ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง “อลงกรณ์ พลบุตร” หมิ่นประมาท “เนวิน ชิดชอบ” บุกรุกที่การรถไฟฯ ศาลชี้ทำหน้าที่ตรวจสอบตามขั้นตอนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน อดีตรัฐมนตรี และ ส.ส.บุรีรัมย์หลายสมัย และนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคภูมิใจไทย ผู้รับมอบอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ละเมิด เรียกค่าเสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 90
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 28-29 ม.ค. 2550 นายอลงกรณ์ใส่ความหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์ โดยได้แถลงข่าวและแจกจ่ายเอกสารการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ว่านายเนวิน และนายชัย เป็นนักการเมืองผู้มีอิทธิพลในจังหวัดบุรีรัมย์ บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ ต.เขากระโดง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ รวม 2 แปลง จำนวนกว่า 44 ไร่ โดยใช้อิทธิพลความเป็นนักการเมืองให้ออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แล้วนำที่ดินไปจำนองกับสหธนาคาร และธนาคารกรุงไทย วงเงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงเกินจริง ทำให้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายเนวิน และนายศุภชัยเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกโฉนดถูกต้องตามระเบียบของกรมที่ดิน และมีผู้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมาระวังแนวเขต ทั้งยังสามารถอธิบายความเป็นมาของการออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงโดยมีหลักฐานยืนยันประกอบการเบิกความว่า ที่ดินทั้งสองแปลง นางกรุณา ชิดชอบ ภรรยาของนายเนวินซื้อมาจากนายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และสำนักงานที่ดินจังหวัดมีหนังสือลงวันที่ 11 มี.ค. 52 ซึ่งมีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่า ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ได้ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ จึงมีมติไม่ควรเพิกถอนที่ดินทั้งสองแปลง ที่นายเนวินยอมรับว่าก่อนที่นางกรุณาจะซื้อที่ดินนั้นนายเนวินรู้อยู่แล้วว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า ก่อนการแถลงข่าวจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารของการรถไฟฯ กรมที่ดิน และเอกสารการตรวจสอบของ กมธ.พิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตของวุฒิสภาแล้ว
นอกจากนี้ จำเลยยังได้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีเอกสารสิทธิที่ดินของการรถไฟฯ ทางแยกเขากระโดง ที่ระบุว่านายชัย บริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์ และนางละออง ชิดชอบ เป็นผู้ครอบครองที่ดิน รวมทั้งระบุด้วยว่านายเนวินขออาศัยที่ดินของการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ยินยอมให้อาศัย จึงเห็นได้ว่าพฤติการณ์แห่งคดีเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินพิพาทยังเป็นกรณีที่พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง และพยานหลักฐานของจำเลยยืนยันในทางตรงกันข้ามว่าการออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยชอบหรือไม่ กรณีจึงมีเหตุให้จำเลยเข้าใจว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลนเป็นของการรถไฟฯ และหลังจากการแถลงข่าวจำเลยมีหนังสือถึง พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธาน กมธ.คมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นเพื่อให้ตรวจสอบการครอบครองที่ดิน จึงเห็นได้ว่าก่อนการแถลงข่าวจำเลยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นลำดับขั้นตอน สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของเอกสารหลักฐาน รวมทั้งยังอธิบายข้อเท็จจริงในเรื่องที่ได้สืบสวนมาที่ไม่ใช่การแถลงข่าวอย่างปัจจุบันทันด่วน หรือการกล่าวอ้างลอยๆ ที่ปราศจากพยานหลักฐาน แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่ามีมูลความจริงตามที่จำเลยแถลงข่าวโดยไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ทั้งสอง
แม้ข้อความที่แถลงข่าวอาจเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นนักการเมืองเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง รวมทั้งเสนอตัวต่อประชาชนให้เลือกเป็น ส.ส.หรือส.ว. ก็แสดงว่าตนเองเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตไว้วางใจให้เข้าไปบริหารกิจการแทนประชาชน ดังนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องถูกตรวจสอบความถูกต้องของการปฏิบัติงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ การที่จำเลยแถลงข่าวกรณีดังกล่าวจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบเพื่อป้องกันการมีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) และ (3) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง
นายอลงกรณ์กล่าวหลังจากฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ตนทำหน้าที่ตรวจสอบโดยสุจริต โดยยึดหลักข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้มีการโกรธเคืองเป็นการส่วนตัว
นายอลงกรณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัด มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ว่า เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเที่ยงธรรม ซึ่งผลคำวินิจฉัยจะถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต โดยกรณีนี้จะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็อยากให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่ายยอมรับ เพราะคดีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และคิดว่าภายหลังจากมีคำวินิจฉัยแล้วจะไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง เพราะประเทศก็บอบช้ำมามากแล้ว