคลียร์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งเก็บตัวเงียบอยู่แต่ในบ้านพักที่มีกำลังคุ้มกันแน่นหนาเป็นเวลานานหลายเดือน
กระทั่งวันที่ 9 มี.ค. 46 “กำนันยูร” มีภารกิจสำคัญต้องไปร่วมงานเลี้ยงแต่งงานลูกสาวคหบดีชื่อดังที่เป็นเพื่อนสนิทกัน และเห็นว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดเดินทางมาจำนวนมาก รวมไปถึง “สนธยา คุณปลื้ม” ลูกชายกำนันเป๊าะ และเป็น ส.ส.ชลบุรี (ขณะนั้น) แต่ระหว่างงานเลี้ยงโต๊ะจีน มือปืนก็บุกเข้ามารัวกระสุนใส่ “กำนันยูร” สิ้นใจต่อหน้าแขกเหรื่อจำนวนมาก
ซึ่งปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลที่ระบุว่า “พยานโจทก์ทั้งสามปาก คือ นายธนาวุฒิ หรือ ติ เกิดเกียรติกุล นายพสิษฐ์ หรือคิด แตงตุ้มรุ่งโรจน์ และนายธนาพล หรือเจี๊ยบ บุญศรีอุทัย เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 1 (กำนันเป๊าะ) ให้ไปฆ่านายประยูร เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่พอใจเรื่องที่ พ.ต.ท.ไชยันต์ ลูกน้องคนสนิทถูกยิงตาย
จำเลยที่ 1 เกรงว่านายประยูร จะจ้างคนมายิงเอาคืน จึงว่าจ้างนายธนาวุฒิ กับพวกเป็นเงิน 3 ล้านบาท วางแผนฆ่าผู้ตายเสียก่อน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 45 ในงานพิธีเปิดอู่ซ่อมรถของนายพสิษฐ์ ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ย. 45 ขณะนายประยูรพร้อมคณะ เดินทางไปทอดกฐินที่จังหวัดสระบุรี ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 45 ในงานปีใหม่ที่ตำบลเสม็ด นายธนาวุฒิติดต่อให้ จ.ส.อ.ปัญญา ศรีเหรา และ ส.อ.สมชาย บุนนาค เป็นผู้ลงมือ ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ม.ค. 46 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งนี้ การวางแผนฆ่านายประยูรทั้ง 4 ครั้งไม่สำเร็จ เนื่องจากนายประยูรระมัดระวังตัว
กระทั่งเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 46 นายธนาวุฒิกับพวกเตรียมวางแผนฆ่านายประยูรอีกครั้ง ในงานแต่งงานที่ร้านไพรเวชค้าวัสดุ แต่ปรากฏว่า จ.ส.อ.ประดิษฐ์ คนใกล้ชิดจำเลยที่ 1 แจ้งว่า จำเลยที่ 1 สั่งระงับแผนฆ่าเนื่องจากมีข่าวรั่วไหล ทั้งนี้บันทึกคำให้การของนายธนาวุฒิ และนายพสิษฐ์ ปรากฏว่าเคยให้การไว้หลายครั้ง และยืนยันมาตลอดว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวานฆ่าผู้ตาย”
คำให้การข้างต้นเป็นการมัดตัว “กำนันเป๊าะ-ส.ท.เหี่ยว” ให้ตกเป็นจำเลยคดีจ้างวานฆ่า “กำนันยูร” ทำให้หลังเกิดเหตุไม่นานตำรวจก็พบหลักฐานเชื่อมโยงและออกหมายจับ “กำนันเป๊าะ-ส.ท.เหี่ยว” ซึ่งได้หลบหนีไปพักใหญ่ ก่อนติดต่อเข้ามอบตัว และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ในช่วงปี 2546-47 ที่ “คดีจ้างวานฆ่ากำนันยูร” อยู่ในชั้นศาล รวมทั้ง “คดีทุจริตซื้อที่ดินเขาไม้แก้ว” ซึ่งยืดเยื้อมาหลายปี ทำให้ “กำนันเป๊าะ” ต้องเทียวไปเทียวมาขึ้นลงศาลเป็นว่าเล่น ก่อนที่ศาลจะพิพากษาให้ “กำนันเป๊าะ” มีความผิดจริงในคดีหลังตัดสินจำคุก 5 ปี 4 เดือน
ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ ได้ดังนี้
11 พ.ค. 47 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีทุจริตที่ดินทิ้งขยะจำคุก “กำนันเป๊าะ”
21 มิ.ย. 47 ศาลอาญาพิพากษาคดีจ้างวานฆ่า “กำนันยูร” ตัดสินจำคุก 25 ปี ทั้ง “กำนันเป๊าะ” และ “ส.ท.เหี่ยว” โดย “กำนันเป๊าะ” ให้นับโทษต่อจากคดีทุจริตที่ดินทิ้งขยะด้วย
12 ต.ค. 48 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในคดีฆ่า “กำนันยูร”
24 ก.พ. 49 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตที่ดินทิ้งขยะ แต่ “กำนันเป๊าะ” อ้างมีอาการป่วยขอเลื่อนการรับฟังหลายครั้ง จนท้ายที่สุดก็หลบหนี ทำให้ถูกศาลออกหมายจับ
10 พ.ค. 49 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาลับหลังว่า “กำนันเป๊าะ” ผิดจริงในคดีทุจริตที่ดิน ถือว่าคดีเป็นที่สุดให้ยืนจำคุก 5 ปี 4 เดือน แต่ให้ลดโทษเหลือ 3 ปี 5 เดือน
12 มี.ค. 55 ศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษาลับหลังว่า “กำนันเป๊าะ” และ “ส.ท.เหี่ยว” คดีจ้างวานฆ่า “กำนันยูร” ตัดสินจำคุก 25 ปี และให้ออกหมายจับ
จนมาถึงวันนี้ 30 ม.ค. 56 ตำรวจกองปราบฯ จับกุม “กำนันเป๊าะ” ได้สิ้นสุดกว่า 6 ปีของการไล่ล่าตัว “อดีตเจ้าพ่อเมืองชล” ที่สุดท้ายก็หนีโทษทัณฑ์ไม่พ้น