โฆษกศาล เผย แนวปฏิบัติศาลยุติธรรมส่งผู้พิพากษาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554
วันนี้ (5 ธ.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ในส่วนของศาลยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 14 ของ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่ เข้าร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และพนักงานอัยการ รวม 3 คน เป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้น สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีศาลยุติธรรมหลายศาลนั้น เท่าที่ได้ศึกษาแนวปฏิบัติที่ผ่านมา อาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ส่งผู้พิพากษา 1 คน หากมีสำนวนที่ต้องพิจารณามาก หรืออาจส่งผู้พิพากษามากกว่า 1 คน เป็นตัวแทนไปเป็นคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ส่วนศาลจังหวัดต่างๆ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนั้นๆ อาจไม่ต้องไปเป็นคณะกรรมการเอง แต่อาจมอบหมายให้ผู้พิพากษา 1 คน ไปเป็นคณะกรรมการร่วม
“ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะต้องทำบัญชีรายชื่อว่าผู้ต้องขังรายได้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้สิทธิ์ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมี 2 กรณี คือ 1.ได้รับการปล่อยตัว และ 2.ได้รับการลดวันต้องโทษ แล้วคณะกรรมการอาจประชุมตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องโทษร่วมกัน หรือราชทัณฑ์ส่งบัญชีรายชื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดตรวจสอบ แล้วส่งชื่อให้ผู้พิพากษาตรวจสอบอีกครั้ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติก็สามารถทักท้วงไปยังต้นทางให้ตรวจสอบกลับมาได้ ซึ่งวิธีการนี้จะมีความเร็วรวด โดยคณะกรรมการจะเร่งพิจารณาในกรณีที่ผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวก่อน เพราะหมายถึงเสรีภาพของผู้ต้องขัง ซึ่งจะเร่งพิจารณาให้ทันภายใน 90 วัน ตามที่ พ.ร.ฎ.อภัยโทษกำหนด ไม่อยากให้ล่าช้า แล้วจึงพิจารณาในกรณีที่ผู้ต้องขังได้รับวันลดโทษเป็นลำดับต่อมา” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว