xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค - เทพเทือก” เบิกความคดีพัน คำกอง แท็กซี่แดงถูกยิงตาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
“มาร์ค - เทพเทือก” เบิกความคดีนายพัน คำกอง เเท็กซี่แดงถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานนีรถไฟแอร์พอร์ลิงก์สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่ราชประสงค์ ปัดระหว่างเกิดเหตุชายชุดดำกำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ตอนตี 1 จนพบนอนเป็นศพอยู่ใกล้บังเกอร์ด้วยคมกระสุนปริศนา "มาร์ค"ไม่หวั่นตกเป็นจำเลยสังคมชี้มาเบิกความในฐานะพยาน

ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลนัดไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญายื่นคำร้องขอให้ศาลชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียม ใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์สถานีราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 ระหว่างเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่ราชประสงค์

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาศาลตามหมายเรียกในฐานะพยาน

ก่อนการเบิกความ นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากภรรยาของนายพัน เปิดเผว่า ประเด็นคำถามในการไต่สวนพยานจะเน้นเรื่องการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเหตุความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่

เมื่อถึงเวลานัด นายอภิสิทธิ์แถลงต่อศาลว่า ขอเบิกความในช่วงบ่าย เนื่องจากในช่วงเช้าติดภารกิจ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต หลังจากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับทันทีโดยไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

ต่อมา พล.ต.อ.ปทีปได้ขึ้นเบิกความเป็นปากแรกสรุปว่า ช่วงเกิดเหตุพยานมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ซึ่งมีนายสุเทพเป็นผู้อำนวยการ มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ควบคุมสถานการณ์และแก้ไขสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติ และรักษาความสงบเรียบร้อย โดยหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมของ ศอฉ. คือ 1. ไม่ใช้ความรุนแรง 2. ใช้การเจรจาเป็นหลัก 3. หากจำเป็นต้องใช้กำลังให้พิจารณาจากเบาไปหาหนักตามหลักสากล โดยจะเตือนให้ทราบก่อนทุกขั้นตอน ซึ่งการใช้กำลังที่หนักที่สุดคือการใช้กระสุนยางที่ยิงด้วยปืนลูกซอง เพื่อป้องกันตัว

ทั้งนี้ ในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกคอกวัว และราชประสงค์ ตามยุทธศาสตร์ได้วางกำลังปิดล้อมไว้ 3 ชั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฉพาะชั้นที่ 2 และ 3 โดยมีเพียงโล่และกระบองเป็นอาวุธ ซึ่งการสลายการชุมนุมในวันที่ 11 เม.ย. 53 ที่แยกผ่านฟ้าเป็นการดำเนินการของฝ่ายทหาร แต่ตนจำไม่ได้ว่าใครเป็นหัวหน้าที่ควบคุมดูแลสั่งการ ซึ่งไม่สามารถขอคืนพื้นที่ในส่วนสะพานผ่านฟ้าฯ ได้ โดยในรายละเอียดการปฏิบัตตนไม่ทราบ เพราะพยานมีหน้าที่ดูแลด้านนโยบาย และเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาทำงานร่วมกับ ศอฉ.เท่านั้น

นอกจากนี้ ในการควบคุมดูแลการชุมนุมในพื้นที่ราชประสงค์นั้น ตนทราบว่าวันที่ 14 พ.ค.มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพกอาวุธปืนพกได้ เนื่องจากช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนสีลม 2 นาย และก่อนหน้านี้ก็ได้มีเหตุการณ์รุนแรง โดยมีการลอบวางระเบิดรอบๆ กรุงเทพฯ และยิงอาวุธปืนเอ็ม 79 ที่แยกศาลาแดง

สำหรับการสลายการชุมนุมที่ถนนราชปรารภ บริเวณที่นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิต ตนไม่เคยเห็นรายงานสรุปเหตุการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจเนื่องจากในรายงานดังกล่าวได้จัดทำหลังจากที่ตนได้เกษียณอายุไปแล้ว และแม้ว่าตามหลักการแล้วหากมีผู้เสียชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่โดยเร็ว แต่กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปยังที่เกิดเหตุได้ เนื่องจากมีการปะทะกันอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ตนยังปฏิบัติหน้าที่ใน ศอฉ. ในส่วนของตำรวจไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในเรื่องของการใช้อาวุธปืน ถ้าตำรวจทำอะไรเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมตนในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. และผู้ช่วย ศอฉ.จะต้องทราบดังกล่าว

ต่อมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศอฉ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.บริเวณแยกผ่านฟ้า และถนนราชดำเนินนอก เนื่องจากรัฐบาลต้องการเปิดเส้นทางการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางมาจากสะพานพระปิ่นเกล้า และสะพานพระราม 8 โดยวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักตามลำดับ คือ ใช้ โล่ และกระบอง รถฉีดน้ำ น้ำแก๊สน้ำตา และปืนลูกซองกระสุนยาง ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 13.00 น.จนถึงเวลา 16.15 น.จึงสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่และกลับที่ตั้ง แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลา 1 ทุ่ม มีกลุ่มชายชุดดำซึ่งปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ใช้อาวุธสงคราม ทั้งปืนเอ็ม 16 ระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดขว้างเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณแยกคอกวัว และถนนดินสอ ซึ่งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มีทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร จากเหตุการณ์ดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบสำนวนการสอบสวน กระทั่งได้จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายรวม 26 คน

นายสุเทพกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ชายชุดดำใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่ ทาง ศอฉ.จึงต้องมีมาตรการต่างๆ ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป คือ มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถมีอาวุธปืนประจำได้ ให้มีสิ่งกั้นขวางระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และให้รักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ประมาณ 150 เมตร ต่อมาเมื่อผู้ชุมนุม นปช.ได้ย้ายไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ศอฉ.ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตั้งด่านสกัดตามจุดต่างๆ เช่นถนนราชปรารภ ถนนเพลินจิต เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปชุมนุมเพิ่มเติมที่บริเวณแยกราชประสงค์ ส่วนกรณีที่นายพัน คำกอง ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณราชปรารภนั้น ได้รับรายงานในภายหลัง จากเจ้าหน้าที่ว่าเมื่อคืนวันที่ 15 พ.ค.เวลา 01.00 น.มีรถตู้วิ่งผ่านเข้ามาขณะที่เจ้าหน้าที่ถูกคนร้ายเข้าโจมตีด้วยอาวุธสงคราม ซึ่งเป็นการยิงตอบโต้กันระหว่างเจ้าหน้าที่และคนร้าย หลังจากนั้นจึงพบนายพัน คำกอง เสียชีวิตอยู่ใกล้บังเกอร์หรือที่กำบัง ซึ่งหลังเกิดเหตุกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำสำนวนของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด และแม้จะส่งสำนวนกลับไปให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลตรวจพิสูจน์สาเหตุตายอีกครั้ง โดยให้ผู้เชี่ยวชาญทำการพิสูจน์บาดแผลและตรวจสอบกระสุนปืน ก็ไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัดว่านายพัน คำกองและผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ เสียชีวิตจากการกระทำของฝ่ายใด

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเบิกความ ว่า การเสียชีวิตจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี2553 นั้นสาเหตุเกิดจากในกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมมีการใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดในการก่อเหตุขึ้นมา

แต่ทางรัฐบาลไม่มีนโยบายใดๆที่จะใช้กำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. แต่ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ จะสังเกตได้ว่าในช่วง 2-3 ปี หลังนี้ทางสหประชาชาติให้ความสนใจในเหตุการณ์ความรุนแรงหลายประเทศ แต่เหตุการณ์ในประเทศไทยทางสหประชาชาติก็ไม่ได้กล่าวหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 ว่ามีการละเมิดสิทธิและใช้ความรุนแรง

เหตุการณ์ในการชุมนุมปี255 3นั้นตนได้แต่งตั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ และผอ. ศอฉ.ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในช่วงหลังแต่ระหว่างที่มีการตั้ง ศอฉ. ตนมีอำนาจในการกำกับดูแลบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการสั่งการ ศอฉ.ด้วย ในฐานะนายกรัฐมนตรี

ส่วนสาเหตุที่ต้องรัฐบาลขอพื้นที่คืนจากกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น เพราะว่ากลุ่มนปช.มีการแบ่งการชุมนุมออกเป็น 2 พื้นที่ คือที่สะพานผ่านฟ้าและแยกราชประสงค์ ซึ่งไม่มีความจำเป็น ทางรัฐบาลต้องการให้ประชาชนและคนทั่วไปทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร สามารถสัญจรผ่านสะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าฯ ได้ จึงต้องมีการขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมปิดถนนอยู่ ส่วนมาตรการและวีธิปฏิบัตินั้น เป็นหน้าที่ของ ศอฉ. และต้องเป็นไปตามหลักสากลและย้ำว่าการปฏิบัติไม่ได้มีเจตนาที่จะให้มีการสลายการชุมนุม

และพยายามที่จะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เช่น กำชับให้หยุดปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ชุมนุมในช่วงเวลากลางคืน

ซึ่งก่อนช่วงเวลานั้นไม่มีการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต จนกระทั่งต่อมาได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ชุดที่ขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัวโดนกองกำลังชุดดำปิดล้อมและยิงใส่ด้วยอาวุธสงครามจนได้รับรายงานการเสียชีวิต

สำหรับการขอคืนพื้นที่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางรัฐบาลได้ยื่นขอให้ศาลแพ่งมีคำวินิจฉัยกรณีการขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มนปช. ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการขอคืนพื้นที่ได้เพราะผู้ชุมนุมชุมนุมโดยวิธีไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลกำชับให้ดำเนินการไปตามความเหมาะสมและตามหลักสากล ซึ่งการขอคืนพื้นที่ที่สะพานผ่านฟ้านั้นใช้เวลาประมาณ 3-4วันก่อนที่ผู้ร่วมชุมนุมจะย้ายไปรวมที่ราชประสงค์

ซึ่งในการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่ราชประสงค์นั้น ตนได้รับรายงานว่าในกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมมีผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ นอกจากนี้แล้วการสื่อสารของรัฐบาลกับผู้ร่วมชุมนุมเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะผู้ชุมนุมรับข่าวสารด้านเดียวจากแกนนำนปช.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะเจรจา โดยได้ส่งบุคคลไปเจรจากับแกนนำนปช.อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง ซึ่งข้อแม้ในการเจรจาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด แต่ก็มีความการเจรจากันในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการขอพื้นที่คืนที่หน้าลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ซึ่งตกลงกันและแกนนำนปช.รับปากแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามที่ตกลงกัน รวมถึงเรื่องการยุบสภาตามข้อเรียกร้องของแกนนำนปช. ซึ่งตนได้เจรจาและประกาศว่าถ้านปช.ยกเลิกการชุมนุมจริง ตนจะยุบสภาในวันที่ 14 พ.ย.2553 ซึ่งมีการรับปากตกลงกันได้แล้ว แต่ภายหลังทางแกนนำนปช.ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ต่อมาจึงได้ประกาศว่าจะไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นอีก

ส่วนคำว่ากระชับพื้นที่นั้นไม่ใช่การใช้การกำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่เป็นการกำหนดให้มีการกระชับวงล้อมเพื่อให้หยุดการชุมนุมโดยใช้วิธีกดดัน ซึ่งระหว่างนั้นแกนนำนปช.ก็พยายามเจรจาขอให้ยกเลิกการปิดล้อมและให้ชุมนุมโดยอิสระ ซึ่งรัฐบาลไม่รับข้อเสนอ เพราะไม่มีประโยชน์และจะทำให้การชุมนุมยืดเยื้อออกไปอีก

ซึ่งถ้ารัฐบาลใช้กำลังหรือมีคำสั่งสลายการชุมนุมจริงการชุมนุมต้องสลายไปทั้งหมดแต่ในความจริงแล้วขณะนั้นหลายพื้นที่ก็ยังมีการชุมนุมอยู่

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตที่เกิดจากระเบิดเอ็ม 79 ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่ได้มีการใช้ระเบิดชนิดนี้ ส่วนการเสียชีวิตโดยกระสุนปืนนั้น ต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงเพราะระหว่างการชุมนุมมีรายงานว่ามีอาวุธของเจ้าหน้าที่ถูกปล้นไปและมีการแต่งกายเลียนแบบทหาร ซึ่งในเรื่องนี้มีการส่งสำนวนคดีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) รับผิดชอบ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตามสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอนั้นมีข้อสรุปแล้วว่า มีผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่มผู้ชุมนุม จำนวน 12 ศพ

ส่วนเรื่องผู้เสียชีวิต 6 ศพวัดปทุมนั้น ตนได้ทราบจากสื่อมวลชนและรายงานทางด้านการข่าว ทราบว่าในช่วงเกิดเหตุมีการต่อสู้กันของกองกำลังและเจ้าหน้าที่ สืบเนื่องมาจากการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์และศูนย์การค้าสยามสแควร์ ซึ่งระหว่างเกิดเหตุเพลิงไหม้จะมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และพยาบาลซึ่งผู้ก่อการจะใช้โอกาสนี้ ก่อเหตุกับบุคคลเหล่านี้ อีกทั้งตนได้รับรายงานว่า มีชายชุดดำอยู่ที่วัดปทุมวนารามอีกด้วย

หลังจากไต่สวนพยานทั้ง3ปากเสร็จสิ้น ทนายความของญาติผู้ตายแถลงหมดพยาน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งวันที่ 17 มิ.ย.นี้เวลา 09.00 น.

ภายหลัง นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ตนมาเบิกความในฐานะพยาน และไม่ห่วงว่าจะถูกมองเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งตนได้เบิกความข้อเท็จจริงไปในชั้นศาลแล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์


กำลังโหลดความคิดเห็น