xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปม “ไทยพีบีเอส” ทีวีสาธารณะ...จริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


วงการสื่อสารมวลชนแต่ละค่าย ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ก่อนถึงความเป็นสื่อจริงหรือสื่อเทียม ว่าตัวตนที่แท้จริงนั้น รับใช้กลุ่มธุรกิจการเมืองหรือไม่อย่างไร ก่อนที่จะย้อนถามถึงจริยธรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่จำเป็น ต้องตรวจสอบการทำหน้าที่ในวิชาชีพด้วยกันเอง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐฯ บริหารกิจการโดยไม่ต้องพึ่งลำแข้งลำขาของตัวเอง...
ลือกันหนาหูถึงเรื่องความโปร่งใส ในการจัดสอบ “ไทยพีบีเอส” สอดคล้องกับบทความของสนานจิตต์ ที่เขียนไว้ในคอลัมน์ “โลกมายา” หน้า 7หนังสือพิมพ์สยามดารา ประจำวันพุธที่ 17 ตุลาคม 2555 ที่วิพากษ์วิจารณ์ความฟอนเฟะในองค์กรแห่งนี้ เข้าทำนอง “แดนสนธยา” มีการเล่นพรรคเล่นพวกในองค์กรเป็นอย่างมาก จนเกิดจดหมาย “เปิดผนึก” ประท้วงของสหภาพแรงงานพนักงานไทยพีบีเอสที่ออกมาเรียกร้องว่ามีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงใน “ทีวีสาธารณะ อย่าง ไทยพีบีเอส”
อีกทั้งคุณสนานจิตต์ ยังยืนยันว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวกใน “ไทยพีบีเอส” จริง ถึงขนาดที่ว่าตนเองเคยเสนอรายการที่อยากผลิตเข้าไป เป็นรายการเกี่ยวกับการ “วิจารณ์หนังอย่างตรงไปตรงมา” แต่ไม่ได้รับการพิจารณา
กลับมาที่เรื่องประเด็นการเปิดสอบที่อ้างว่าไม่โปร่งใส??
เรื่องนี้ต้องบอกก่อนว่าผู้เข้าสอบรายหนึ่ง (ไม่ประสงค์จะออกชื่อ) ได้ทำการร้องเรียนผ่านไปยังคุณสุมนา สุวรรณอำภา สำนักรับฟังและการมีส่วนร่วมไทยพีบีเอส เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยเจ้าหน้าที่ท่านนี้ได้แจ้งว่าได้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งให้ผู้บริหารระดับสูงทราบแล้ว ถ้ามีความคืบหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบตามขั้นตอน
เนื้อหาใจความในคำร้องเรียนระบุว่าขอเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการเปิดสอบคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวรายการ “เปิดปม” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยอ้างว่าผลประกาศผู้มีสิทธิ์เข้าสอบสัมภาษณ์ เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์ในการผลิตรายการ “เปิดปม” อยู่แล้ว จึงเกรงว่าการเปิดสอบแข่งขันครั้งนี้เป็นเพียงการจัดฉากแหกตาคนนอกให้มาร่วมสอบแข่งขัน
เพราะได้ชูธง! รับคนภายในไว้ก่อนแล้ว
ผู้ร้องแจ้งว่าผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขันมีทั้งสิ้น 4 คน แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาการสอบแข่งขันกลับมีผู้เข้าสอบ 2 คน คือผู้ร้องและหญิงผู้เข้าร่วมการสอบแข่งขัน ซึ่งถือเป็นคนในของไทยพีบีเอสอยู่แล้วเข้าร่วมสอบเท่านั้น ดังนั้นการสอบแข่งขันครั้งนี้สัดส่วนในการสอบแข่งขันจึงน้อยมาก!!!
ผู้ร้องมั่นใจว่าทำข้อสอบได้ เมื่อติดต่อขอเข้าพบ ผอ.ฝ่ายบุคคล กับถูกบ่ายเบี่ยงจากเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งมีเพียงชายคนหนึ่งที่อ้างว่าสามารถชี้แจงได้แทน นำข้อสอบมากางให้ดูผ่าน ๆ ว่าผู้ร้องสอบตกไปเพียง 1 คะแนน โดยเกณฑ์ผ่านอยู่ที่ 18 คะแนน ผู้ร้องได้ 17 คะแนน ส่วนคะแนนสอบความรู้เฉพาะด้าน (ข้อสอบอัตนัย) ผู้ร้องสอบผ่าน

เขาร้องเรียนไปตั้งแต่วันประกาศผลผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ (ผู้สื่อข่าวรายการเปิดปม) วันที่ 10 ตุลาคม 2555 จวบจนกระทั่งวันเวลาผ่านพ้นไปจนมีการสอบสัมภาษณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าก็คงจะประกาศรับรองผลในเร็ววันนี้ เพราะผู้เข้าสอบสัมภาษณ์มีเพียงท่านเดียวและมีดีกรีเป็นคนในรายการเองเสียด้วย

เป็นประเด็นขึ้นมาทันที!! หากไม่เจอมากับตัวก็คงไม่มีทางได้รู้ “เล่นพรรคเล่นพวก เปิดสอบรับคนในเข้าทำงาน” ว่าจะมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับสื่อสาธารณะ อย่าง “ไทยพีบีเอส” ที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้มีสื่อโทรทัศน์สาธารณะที่ปราศจากการครอบงำของ “นายทุน” และ “นักการเมือง” ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าทำให้สื่อมีความบิดเบือนไปจากสภาพความเป็นจริงค่อนข้างมาก หลายสื่อไม่ว่าจะเป็น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถูกอำนาจทั้ง 2 ส่วนนี้เข้าครอบงำจนประชาชนผู้บริโภคสื่อไม่ได้รับข้อเท็จจริง หรือบางครั้งถึงขั้นไม่มีการนำเสนอข่าวก็มี

ถามหน่อย...หากมีการเล่นพรรคเล่นพวกเอาคนในเข้าทำงานเช่นนี้ “ไทยพีบีเอส” จะมีความเป็นกลางและมีคุณภาพได้อย่างไร อย่าลืมว่า “ไทยพีบีเอส” ใช้เงินภาษีบาปจากประชาชนมาอุดหนุน “ไทยพีบีเอส” ไม่ใช่ของใคร หรือ กลุ่มใด แล้วรายการเปิดปม ก็เป็นรายการที่ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น หากเป็ดสอบรับคนในเข้าทำงานกันเองเช่นนี้ มันสง่างาม และเหมาะสม แล้วหรือ??

ย้อนรอยไปเป็นเวลากว่า 5 ปี “ไทยพีบีเอส” หรือ อ องค์การกระจาย เสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai Public Broadcasting Service) หรือ ส.ส.ท. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 โดย พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อดำเนินการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่สนับสนุนการพัฒนาสังคม ที่มีคุณภาพและคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ

โดยมีเงินอุดหนุนจากภาษีบาป (สุรา - บุหรี่) ปีละ 2 เปอร์เซ็นต์จากยอดภาษีบาปกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังแต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ในการผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ
1. ส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชน ในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรม มีความกล้าหาญในการรายงานข่าวสารและเสนอประเด็นโต้เถียง โดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
2. เป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาวะ แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกระดับอายุ ให้เป็นพลเมืองคุณภาพ
3. สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับสุนทรียภาพให้กับสังคม
4. ส่งเสริมเอกลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม
5. สะท้อนความหลากหลายของสังคม เป็นพื้นที่ให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเฉพาะต่างๆอย่างเหมาะสม ทั้งในระดับชุมชนและระดับชาติ
6. เพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ชุมชน ประชาชน และประชาคมโลก
โดยประกาศยึดมั่นในข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพ
ส.ส.ท. ยึดมั่นจริยธรรมอย่างเคร่งครัดในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานทุกระดับของ ส.ส.ท. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทางด้านจริยธรรมของวิชาชีพที่ให้ความสำคัญกับความเที่ยงตรง ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นอิสระของวิชาชีพ และความรับผิดชอบต่อสาธารณชน

ฟังดูแล้วเจตนาในการก่อเกิด “ไทยพีบีเอส” ดีและชัดเจตนาการที่จะผลิตสื่อโทรทัศน์ที่มีคุณภาพเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
งบประมาณปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท สามารถทำให้คนไทยได้มีโอกาสได้มีทีวีสาธารณะซึ่งปราศจากการครอบงำจาก “นายทุน” และ “นักการเมือง” อย่างแท้จริงยกระดับทีวีไทยให้ “ไทยพีบีเอส” ได้เทียบเคียงกับทีวีสาธารณะระดับโลกอย่าง “บีบีซี” ของอังกฤษ ที่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่คนทั่วโลกเชื่อถือในความถูกต้องและเป็นกลางของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอไปทั่วโลก ก็ถือว่า “คุ้มแสนคุ้ม”

คงไม่มีอำนาจไปตัดสินได้ว่าการกระทำเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ คงต้องเป็นหน้าที่ของคนชื่อ “สมชัย สุวรรณบรรณ” ลูกหม้อเก่า บีบีซี ที่ปัจจุบันมาดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส สด ๆร้อน ๆ ว่าจะมีความกล้าหาญชาญชัยเพียงใด ที่จะปัดเป่าองค์กรของตัวเองให้เกิดความโปร่งใส ไร้เส้นไร้สาย ไม่มีใบสั่งมา ก่อนที่จะอ้างว่าตัวเองคือ สื่อสาธารณะตัวจริง ทั้งที่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

ถ้าทำได้ค่อยมาว่ากันว่าคนไทยจะมีสื่อโทรทัศน์สาธารณะที่โปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ เหมือนดั่ง “บีบีซี”

จักรนารายณ์.


กำลังโหลดความคิดเห็น