xs
xsm
sm
md
lg

“โฆษกศาล” ปัดพูดอภัยโทษ “ทักษิณ” ชี้โทษอาญาสิ้นสุดเมื่อรับโทษ หรือตาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
โฆษกศาลยุติธรรม ปัดให้ความเห็นราชทัณฑ์ชงยื่นฎีกาขออภัยโทษ “ทักษิณ” เกรงศาลถูกโยงการเมือง ย้ำผลคดีอาญาสิ้นสุดเมื่อคนผิดรับโทษ หรือเสียชีวิต ไม่เคยมีฎีกาขออภัยโทษทั้งที่ไม่เคยรับโทษ

จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ เสนอความเห็นการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณา ภายหลังตรวจรายละเอียดรายชื่อผู้ถวายฎีกา 3 ล้านรายชื่อเสร็จสิ้น

ล่าสุดวันนี้ (4 ก.ย.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การทูลเกล้าถวายฎีกา ฯ ก็ถือเป็นสิทธิการขอความเป็นธรรม แต่เนื่องจากกระบวนการทูลเกล้าถวายฎีกา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติจะมีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พิจารณากลั่นกรอง จึงไม่อาจให้ความเห็นใดๆ ได้ และไม่ต้องการให้เกิดการชี้นำ หรือนำศาลยุติธรรมไปเป็นเครื่องมือของฝายหนึ่งฝ่ายใด หรือผูกโยงกับการเมือง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยเงียบไปแล้วได้จุดประกายอีกครั้งโดยมีทั้งประชาชนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หากศาลถูกนำไปผูกโยงการเมืองก็จะเสียความเป็นกลาง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ในการทูลเกล้าถวายฎีกาขออภัยโทษ ทั้งที่จำเลยนั้นยังไม่เคยรับโทษบางส่วนมาก่อน ตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ไม่อาจคาดคะเนผลได้ เนื่องจากอำนาจสุดท้ายในการพิจารณาเรื่องนี้ไม่ใช่ศาลยุติธรรม แต่เรื่องนี้ในอดีตไม่เคยปรากฏแนวทางกรณีดังกล่าวมาก่อน ซึ่งการขออภัยโทษ ก็มีตัวอย่างคดีของนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ก็รับโทษมาแล้วบางส่วนจากข้อกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูง

ถามว่าผลทางคดีอาญาจะสิ้นสุดผลเมื่อใด นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ตามกฎหมาย ผลทางคดีอาญาจะสิ้นสุดผลเมื่อจับกุมตัวผู้กระทำซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้วมารับ โทษ หรือจำเลยหรือผู้ต้องโทษนั้นเสียชีวิต ซึ่งไม่อาจนำตัวมาพิจารณาความผิดและรับโทษได้

ซักต่อว่า ผลคดีอาญาจะสิ้นสุด ด้วยแนวทางอื่นได้หรือไม่ นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา เป็นการดำเนินคดีอาญาซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่คดีการเมือง

ถามว่าการจะขออภัยโทษทั้งที่ผู้ต้องโทษนั้นยังไม่ได้รับโทษบางส่วนตาม เงื่อนไข จะขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือไม่ นายสิทธิศักดิ์ ระบุเพียงว่า การถวายฎีกาขออภัยโทษ หรือการนิรโทษกรรม มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติอยู่แล้ว แต่แนวทางดังกล่าวไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น