xs
xsm
sm
md
lg

โปรดส่งที่กั้น... มาให้ฉันที !(ตอน1)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“โปรดส่งใครมารักฉันที... อยู่อย่างนี้มันเหงาเกินไป ...” วันนี้ครองธรรมฯ จะนั่งรถไฟฟ้าไปทำธุระเลยเผลอฮัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ เพราะอินคิดว่าตัวเองเป็นเคน ธีรเดช ระหว่างยืนรอขบวนรถไฟฟ้าอยู่เพลินๆ ผมกะว่าจะชะโงกไปดูว่าใกล้มาหรือยัง... ใจก็แว๊บไปนึกถึงเหตุการณ์ที่พนักงานแบงก์ท่านหนึ่งชะโงกหน้าออกไปดูรถไฟฟ้าแล้วเกิดพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้า...ทำให้ผมถึงกับชะงักยืนตัวเกร็งไม่กล้าแตกแถว เมื่อถึงสถานีเป้าหมายผมก็ออกจากสถานีแล้วเดินเลียบมาตามรางรถไฟบริเวณ ถ.อโศก-เพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุที่นิสิตจุฬาฯ ถูกรถไฟเกี่ยวกระเป๋าขณะจะเดินทางไปมหาวิทยาลัยเนื่องจากใส่หูฟังแล้วไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนของรถไฟ... เกิดอะไรขึ้นกับผมเนี้ย ? ใจผมถึงกับเรียกร้องที่กั้นขึ้นมาทันที…
โชคดีที่ผมปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นอย่างปลอดภัย ... ครั้นกลับมาถึงที่ทำงานยังไม่ทันหย่อนก้นลงที่เก้าอี้ ตาผมก็กวาดไปเจอคดีซึ่งเกี่ยวกับที่กั้นตามมาหลอกหลอนอีก เมื่อบังเอิญได้ถึงขนาดนี้ผมจึงหมายมั่นปั้นมือที่จะนำคดีดังกล่าวมาบอกเล่ากับท่านผู้อ่าน เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่หน่วยงานของรัฐรวมทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้พวกเราทุกคนไม่ประมาทในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยครับ...
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้เช่าซื้อรถยนต์กระบะคันหนึ่ง สภาพใช้งานมาแล้ว ในราคา 265,233.64 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในสัญญาได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อจะต้องบำรุงรักษา ซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้อยู่ในสภาพเดิม เรียบร้อย ใช้การได้ดีอยู่เสมอ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อ
ในวันเกิดเหตุ...ผู้ฟ้องคดีได้ให้นายนิวบุตรเขย ขับรถยนต์คันดังกล่าวขนของไปส่งที่บ้านของผู้ฟ้องคดีที่ต่างจังหวัด โดยมีนายจิ๋วนั่งไปเป็นเพื่อนด้วย จากนั้นเวลาประมาณ 5 ทุ่ม นายนิวซึ่งขับรถมาตามเส้นทางและกำลังจะขับขึ้นสะพานโดยที่ไม่ทราบว่าสะพานดังกล่าวชำรุดเสียหายจากอุทกภัยใช้สัญจรไม่ได้มากว่า 1 ปีแล้ว เพราะไม่เห็นป้ายเตือนและไม่ได้มีการทำเครื่องกีดขวางหรือที่กั้นตรงบริเวณทางเข้า นายนิวจึงได้ขับรถเข้าไปโดยหารู้ไม่ว่าสะพานขาด!!! เป็นเหตุให้รถลอยละล่องตกลงไปในแม่น้ำ โชคดีที่ทั้งนิวและจิ๋วปลอดภัย แต่รถของผู้ฟ้องคดี... พังยับเยินไปตามระเบียบ !
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่องค์การบริหารส่วนตำบล ก (ผู้ถูกฟ้องคดี) ละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และละเลยไม่ดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาทางที่พิพาทให้สามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวมาจากสำนักงานทางหลวงชนบท
ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีในส่วนของค่าซ่อมรถ เป็นเงิน 250,000 บาท ค่าเสียหายที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากรถยนต์ได้ 5 เดือน เดือนละ 20,000 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท และค่าเสื่อมราคารถยนต์อีก 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธความรับผิด เรื่องจึงขึ้นสู่...ศาลปกครอง

ประเด็นแรกที่ศาลต้องพิจารณาก่อนที่จะวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีก็คือ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองหรือไม่ ?
โดยผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้
เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าองค์การบริหารส่วนตำบล ก กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีจากการละเลยต่อหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และละเลยต่อหน้าที่ในการซ่อมแซมบำรุงรักษาทางที่พิพาท เป็นเหตุให้รถยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้ฟ้องคดีซึ่งมีนายนิวบุตรเขยเป็นผู้ขับขี่ตกสะพานข้ามแม่น้ำชำรุดเสียหาย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยังไม่ครบก็ตาม แต่ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิจะยึดถือรถยนต์คันดังกล่าวและใช้ประโยชน์ ตลอดจนมีหน้าที่ดูแลรักษารถให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีตลอดไป และเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ใช้เงินครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว รถยนต์คันดังกล่าวย่อมตกเป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดี หรือกรณีหากเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ฟ้องคดีก็มีหน้าที่ต้องส่งรถยนต์คืนให้ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเดิม
ฉะนั้น เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวเสียหายและขาดประโยชน์ในการใช้งาน และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าความเสียหายนี้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ก ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี และคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง
ส่วนข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า บุตรเขยของผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ยืมรถผู้ฟ้องคดีไปใช้ จึงเป็นกรณีการยืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุตรเขยของผู้ฟ้องคดีจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี และเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง มิใช่ผู้ฟ้องคดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่ใช้ให้บุตรเขยขับรถขนของไปส่งที่บ้านของผู้ฟ้องคดีซึ่งอยู่ที่ต่างจังหวัด โดยบุตรเขยมิได้เป็นผู้ยืมรถจากผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง หากแต่เป็นบุตรเขยของผู้ฟ้องคดีนั้น...จึงฟังไม่ขึ้น !
สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้อย่างแน่นอนแล้ว แต่จะเป็นผู้ชนะคดีด้วยหรือไม่ ? ต้องตามดูเฉลยคราวหน้าคร๊าบ....
ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น