ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้สั่งปรับ 20,000 บาท นศ.หญิง ขายดีวีดี 10 แผ่น ศาลชี้ไม่มีเจตนาจะขายเพื่อการค้า แต่ขายเพราะมีฐานะยากจน ด้าน “พงศพัศ” ที่ช่วยเหลือมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นนำเงินมาจ่ายค่าปรับแทน พร้อมระบุคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี
วันนี้ (17 พ.ค.) ที่ศาลอาญาธนบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1423/2554 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.สุดาวดี โกมลวิชญ์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นจำเลย ในความผิดฐานประกอบกิจการตั้งแผงจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 25, 38, 78, 79 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2553 เวลากลางวัน จำเลยได้ตั้งแผงจำหน่ายแผ่นดีวีดี 8 เรื่อง จำนวน 8 แผ่น และดีวีดี 2 เรื่อง จำนวน 2 แผ่น ที่เป็นภาพยนตร์ซึ่งไม่ผ่านการตรวจเลือกพิจารณาและได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ออกให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย บริเวณสะพานลอย เหตุเกิดที่แขวงบางมด เขตจอมทอง กทม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จับจำเลยพร้อมยึดของกลางซึ่งเป็นดีวีดี 10 แผ่น จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้น พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ มาตรา 25, 38, 78 และ 79 แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และรายงานการสืบเสาะประวัติ เห็นว่าจำเลยมีฐานะยากจน มีโรคประจำตัว ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา จึงเห็นสมควรให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้เป็นเวลา 2 ปี โดยให้จำเลยเข้ารับคำปรึกษาที่คลินิกด้านจิตสังคมของศาลเป็นเวลา 1 ปี และให้ริบแผ่นดีวีดีของกลาง
ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการกำหนดโทษจำเลยนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 200,000-1 ล้านบาท ตามมาตรา 78, 79 และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาทตามระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่โดยไม่มีโทษจำคุก ดังนั้น การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นความผิดที่ไม่อาจรอการกำหนดโทษได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงฟังขึ้น
แต่เมื่อพิเคราะห์คำให้การของจำเลย ประกอบรายงานการสืบเสาะประวัติแล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์จำเลยเพียงแต่นำแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ ที่เป็นทรัพย์สินของจำเลยเองที่ไม่ได้ใช้แล้วมาขาย เพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายในครอบครัว โดยจำเลยอาจไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นความผิด
ศาลอุทธรณ์จึงเห็นสมควรกำหนดโทษให้เหมาะสมจึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 20,000 บาท ฐานประกอบกิจการจำหน่ายแผ่นดีวีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตและปรับ 20,000 บาท ฐานจำหน่ายภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา รวมปรับทั้งสิน 40,000 บาท โดยเห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษปรับทั้งสิ้น 20,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ
ภายหลัง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ที่มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยและเคยให้การช่วยเหลือตั้งแต่คดีศาลชั้นต้น ได้นำเงินจำนวน 20,000 บาทมาจ่ายค่าปรับแทน น.ส.สุดาวดี พร้อมกล่าวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ศาลนำประมวลกฎหมายอาญา ม.64 ที่ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษเองได้ เพราะถ้าลงโทษตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ อัตราโทษขั้นต่ำอยู่ที่ 200,000 บาท โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะขายดีวีดีเพื่อการค้า แต่ที่ขายเพราะมีฐานะยากจน ต้องการนำเงินมาดูแลครอบครัว ซึ่งยังมีคดีลักษณะนี้อยู่ในศาลอีกมาก อยู่ระหว่างรอการตัดสิน
ด้าน นายวิษณุ บิดา น.ส.สุดาวดี กล่าวว่า เมื่อเกิดคดีนี้บุตรสาวมีความเครียดมาก ยิ่งเมื่อทราบข่าวว่าอัยการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ บุตรสาวเครียดจนถึงขั้นอาละวาด โวยวาย กรีดแขนตัวเองจนเป็นแผล และต้องรับคำปรึกษาในคลินิกสุขภาพนานถึง 1 ปี จนดีขึ้น ขอขอบคุณ พล.ต.อ.พงศพัศ และนายสุรชัย เดชอัศวนง ทนายความจากสภาทนายความ ที่ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด