รอง ผบช.น.สั่ง ตร.จราจรทุก สน.และ บก.จร. 3-4 พันนายรับมือการจราจรในกรุงเทพฯ ช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาใหม่
วันนี้ (25 ต.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานด้านจราจร เปิดเผยการเตรียมพร้อมรับมือการจราจรในช่วงเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างทั่วกรุงเทพฯ ว่า เบื้องต้นทาง บช.น.ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทั้ง สน.และ บก.จร. ประมาณ 3,000-4,000 นาย เตรียมความพร้อมรับมือ ซึ่งทุกวันจะมีการประชุมเพื่อปรับแผนการปฏิบัติงาน และนำข้อบกพร่องที่ผ่านมาทั้งหมดมาปรับแผนการทำงาน
พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติที่พบปัญหา คือ รถเกิดอุบัติเหตุ และรถเสียทำให้เกิดการจราจรติดขัด รองลงมาก็คือ ในช่วงตอนเช้าผู้ปกครองจะออกจากบ้านมาส่งนักเรียนพร้อมๆ กัน ทำให้ถนนสายหลักบริเวณหน้าโรงเรียนส่วนใหญ่เกิดการจราจรติดขัด ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปประชาสัมพันธ์ตามโรงเรียนต่างๆ และผู้ปกครองของนักเรียนด้วย
พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการเหลื่อมเวลานั้น ได้ขอไปยังสถาบันการศึกษาบางแห่ง และมีการจัดกำลังไปดูแลการจราจรบริเวณถนนสายหลักที่จะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนตามปกติอยู่แล้ว นอกจากนี้ การรื้อพื้นที่เกาะกลาง 3 จุดใหญ่ คือ 1.ถนนพหลโยธิน ช่วงหน้าธนาคารทหารไทย ต้องขยายช่องจราจรเพิ่ม เนื่องจากในช่วงเวลาเร่งด่วนมีรถประจำทางผ่านจุดดังกล่าวถึง 40 สายต่อชั่วโมง ส่งผลให้การจราจรติดขัดต่อเนื่องในถนนพหลโยธิน ลาดพร้าว วิภาวดีรังสิต 2.ใต้ด่วนดินแดง ต้องปาดเกาะกลางถนนออกบางส่วน เพื่อให้รถที่จะเลี้ยวเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คล่องตัวขึ้น
3.แยกรัชดา-ลาดพร้าว ให้ปาดเกาะกลางถนนให้เล็กลง เพิ่มช่องจราจรให้รถหมุนเวียนผ่านแยกได้เร็วขึ้น จะช่วยให้การจราจรในช่วงเปิดภาคเรียนดีขึ้น และยังมีอีกหลายๆ จุดที่เสนอไปนั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าจะทำได้ทันหรือไม่เพราะว่าต้องรอทาง กทม.ด้วย พล.ต.ต.วรศักดิ์กล่าว
พล.ต.ต.วรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจุดที่เป็นบริเวณคอขวด ซึ่งกำลังขยายขึ้นจะทำให้การเคลื่อนตัวของรถได้ดีขึ้น และขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ บนถนนพระราม 3 ขาออกตรงจุดตัดทางรถไฟ ซึ่งมีสภาพเป็นคอขวด โดยรับรถที่มาจากทางสะพานข้ามแยกศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 3 ช่อง และรับรถจากทางห้าแยก ณ ระนอง อีก 2 ช่อง แต่ต้องเบียดขึ้นสะพานคอขวดทางรถไฟซึ่งมีเพียง 2 ช่อง ทำให้เกิดปัญหาการจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสะพานข้ามทางรถไฟมักมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ขึ้นไปจอดเสียส่งผลกระทบให้รถติดอย่างหนัก
ทั้งนี้ คาดว่าประมาณต้นเดือน พ.ย. จะมีการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนทั้งหมดใน กทม. แต่อยากจะเรียนให้ทราบว่า การแก้ไขปัญหาจราจรต้องมีการปรับกันทุกวัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันต้องปรับให้ทันท่วงที ซึ่งทาง บช.น. ได้ประชุมกับทาง บก.น. และ สน. ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จราจรที่มีปัญหารถติดผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหารถติด เจ้าหน้าที่ก็แก้ไขแค่ได้เพียงที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาจราจรมันไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงเท่านั้น ต้องร่วมกันกับทางผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น ถ้าผู้ปกครองต้องรู้จักวางแผนการเดินทางมาส่งนักเรียนไว้ล่วงหน้าจะทำให้ไม่มีปัญหาการจราจรอย่างแน่นอน