xs
xsm
sm
md
lg

คุยสบายสบาย สไตล์ “วิรัช ชินวินิจกุล” พ่อบ้านตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ ทื่ต้องดูแลงานด้านธุรการและสนับสนุนการทำหน้าที่ของ ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จึงเปรียบเสมือนเป็น“พ่อบ้าน”ของข้าราชการฝ่ายตุลาการ วันนี้เราจึงได้มาพูดคุยกับ “วิรัช ชินวินิจกุล” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนปัจจุบัน

นายวิรัชบอกว่า ตอนเด็กนั้นเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในต่างจังหวัด คือจบชั้น ม.8 หรือ ม.ศ.5 ที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และเรียนจบปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 และเรียนจบเนติบัณฑิตไทย และเมื่อเรียนจบก็ได้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนนักศึกษาอยู่นาน 5 ปี จึงย้ายมาเป็นผู้พิพากษาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ตัวผมเองไม่ได้จบการศึกษาจากเมืองนอกเมืองนา เพียงแต่ไปอบรมบ้างเป็นบางคอร์สเท่านั้น

“สมัยก่อนครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เป็นพ่อค้า แม่ขาย โดยตอนสาวๆ แม่ของผมมีอาชีพแม่ค้าขายอ้อยควั่น ถั่วต้ม เป็นถาดๆ หรือกะละมัง อยู่ที่หน้าโรงหนังในบ้านโป่ง ส่วน“เตี่ย” หรือพ่อผม ขายกาแฟ ต่อมาทั้งสองคนก็ได้แต่งงานกัน และหลังจากนั้นคุณยายก็บอกไม่อยากให้แม่ทำอาชีพนี้แล้ว แม่ผมก็เลยหันไปเปิดร้านขายผ้าแทน ขณะที่พ่อยังขายกาแฟอยู่ จนในที่สุดกิจการร้านขายผ้าที่เปิดใหม่ ได้กำไรดี “เตี่ย” จึงต้องเลิกขายกาแฟ และมาช่วยแม่ขายผ้าอีกแรงด้วย

ส่วนผมนั้น ช่วยพ่อกับแม่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก กิจวัตรประจำวัน ตื่นเช้ามามีหน้าที่ต้องเปิดร้าน จัดเสื้อผ้าเอาไปแขวนเหมือนร้านโบราณ ซึ่งแขวนเสื้อผ้าสำเร็จรูปโชว์ที่หน้าร้าน ส่วนแม่ก็จะไปซื้อกับข้าวที่ตลาด กลับมาปรุงอาหารทำกินที่บ้าน นอกจากนั้นผมก็ต้องกวาดบ้าน เสร็จแล้วค่อยอาบน้ำ กินข้าวไปโรงเรียน ซึ่งตอนอยู่ชั้นประถมนั้นผมไปโรงเรียนสายเกือบทุกวัน โดยวันเสาร์-อาทิตย์ผมก็ไม่ได้ไปไหน ต้องขายของอยู่ที่บ้าน บางครั้งเนื่องจากบ้านลุงผม เป็นร้านทำไอศกรีมเจ้าใหญ่ในบ้านโป่ง ผมอยากได้สตางค์ ก็จะขอรับไอศกรีมไปขาย ซึ่งมีคนไปรอกันเยอะมาก แต่ผมได้คิวพิเศษ จากนั้นก็จะแบกกระติกไอศกรีมไปขายตามท่ารถประจำทางต่างๆ ทั้งรถเมล์ และสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นงานในวัยเด็กที่ผมชอบ รู้สึกสนุก โดยกระติกหนึ่งจะได้กำไรประมาณ 2 บาทกว่า ในสมัยโน่นสัก 40-50 ปีก่อน ดังนั้นชีวิตผมจึงโตมากับการเรียนและค้าขายตลอด อย่างไรก็ตามช่วงหลังเนื่องจากที่บ้านเราขายผ้าได้ดี ผมจึงมีหน้าที่ ต้องออกไปซื้อกับข้าวที่ตลาดทุกเช้าและเย็น สลับกับแม่ เพราะแม่วุ่นอยู่กับการขายผ้า จนกระทั่งผมได้เข้ามาเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ โดยจะไปเช้าและเย็นกลับ จากบ้านโป่ง มากรุงเทพฯ ทุกวัน ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 โดยนั่งรถไฟบ้าง รถเมล์บ้าง หากนั่งรถไฟก็จะมาลงที่สถานีบางกอกน้อย และข้ามเรือมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงนั้นจึงค่อนข้างใช้ชีวิต ดีดตัวเอง คือ ต้องเป็นระเบียบ ก็เลยดูเหมือนเป็นคนมีระเบียบวินัย กระทั่งมาทำงานก็ติดนิสัยอย่างนี้มาตลอด บรรดาสตาฟ ทีมงาน และเพื่อนร่วมงานมักจะบอกว่า ผมทำอะไรถูกต้อง ตามระเบียบแบบแผน” พ่อบ้านตุลาการ เปิดปูมชีวิต

ส่วนแรงบันดาลใจให้ได้มาเรียนกฎหมาย เป็นผู้พิพากษานั้น นายวิรัชเปิดเผยให้ฟังว่า ตอนแรกจริงๆ แล้ว ผมอยากเป็นครู แต่ที่เรียนกฎหมาย เนื่องจากบังเอิญ ตอนอยู่ที่บ้านโป่งบ้านที่อยู่ติดกันเขาเปิดร้านขายผ้าเหมือนกัน แต่ทำกิจการโรงหนังด้วย วันหนึ่งก็เจอผู้ใหญ่หน้าตาคล้ายแขกอินเดียมาที่บ้านหลังนี้ ท่านเจอผมก็ถามว่าเรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว ผมก็ตอบว่าอยู่ชั้น ม.3 ท่านก็บอกว่าท่านเรียนกฎหมาย กำลังจะสอบเป็นผู้พิพากษา ผมก็ตกใจว่า “เอ๊ะ”
คนเชื้อสายอินเดียจะเป็นผู้พิพากษาได้ด้วยเหรอ?!

“จากนั้นผมก็ฝังใจมาตลอดว่าผมอยากเป็นผู้พิพากษา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมผมก็เลยมาเรียนกฎหมาย แต่เนื่องจากตอนที่จบกฎหมาย ผมอายุเพียงแค่ 20-21 ปี ขณะนั้นยังไม่มีสิทธิ์สอบผู้พิพากษา เนติบัณฑิตก็ยังไม่ได้ จึงมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ดีใจที่อย่างน้อยช่วงหนึ่งเราก็ได้เป็นครู อย่างที่เคยตั้งใจไว้เหมือนกัน ก่อนจะได้มาเป็นผู้พิพากษา ซึ่งผมไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาครั้งแรก ที่จังหวัดภูเก็ต ประมาณ ปี พ.ศ. 2524 ก็ไปเจอหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ต คือ ท่านปรีดี สุจริตกุล ซึ่งร่วมทำหน้าที่อยู่ด้วยกัน จากนั้นก็ได้เจอกับแขกคนเดียวกับที่เคยเจอสมัยตอนเป็นเด็ก ปรากฏว่าท่านเป็นเพื่อนกับท่านปรีดี สุจริตกุล และก็ได้ถามผมว่ามาเป็นผู้พิพากษาแล้วเหรอ ผมก็ตอบว่าใช่ ซึ่งท่านก็จำผมได้ ความจริง แขกคนนี้ ก็คือ ท่านสันติ ทักราล อดีตประธานศาลฎีกา และองคมนตรี ทำให้ในที่สุด ผมก็ต้องมาทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของท่านสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา เมื่อปี พ.ศ. 2545-2545 ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อ กล้าพูดได้ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้มาเรียนกฎหมาย อยากเป็นผู้พิพากษา ก็คือ มาจากท่านสันติ ทักราล นั่นเอง

เส้นทางเติบโต

ผมทำหน้าที่ผู้พิพากษาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งนิสัยของผมอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยอยู่กับบ้าน วันเสาร์ วันอาทิตย์ ผมมักจะเที่ยวไปตามชายหาด ผมไปดูทุกแห่ง ทำให้ตอนนั้นผมรู้เรื่องชายหาดบนเกาะภูเก็ตเยอะ มากกว่าคนภูเก็ตเสียอีก สมัยนั้นยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเหมือนปัจจุบัน หากมีฝรั่งมาเที่ยวก็จะเป็นจุดเด่นในสายตาชาวบ้าน ขณะเดียวกันที่หาดป่าตองก็ยังไม่มีโรงแรม ทางขึ้นก็ยังเป็นถนนลูกรัง ชายหาดบนเกาะภูเก็ตจึงเป็นธรรมชาติสวยงาม

นอกจากนี้ผมก็ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน ทำให้รู้วิถีชีวิตขนบธรรมเนียมของคนใต้ พูดตรงๆ ว่าคนใต้น่าอิจฉา เพราะคนเกิดทางใต้ได้อยู่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ อากาศดี อาหารดี สมบูรณ์ทุกอย่าง วันหนึ่งผมไปบ้านผู้ใหญ่บ้าน เขาชวนผม บอกว่าเย็นนี้กินข้าวด้วยกันนะ ผมดูแล้วก็เห็นว่าไม่มีอะไรให้เรากินเลย แป๊บเดียว! เขาถือฉมวกเดินลงไปทะเล จับปลามาได้มากมาย เอามาทำอาหาร ปิ้ง เผาให้เรากิน ซึ่งผมคลุกคลีกับชีวิตคนใต้ กล้าพูดได้เลยว่าใครที่ได้ไปอยู่ทางใต้เป็นคนที่โชคดี

จากชีวิตราชการในภูเก็ต ผมก็ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผมอยู่ที่ภาคใต้ทั้งหมด 11 ปี แต่ละพื้นถิ่นก็อาจจะแตกต่างกันกัน แต่สิ่งที่ผมเห็นเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ คนใต้มีความเป็นนักเลง ในความหมายของผมไม่ใช่หมายถึงไม่ดี หรืออันธพาล แต่หมายถึงใจนักเลง รักใครรักจริง สิ่งเหล่านี้ผมได้มาจากคนใต้ ได้มาจากการที่ผมไปอยู่ปักษ์ใต้ ซึ่งคนที่ทำงานกับผมก็จะรู้ว่าผมเป็นคนยังไง หลายคนบอกว่า ผมเนี่ยถ้าพูดใต้ได้ก็จะเป็นคนใต้ได้เลย แต่ผมพยายามพูดก็พูดไม่ได้สักที พูดทีไรก็ออกสำเนียงทองแดง (หัวเราะ) นอกจากนี้คนใต้ก็เป็นคนเข้าสังคมเก่ง และรักพวกพ้อง ดังนั้นถ้าทำตัวให้กลมกลืนเข้ากับเขาได้เขาก็จะรักเรา ซึ่งผมมีพรรคพวกที่เป็นคนใต้เยอะมาก เช่น นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนปัจจุบัน ก็สนิทกับครอบครัวท่านและลูกๆ ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา ผมรู้จักคนเยอะ เพราะเคยเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 8 และ ภาค 9 รับผิดชอบดูแลศาลทั่วภาคใต้ ทั้ง 14 จังหวัด ช่วงที่รับราชการที่จังหวัดสงขลานั้น ก็ประทับใจเช่นกัน เพราะสงขลาเป็นทั้งเมืองเศรษฐกิจและเมืองการศึกษา ถ้าเรารักสงบ ไม่อยากไปวุ่นวายกับใครก็ไปอยู่ที่เมืองสงขลา แต่ถ้าอยากสนุกสนานก็ไปเที่ยวที่หาดใหญ่ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวบันเทิงเยอะ ขณะเดียวกันสงขลาก็ยังติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย ซึ่งชาวบ้านสามารถเดินทางไปซื้อของกิน ของใช้ได้ถูกกว่าพื้นที่อื่นๆ ทางอำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย ก็เป็นเทือกเขา จึงเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีอะไรครบหมด

ชอบเลี้ยงไก่
สำหรับกิจกรรมยามว่างนั้น ผมไม่ค่อยมีเวลาว่าง แต่หากว่างจริงๆ ผมก็จะเลี้ยงไก่ตัวเล็กๆ ที่คนใต้เขาเรียกไก่ “ซารามอ” เป็นไก่สายพันธุ์มาเลเซีย เนื่องจากผมมีเพื่อนเป็นชาวมาเลเซียเยอะ ลักษณะของไก่ชนิดนี้ก็คล้ายกับ “ไก่แจ้” แต่ตัวเล็กกว่า หรือ ทางไทยเราเรียกว่า “ไก่พระราม” เพราะเวลามันยืน อกจะตั้งเด่นสง่าสวยงามมาก จะนิยมเลี้ยงกันแถวจังหวัดสงขลา นราธิวาส และไก่ “ซารามอ” ตัวนึงราคาแพง เป็นหมื่นบาทก็มี สมัยก่อนผมเลี้ยงไว้เยอะ แต่พอไข้หวัดนกระบาดก็เลยให้เขาไปหมด นึกแล้วเสียดายมาก ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาเลี้ยงใหม่ได้มาสักประมาณ 10 กว่าตัว ซึ่งจะเลี้ยงไว้ที่บ้านต่างจังหวัด ที่บ้านโป่ง ราชบุรี แต่ตอนนี้ก็คิดว่าจะลองเอามาเลี้ยงที่กรุงเทพฯ สักประมาณ 2-4 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่ผมรักมาก ส่วนกีฬาเมื่อก่อนก็เล่นเทนนิสเป็นประจำ แต่ตอนนี้เล่นไม่ไหวแล้ว ก็พยายามที่จะหาเวลาออกกำลัง

อย่างไรก็ตาม “พ่อบ้าน” ฝ่ายตุลาการยังได้ฝากบอกถึงการจัดโครงการและกิจกรรมดีๆ ที่ประทับใจในรอบปีที่ผ่านมาว่า ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม ได้จัดโครงการ “เยาวชนไทยหัวใจเดียวกัน” เป็นการนำนักเรียนเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา มาอบรมในด้านกฎหมายและเกี่ยวกับศาลยุติธรรม เมื่อกลับไปบ้านก็จะได้อธิบายให้พ่อแม่ พี่น้องเขาฟัง ในช่วงปิดเทอม ก็จะให้เขามาเป็นอาสาสมัครประจำศาลจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว ให้คอยดูแลพูดคุยกับพี่น้องที่เป็นมุสลิมด้วยกัน โดยเราให้ค่าตอบแทน ความจริงก็คือ เป็นการหางานให้เยาวชนและเป็นการบริการประชาชนด้วย ซึ่งเยาวชนเหล่านี้มีความเข้าใจง่ายและเรียนรู้เร็ว เราให้ความจริงกับเขา ซึ่งตรงกับนโยบายท่านประธานฎีกาที่ว่า “ศาลยุติธรรมเพื่อประชาชน” เพราะฉะนั้นเราต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะคู่ความเท่านั้น แม้กระทั่งประชาชนทั่วไปเราก็จะต้องให้ความรู้ด้านกฎหมายกับเขา

นอกจากนี้ นายวิรัช ชินวินิจกุล ยังบอกด้วยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในอีก 9 เดือนหรือตุลาคมปีหน้า ก็จะต้องกลับไปทำหน้าที่ยังศาลฎีกา ซึ่งตามอาวุโสก็อาจจะเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาต่อไป
จัดโครงการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายกับเยาวชน

กำลังโหลดความคิดเห็น