xs
xsm
sm
md
lg

จากกรณีประหารชีวิตตำรวจกาฬสินธุ์ ความยุติธรรมคืออะไร? เสียงจากใจของนักสู้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ากกรณี ศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ได้ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3252/2552 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง ด.ต.อังคาร คำมูลนา อายุ 48 ปี ด.ต.สุดธินัน โนนทิง อายุ 43 ปี ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ อายุ 42 ปี พ.ต.ท.สำเภา อินดี อายุ 51 ปี อดีต สวป.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ อายุ 62 ปี อดีต ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก. สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องรับโทษ...

ย้อนไปในปี 2547 ในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติด โดยได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนส่วนหนึ่ง เพราะย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่มีเจตนาดี และหากว่าสังคมไทยปราศจากหรือลดลงซึ่งปัญหายาเสพติดได้ เพราะเป็นต้นตอของอีกหลายปัญหาในสังคมไทยก็คงจะดีไม่น้อย

แต่แล้วในความเป็นจริงกลับมีความสูญเสียเกิดขึ้นมหาศาลจากการประกาศนโยบายดังกล่าว “กาฬสินธุ์” ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับคำชมเชยว่าปลอดยาเสพติดอันดับหนึ่งของประเทศในขณะนั้นมีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญมากมาย ในช่วงเวลาดังกล่าว นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง หรือเอ็กซ์ ก็เป็นอีกชีวิตที่ต้องสูญเสีย ด้วยวัยเพียง 17 ปี นายเกียรติศักดิ์ถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ คือ ชิ้นส่วนจักรยานยนต์ที่มีมูลค่าเพียง 200 บาท

ในระหว่างการถูกจับกุม ตำรวจไม่ได้กระทำตามที่กฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาแต่อย่างใด เช่น การไม่ได้แจ้งให้ญาติของผู้ต้องหาทราบ การสอบสวนผู้ต้องหาเด็กโดยไม่มีบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดเข้าร่วมฟังการสอบสวน นอกจากนี้ นายเกียรติศักดิ์ยังถูกซ้อมทรมานอีกด้วย

ต่อมาเมื่อ นางสา ย่าผู้เลี้ยงดูนายเกียรติศักดิ์ ได้ข่าวการจับกุมหลานจากเพื่อนบ้าน จึงได้เข้าเยี่ยมนายเกียรติศักดิ์ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ก็ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนในที่สุดนายเกียรติศักดิ์ก็ได้รับการประกันตัว โดยมีสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นผู้ประกันตัวออกไป ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้แก่นางสาเป็นอันมาก เนื่องจากนางสามิได้ร้องขอ และผู้ประกันก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอันใดกับครอบครัวของตนเลย

เมื่อมีการประกันตัวเกิดขึ้น ตำรวจจึงได้อ้างว่ามีการปล่อยตัวนายเกียรติศักดิ์ไป แต่แท้จริงแล้วนายเกียรติศักดิ์ได้ยืมโทรศัพท์ของคนที่อยู่บนโรงพักโทร.มาบอกย่าของตนว่าตำรวจไม่ได้จะทำอย่างที่บอกคือจะปล่อยตัวแต่จะนำตัวนายเกียรติศักดิ์ไปฆ่า นางสาจึงรีบไปที่โรงพักแต่ก็ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้พบตัวนายเกียรติศักดิ์ ระหว่างนั้นนายเกียรติศักดิ์จึงได้โทรศัพท์หาน้าชายของตนอีกว่า ให้รีบมาช่วย และบอกว่าตนได้ยินเสียงของนางสาด้วย และได้วางสายโทรศัพท์ไป จนในที่สุดนางสาได้หลุดพ้นจากการกีดกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่นายเกียรติศักดิ์ก็ได้หายตัวไปจากโรงพักแล้ว เหลือเพียงกระเป๋าผ้าของนายเกียรติศักดิ์ที่ต่อมาก็หายไปเมื่อนางสาได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ากระเป๋าผ้าของหลานชายยังอยู่ นายเกียรติศักดิ์ก็ต้องยังอยู่

หลังจากนั้นนางสาก็ได้รับแจ้งว่าพบศพที่คาดว่าน่าจะเป็นศพของนายเกียรติศักดิ์ เมื่อไปดูก็พบว่าเป็นศพของนายเกียรติศักดิ์จริง โดยพบศพที่บริเวณกระท่อมกลางทุ่งนาในจังหวัดร้อยเอ็ด สภาพศพนั้นพบว่าถูกแขวนคอกับขื่อกระท่อม รองเท้าถูกวางอย่างเป็นระเบียบอยู่ที่พื้นโดยที่ไม่มีร่องรอยของโคลน แต่ที่เท้าของนายเกียรติศักดิ์กลับเปื้อนโคลน และจากการชันสูตรศพพบว่า ก่อนเสียชีวิตผู้ตายถูกกระทำทารุณจนก่อให้เกิดบาดแผลและรอยฟกช้ำตามร่างกาย นอกจากนี้ยังมีรอยกุญแจมือที่บริเวณข้อมือ ที่บริเวณลูกอัณฑะถูกบีบจนแตก และคาดว่านายเกียรติศักดิ์ถูกรัดคอจนเสียชีวิตแล้วจึงถูกนำไปแขวนคอไว้กับขื่อให้ดูเหมือนเป็นการฆ่าตัวตายเอง

หลังการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ฝ่ายตำรวจที่รับผิดชอบเห็นว่าไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าข้าราชการตำรวจนายใดของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ จึงเห็นควรยุติการสอบสวน และเห็นว่าไม่ควรเอาผิดทางวินัยใดๆ ต่อตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น

แต่ด้วยความเชื่อว่าตำรวจเป็นผู้ที่ฆ่านายเกียรติศักดิ์ และใจของของนักสู้ที่ต้องการเห็นความยุติธรรมและคนที่กระทำผิดได้รับโทษ นางพิกุล พรหมจันทร์ น้าสาวซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูนายเกียรติศักดิ์มาตั้งแต่เล็ก เพราะบิดามารดาของนายเกียรติศักดิ์แยกทางกัน ได้เข้าเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึง 14 หน่วยงาน นอกจากเสียทั้งเวลาและทรัพย์สินแล้วยังต้องพบกับความผิดหวังต่อระบบราชการไทยมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งชีวิตที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตรายจากผู้มีอิทธิพลที่พยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับคดีนี้ต้องถูกขู่ฆ่าทำร้าย และบ้างที่เสียชีวิต ผ่านมาเป็นระยะเวลา 5 ปีของการต่อสู้ จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีมติรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 2548 จนถึงขณะนี้ที่อัยการสั่งฟ้องซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมโดยศาล

นางพิกุลได้กล่าวถึงความรู้สึกของตนกับการต่อสู้ที่ยาวนานครั้งนี้ว่า “เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจหน้าที่และบทบาทของตนเอง ขาดคุณธรรม จริยธรรม และการที่คดีเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมโดยศาลนั้นยังไม่ถือเป็นความยุติธรรมอย่างที่อยากจะเห็นแต่ กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการไต่สวนข้อมูลความจริงให้ปรากฏ ด้วยความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลคดีต่อสาธารณชน”

โดยที่นางพิกุลมีความหวังในการต่อสู้ครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพราะต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นกับกรณีของนายเกียรติศักดิ์เพียงกรณีเดียว แต่ยังต่อสู้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริงขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ด้วยว่า

“อยากเห็นผู้กระทำผิดได้รับโทษทางกฎหมาย รับผลกรรมที่กระทำ เพื่อตัดวงจรการฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่เหลิงอำนาจ และมีพัฒนาการมาแสวงหาผลประโยชน์ ด้วยวิธีอุ้มหายไปพร้อมรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่ติดตัวผู้ถูกอุ้มหาย สร้างผลกระทบต่อสังคม มีเด็กต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าพ่อ-แม่หลายครอบครัว บางคนสามีถูกฆ่าตายขณะตั้งท้องได้ 3-4 เดือน ลูกต้องกำพร้า ค่าใช้จ่ายไม่มี ต้องไปทำงานเมืองนอก(มีสามีฝรั่ง) ทิ้งลูกไว้เมืองไทย พ่อ-แม่อายุมากก็ไม่มีคนดูแล ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่อย่างลำบาก มีอีกหลายกรณีที่เจ็บปวด ผลกระทบ ทั้งกายและใจ ต้องได้รับการช่วยเหลือ เยียวยา”

การต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งเป็นระยะอันยาวนานกับอีกฝ่ายที่ควรจะเป็นผู้รักษากฎหมายแต่กลับทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง วันนี้สังคมให้คำตอบกับผู้หญิงคนนี้ได้หรือยังว่าความยุติธรรมที่เธอต่อสู้เพื่อให้ได้มานั้นคืออะไร?

ที่มา : คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

กำลังโหลดความคิดเห็น