ศาลยกฟ้อง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” น้องเนวินฟ้องเอเอสทีวี เผยแพร่ข่าวเงินสินบนวิ่งเต้นโยกย้ายข้าราชการกระทรวงมหาดไทย 300-400 ล้านบาท ศาลชี้พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ-บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไม่ต้องรับผิด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (24 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดี อ.737/2553 ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย น้องชายนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจาดุร อภิชาตบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย, บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท
กรณีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 1 ได้อภิปรายในการจัดสัมมนาเรื่อง “ธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งโยกย้าย ศีกษากรณีกระทรวงมหาดไทย” ของคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและสร้างธรรมมาภิบาลวุฒิสภา ที่อาคารรัฐสภา 2 กล่าวหาว่าโจทก์ในฐานะประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดการในการซื้อขายและการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะการแต่งตั้งอธิบดีที่เกี่ยวกับการก่อสร้างทาง มีการจ่ายเงินหรือเรียกรับเงินกันถึง 300-400 ล้านบาท
ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้นำเสนอข่าวการอภิปรายดังกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวหาโจทก์ว่าเป็นผู้มีอิทธิพล มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการได้ตามใจตนเอง และทำสิ่งไม่ดี ทำสิ่งเลวร้ายด้วยการเรียกรับเงินซื้อขายตำแหน่ง ทั้งที่ทราบดีว่าเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง สร้างความเสียหายต่ออาชีพและหน้าที่การงานของโจทก์ จึงขอเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง และขอให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งคดีนี้ศาลได้ยกฟ้อง นายจาดุร อภิชาตบุตร จำเลยที่ 1 ไปตั้งแต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นบริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการและบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นการหมิ่นประมาท แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ข้อความดังกล่าวเป็นใคร หรือจำเลยที่ 2 -3 เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร อีกทั้งได้มีพระราชบัญญัติ จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาใช้แทน พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งระบุว่า บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไม่ต้องรับผิด เพราะไม่ใช้ผู้เขียน หรือผู้แถลง หรือผู้อภิปราย จึงไม่ต้องรับโทษ อีกทั้งเนื่องจากตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้นมุ่งเอาผิดเฉพาะผู้จดแจ้งเว็บไซต์ ที่สามารถตรวจสอบกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเว็บไซต์ แต่ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นศาลว่าจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องเป็นผู้จดทะเบียนเว็บไซต์หรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ จึงยังฟังไม่ได้จำเลยที่ 2-3 กระทำผิด พิพากษายกฟ้อง