xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านหัวทาง” โมเดลดับไฟใต้ตามโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. พร้อมด้วย  พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป.  เข้าตรวจเยี่ยมโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”ในชุมชนบ้านหัวทางใน ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล โดยมี นายวัชรินทร์ อบทอง โต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดเราด่อตุ้ลญันนะห์และชาวบ้านกว่า 100 คนให้การต้อนรับ
ชุมชนบ้านหัวทางใน ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล เป็นชุมชนมุสลิมเล็กๆมีบ้านเรือน 60 หลังคาเรือน ประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 200 คน ในจำนวนนี้มีชาวไทยพุทธอยู่ร่วมเพียง 1 ครอบครัว ที่ผ่านมาชุมชนดังกล่าวต้องประสบกับปัญหาสารพัดทั้งอาชญากรรมและยาเสพติด เหมือนที่หลายๆชุมชนในประเทศนี้ต้องเผชิญ แต่ด้วยความสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน ทำให้ชุมชนดังกล่าวประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 6 กองปราบปรามคอยเป็นพี่เลี้ยงสร้างเป็นชุมชนต้นแบบแห่งแรกของภาคใต้ตามโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” โดยหวังเป็นโมเดลแก้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ที่กำลังคุโชนด้วยไฟในขณะนี้

ด.ต.สุทธินันท์ อนันธขาล หรือบังยาซีน เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 บก.ป.ผู้ริเริ่มนำทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมาใช้ในชุมชนหัวทางเล่าว่า บ้านเดิมอยู่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช แต่มาตั้งรกรากที่ชุมชนแห่งนี้เกือบสามปีแล้ว เนื่องจากภรรยาทำงานอยู่ที่ จ.สตูล แต่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ จึงมาซื้อที่ดินและปลูกบ้านที่นี่ หลังจากออกเวรก็มาพักอยู่กับภรรยาได้เห็นปัญหาต่างๆนานา เช่นปัญหาลักเล็กขโมยน้อย และยาเสพติด ทั้งกัญชา กาว น้ำกระท่อม ยาบ้า โดยแหล่งมั่วสุมเป็นศาลาท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มีต้นโกงกางรกครึ้ม และมีนกเงือกอีกด้วย

“เชื่อไหมขนาดถังแก๊สของพ่อค้าแม่ค้าล่ามกุญแจไว้หน้าบ้านก็ยังถูกขโมย นอกจากนี้ท้ายหมู่บ้านก็เต็มไปด้วยหนุ่มสาวมาพลอดรักกัน ดมกาว สูบกัญชา กินเหล้ากินเบียร์” ด.ต.สุทธินันท์ เล่าถึงปัญหาที่เพิ่งมาเจอช่วงแรกๆ

“พวกวัยรุ่นที่นี่ติดยาเหมือนชุมชนอื่นๆผมก็คอยเก็บข้อมูลไว้ โดยไม่บอกให้ใครรู้ว่าผมเป็นตำรวจ เห็นวัยรุ่นกินเหล้าเบียร์พอเมาแล้วปาขวด นอกจากนี้ดึกดื่นค่ำคืนจะมีพวกแก๊งรถซิ่งใช้ถนนแข่งรถประลองความเร็วเป็นประจำ สร้างความเดือดร้อนรำคาญมาก ผมจดไว้หมด พร้อมทั้งเข้าไปตักเตือน ว่ามันไม่เหมาะเพราะที่นี่เป็นชุมชนมุสลิม” ด.ต.สุทธินันท์ กล่าว

นานเข้าปัญหาดังกล่าวกำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่อาจจะแก้ได้ยากขึ้น แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชาวบ้านสุดทนกับปัญหาฟอนเฟะของสังคมเมื่อวัยรุ่นอายุ 18 ปีในหมู่บ้านถูกวัยรุ่นต่างถิ่นขี่รถจักรยานยนต์ตามมายิงตายถึงในบ้าน โต๊ะอีหม่ามและชาวบ้านก็ร่วมประชุมกันว่าชุมชนนี้มีปัญหามากขึ้นทุกวันต้องมีมาตรการป้องกันชุมชนขึ้นมาบ้าง ผมก็เข้าไปร่วมฟังเขาประชุมกัน ชาวบ้านอยากตั้งอาสาสมัครดูแลชุมชน ผมได้ฟังแล้วก็ยอมบอกความจริงกับชาวบ้านว่า “ผมเป็นตำรวจกองปราบปราม” เขาก็ยังงง เพราะเราไม่เคยบอกใครว่าเป็นตำรวจ แต่เขาเห็นเราเหมือนลูกหลานมาอยู่ที่นี่นานจึงไว้ใจ ให้เราตั้งโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”ที่ชุมชนแห่งนี้ขึ้น

ต่อมาผมได้ปรึกษากับ พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป. ท่านก็ชื่นชมและให้ความสำคัญพร้อมทั้งรีบรายงานให้ พล.ต.ต.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. จึงได้รับการสนับสนุนจัดตั้ง โครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ที่นี่เป็นแห่งแรกของภาคใต้

จากนั้นทางผู้บังคับบัญชา ได้มอบหมายให้ ผมกับ พ.ต.ต.สิงหา ควรบำรุง สว.กก.6 บก.ป.นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าร่วมโครงการ จากการสอบถามความต้องการของชุมชนคือ ก่อนหน้านี้เด็กหนุ่มในหมู่บ้านเจอกลุ่มวัยรุ่นต่างถิ่นหลายคนพาหญิงสาวจะมารุมโทรมที่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นป่าชายเลน เปลี่ยวมาก เขาจะเข้าช่วยเหลือแต่ก็ไม่กล้าเข้าไปเพราะกลัวว่าคนร้ายจะมีอาวุธ พวกเขาจึงขอให้สอนศิลปะการป้องกันตัว ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ กฎหมายและสนับสนุนด้านการกีฬา พัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมทั้งถนน ศาลา และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง นอกจากนี้ได้ตั้งป้อมยาม ตั้งด่านตรวจและจัดตั้งอาสาสมัครมีการตรวจตรารักษาความปลอดภัยภายในหมู่บ้าน ซึ่งอาสาสมัครวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เคยติดยา เคยติดคุก เราให้โอกาสเขา เพื่อเขาจะได้กลับตัวเป็นคนดี

นายวีระวัฒน์ เก็บกาเม็น อายุ 17 ปี หนึ่งในอาสาสมัครเล่าว่า อาสาสมัครมีประมาณ 30 คน ผลัดเวรกันผลัดละ 10 คน ก่อนหน้านี้มีวัยรุ่นในหมู่บ้านกินน้ำกระท่อม สูบกัญชา เมื่อโครงการนี้ตั้งขึ้นมาทางผมและเพื่อนที่เป็นอาสาสมัครก็จะเข้าไปตักเตือน โดยตำรวจบอกว่าให้เตือนเขาก่อน เมื่อเราเตือนดีๆเขาก็แยกย้ายกันไป หลังจากโครงการนี้ตั้งขึ้นมาพบว่าสามารถช่วยให้ชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติด ลักขโมยและแก๊งรถแข่งได้ เมื่อก่อนมีโจรมาก แต่เดี๋ยวนี้รถจักรยานยนต์จอดเสียบกุญแจลืมไว้หน้าบ้านหรือบนฟุตบาธในเวลากลางคืนก็ไม่หายแล้ว จากที่เมื่อก่อนเคยหายกันบ่อยมาก

ด้าน นายวัชรินทร์ อบทอง โต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดเราด่อตุ้ลญันนะห์ ในชุมชนหัวทาง เล่าว่า ก่อนหน้านี้เราเดือดร้อนกับเรื่องรถแข่งมากเพราะส่งเสียงดังจนชาวบ้านนอนไม่หลับ นอกจากนี้ยังมีปัญหายาเสพติดและลักเล็กขโมยน้อยก็มากขึ้น เมื่อตำรวจกองปราบมาลงพื้นที่เขามาไม่เหมือนตำรวจหน่วยอื่น คือเข้ามาสนิทใกล้ชิดเหมือนญาติพี่น้อง ถามว่าชุมชนเราต้องการอะไร ทำให้พวกเรากล้าพูดกล้าแสดงออก ไม่มีความหวาดระแวงว่าจะมาทำอะไรให้ไม่สบายใจ ซึ่งหลังโครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นมาเกือบ 3 ปี ปัญหาดังกล่าวก็หมดไป นอกจากนี้เรื่องความสามัคคีระหว่างพี่น้องต่างศาสนาไม่มีปัญหา เพราะชุมชนเรามีพี่น้องไทยพุทธอยู่ 1 ครัวเรือน แต่ก็อยู่กันฉันท์พี่น้องจนแยกกันไม่ออก มีงานที่มัสยิดเพื่อนบ้านที่เป็นไทยพุทธเขายังมาช่วยตลอด ซึ่งหากชุมชนใดที่มีปัญหาดังกล่าวทางเรายินดีที่จะให้ ท่านมาศึกษาดูงานที่ชุมชนหัวทางของเราได้

ส่วนพระครูปลัดวรพล ฐิติคุโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดควนกาหลง ที่เข้าชมโครงการดังกล่าว บอกว่า เป็นโครงการที่ดีมาก ตำรวจกองปราบทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตำรวจเป็นมิตรไม่ใช่มาคอยจับผู้กระทำผิดอย่างเดียว อย่างไรก็ตามทางอาตมาอยู่ในระหว่างศึกษาโครงการนี้อยู่ ซึ่งจะประสานให้เจ้าหน้าที่ไปเปิดโครงการดังกล่าวที่ชุมชนวัดควนกาหลงเพราะยาเสพติดกำลังเริ่มแพร่ระบาดมากขึ้น และมีปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนอีกด้วย ทั้งนี้อาตมาเชื่อว่าศาสนาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจมนุษย์ ทั้งมัสยิด และวัดล้วนมีบทบาทอย่างมาก ความรักความสามัคคี ช่วยกันทำความดี เพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมาทางอาตมากับโต๊ะอีหม่ามหลายๆท่านได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาในชุมชนกันตลอดเวลา

พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีการดำเนินการมาประมาณ 3 ปี โดยให้เจ้าหน้าที่เข้ามาคลุกคลีกับชาวบ้านเพื่อลดความหวาดระแวง ซึ่งทางเราพบว่าก่อนหน้านี้ชุมชนดังกล่าวมีคดีลักทรัพย์และยาเสพติดแพร่ระบาดอย่างหนัก จึงเข้าไปหารือกับโต๊ะอีหม่ามและชาวบ้าน กระทั่งร่วมกันตั้งโครงการดังกล่าว โดยนำเด็กกลุ่มเสี่ยงติดยาเสพติด และวัยรุ่นที่เคยหลงผิดเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเพื่อให้โอกาสเขา หลังจากนั้นไม่นานปัญหาดังกล่าวก็เริ่มหมดไป

จากการประเมินผลพบว่าโครงการดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจมาก ซึ่งทางเราเตรียมจะจัดตั้งชุมชนเพิ่มขึ้นอาจจะแถวสะบ้าย้อย จ.สงขลาซึ่งมีอัตลักษณ์และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด จากนั้นก็จะรุกเข้าไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่นำหลักรัฐศาสตร์มาใช้ร่วมด้วย ไม่ได้ใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่เข้าไปลดความหวาดระแวงระหว่างตำรวจกับประชาชนได้ เชื่อว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงได้ ” พ.ต.อ.ทินกร กล่าวด้วยแววตาเป็นประกาย

ด้าน พ.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. อธิบายถึงทฤษฎีตำรวจยุคใหม่ ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ที่ต้องการถ่ายทอดความเข้าใจใหม่ในการปราบปรามอาชญากรรมตามนโยบายตำรวจ “กลับหลังหัน” โดยการเรียนรู้ศาสตร์ที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เรียกว่า “5 ทฤษฎี 1 หลักการ”

คือ 1.ทฤษฎีบังคับใช้กฎหมาย โดยการทำหน้าที่จับผู้ร้าย 2.ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ โดยทำหน้าที่เป็นเพื่อนของชุมชน ช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างตำรวจกับประชาชน 3.ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ 4.ทฤษฎีป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม โดยทำหน้าที่เป็นนักวางแผนป้องกัน 5.ทฤษฎีหน้าต่างแตก โดยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อย เมื่อพบปัญหา ให้รีบแก้ไขทันที ก่อนที่ปัญหาเล็กๆ จะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนอีกหลักการ คือ หลักการพัฒนาและแก้ปัญหาที่พลิกผันไปตามแนวทางของชุมชน โดยทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์และแก้ปัญหา

ผบก.ป.อธิบายต่อว่า โครงการตำรวจผู้นับใช้ชุมชนเป็นการริเริ่มของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ซึ่งได้มาจากทฤษฏีของตำรวจสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในอีกมิติหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่าไม่ว่าตำรวจจะจับผู้กระทำความผิดมากขึ้นเท่าไหร่ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดก็ไม่ได้ลดลงไป เช่นยาเสพติดจับเท่าไหร่ก็ไม่หมด นอกจากนี้ตำรวจยังเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินเข้าหาชาวบ้าน เข้าไปถามความต้องการของชาวบ้าน ว่าที่นี่ขาดเหลืออะไรบ้าง ต้องการให้ช่วยเรื่องอะไร ยกตัวอย่าง เช่นการตัดเสื้อ เมื่อก่อนตำรวจเอาเสื้อไปให้ชาวบ้านใส่ ชาวบ้านก็ไม่ชอบ แต่ทฤษฏีนี้คือ เข้าไปถามชาวบ้านว่า ต้องการเสื้อแบบไหน เช่นที่ชุมชนหัวทางเขาอยากให้ทางกองปราบปรามช่วยเหลือเรื่องศิลปะการป้องกันตัว ความรู้ด้านกฎหมาย และเรียนคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังจัดกำลังอาสาสมัครช่วยสอดส่องดูแลกันเองภายในชุมชน

“ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหายาเสพติด ลักขโมย แก๊งรถแข่งก็หายไป ทั้งยังสร้างความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากหมู่บ้านกว่า 80,000 หมู่บ้าน นำโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”ในใช้เชื่อว่าอาชญากรรมในประเทศไทยจะลดลงไปได้มาก” ผบก.ป.กล่าว

“ถือว่า ด.ต.สุทธินันท์ อนันธขาล เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน สามารถทำให้คนในชุมชนยอมรับ เพราะได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตำรวจให้ดีขึ้นในสายตาประชาชน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเขาก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่สามจังหวัดชายแดนด้วย ซึ่งต่อไปทางเราจะขยายโครงการนี้ไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ผมเชื่อว่าโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนจะสามารถดับไฟใต้ได้” พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวอย่างมีความหวัง
ชาวบ้านมุสลิมในชุมชนบ้านหัวทางจับมือพูดคุยกับ พระครูปลัดวรพล ฐิติคุโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดควนกาหลง
พล.ต.ต.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป.  พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป. ร่วมกันปลูกต้นไม้ภายในชุมชน
ด.ต.สุทธินันท์ อนันธขาล หรือบังยาซีน และ พ.ต.ต.สิงหา ควรบำรุง สว.กก.6 บก.ป. ผู้ริเริ่มนำทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมาใช้ในชุมชนหัวทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น