xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ครบ 1 ปีประท้วง “อินดิกนาดอส” ในสเปน จุดเริ่มกระแส “อ็อคคิวพาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วันที่ 15 พฤษภาคมปีนี้ถือเป็นวาระครบขวบปีของการประท้วงรัฐบาลในสเปน ซึ่งมีที่มาจากความไม่พอใจปัญหาปากท้อง สภาพเศรษฐกิจ และช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่ดูจะห่างมากขึ้นทุกที โดยการประท้วงของชาวสเปนยังเป็นที่มาของขบวนการ “ออคคิวพาย” ที่ลุกลามไปยังอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกเมื่อปีที่ผ่านมา

ต้นปี 2011 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสประท้วงครั้งใหญ่ในหลายภูมิภาค โดยเริ่มจากแถบแอฟริกาเหนือ ซึ่งชาวตูนิเซียรวมพลังขับไล่ประธานาธิบดี ซิเน เอล อาบีดีน เบน อาลี ได้สำเร็จตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นผลให้พลเมืองอาหรับอีกหลายประเทศลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการ ทั้งในอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย มาจนถึงเยเมน

การเรียกร้องประชาธิปไตยในตะวันออกกลางเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวยุโรปส่วนหนึ่งซึ่งหมดความอดทนกับปัญหาว่างงาน ความโกลาหลในด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจบ้าง โดยวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2011 ชาวสเปนเริ่มการชุมนุม “อินดิกนาดอส” อันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประท้วงปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่ นโยบายตัดลดรายจ่ายอย่างเข้มงวดของรัฐบาล มิหนำซ้ำยังมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องร้อนอีกหนึ่งประเด็น

ศูนย์กลางการชุมนุมครั้งนั้นอยู่ที่จัตุรัสปูเอร์ตา เดล ซอล กลางกรุงมาดริด โดยผู้ประท้วงได้ปักหลักตั้งเต็นท์ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึง 200,000 คนในเดือนมิถุนายน แกนนำการชุมนุมล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยใช้สื่อสังคม
ออนไลน์อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือระดมมวลชน

จากนั้นไม่กี่วัน ผู้ประท้วงชาวกรีซก็เริ่มเอาอย่าง โดยจัดชุมนุม “อินดิกเนนต์” กลางกรุง
เอเธนส์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2011 ขณะที่กรีซกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สินสาธารณะครั้งใหญ่

กระแสประท้วงเศรษฐกิจในยุโรปได้แผ่ลามไปถึงสหรัฐฯ โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ออคคิวพาย วอลล์สตรีท” ได้ปักหลักชุมนุมในนครนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยมีแกนนำการชุมนุมเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผสมโรงกับนักเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์ พวกเขาอ้างตนว่าเป็นตัวแทนของคน “99 เปอร์เซ็นต์” ต่อสู้กับอภิมหาเศรษฐีที่มีเพียง “1 เปอร์เซ็นต์” เท่านั้น

ด้านอังกฤษก็เผชิญกับเหตุความไม่สงบครั้งใหญ่ด้วยรูปแบบที่ต่างออกไป โดยในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เกิดการปลุกระดมทางทวิตเตอร์ให้เยาวชนออกมาปล้มสะดม และก่อความวุ่นวายทั่วกรุงลอนดอนรวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ซึ่งทางการอังกฤษก็ยังไม่อาจสรุปว่า เหตุรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเหมือนในประเทศอื่นๆ ด้วยหรือไม่

ต่อมาในเดือนกันยายน ชาวอิสราเอลกว่า 400,000 คนออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ตามท้องถนนในกรุงเทลอาวีฟ เพื่อร้องเรียนปัญหาค่าครองชีพ ขณะเดียวกัน ออคคิวพาย วอลล์สตรีท ก็เริ่มระบาดไปทั่วสหรัฐฯ และข้ามประเทศไปไกลถึงแคนาดาและออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี ตำรวจสหรัฐฯ บุกเข้าขอคืนพื้นที่ชุมนุมตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ขณะที่แคมป์ของขบวนการออคคิวพายที่ใหญ่ที่สุดหน้ามหาวิหารเซนต์ปอลในกรุงลอนดอน ก็ถูกตำรวจอังกฤษเข้าสลายการชุมนุมไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ครบขวบปีประท้วง “อินดิกนาดอส” ในสเปน

ผ่านไป 1 ปีหลังการก่อตั้งขบวนการอินดิกนาดอส ชาวสเปนก็ยังมีเหตุให้ต้องออกมาประท้วงไม่จบไม่สิ้น ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราว่างงานที่สูงลิบ 24.4% สำหรับแรงงานทั่วไป และ 52.2% สำหรับคนอายุต่ำกว่า 25 ปี รวมทั้งมาตรการตัดลดรายจ่ายกว่า 30,000 ล้านยูโร (39,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งกระทบต่องบประมาณด้านสาธารณสุขและการศึกษา

นักเคลื่อนไหวจากขบวนการออคคิวพายในหลายประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วม เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหยุดใช้มาตรการตัดลดงบประมาณแบบเข้มงวด ที่เอื้อประโยชน์เฉพาะคนกลุ่มน้อย และจัดสรรสวัสดิการต่างๆ ให้แก่พลเมือง เช่น ให้การศึกษาและรักษาพยาบาลฟรี เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จัดเก็บภาษีธุรกรรมการเงินทั่วโลก และปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ถ้อยคำในแถลงการณ์ยังระบุว่า พวกเขาไม่เพียงต้องการ “ขนมปัง” ซึ่งหมายถึงการกินอิ่มนอนหลับเท่านั้น แต่ยังต้องการ “ดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึงความสะดวกสบายในชีวิตด้านอื่นๆด้วย เนื่องจากคนทุกคน “มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะซาบซึ้งกับคุณค่าทางวัฒนธรรม” พวกเขาจึงต้องการให้นายจ้างทั้งหลายลดเวลาทำงานลง โดยยังจ่ายเงินเดือนให้เท่าเดิม

วันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มอินดิกนาดอสซึ่งเป็นต้นตระกูลของ ออคคิวพาย วอลล์
สตรีท มารวมตัวกันที่จัตุรัสปูเอร์ตา เดล ซอล กลางกรุงมาดริดอีกครั้ง พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด และเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โดยตำรวจมาดริดประเมินว่า มีคนมาร่วมชุมนุมราว 30,000 คน ส่วนที่บาร์เซโลนา เมืองอันดับ 2 ของสเปน ตำรวจเผยว่ามีผู้ชุมนุมราว 45,000 คน ในขณะที่ผู้จัดการชุมนุมระบุตัวเลขต่างกันลิบลับถึง 220,000 คน

วันเดียวกันที่กรุงลอนดอน ผู้ประท้วงราว 600 คนออกมาเดินขบวน โดยจำนวนคนเข้าร่วมเพิ่มเป็น 2,000 คนเมื่อเดินทางถึงจุดหมายคือหน้าธนาคารกลางอังกฤษ และมีการตั้งเต็นท์ 11 เต็นท์ขึ้นในบริเวณนั้น รายงานบอกว่าเกิดการปะทะกับตำรวจด้วย และมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 12 คน

แม้ที่ผ่านมาการชุมนุมเหล่านี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งแรงขับเคลื่อนของนักเคลื่อนไหวก็เริ่มผิวแผ่วลงเรื่อยๆ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ทว่าแนวโน้มวิกฤตยูโรโซนที่ยังคงยืดเยื้อ และปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไข ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ขบวนการ “อินดิกนาดอส” และ “ออคคิวพาย” จะยังคงเป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำหรือระเบิดเวลาที่รอวันปะทุครั้งใหญ่อย่างแน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น