“ตำรวจสกลฯ รวบแก๊งตระเวนขโมยหมาตามบ้านยามวิกาล ผู้ต้องหาสารภาพขโมยหมาเพื่อส่งนายทุนขายประเทศที่ 3 สนนราคาตัวละ 300-500 บาท ตามแต่ขนาด” จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2554
“เจ้าของสุนัขปล่อยโฮ หลังเจอสุนัขพันธุ์ที่ถูกขโมยไปเมื่อ ต้นเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ค่ายกัก จ.นครพนม โดยเป็นหนึ่งในเหยื่อแก๊งเปิบนรก เผยเห็นจากข่าวเลยตามมาดูพบว่าใช่จริงๆ...จากเหตุสะเทือนใจคนรักสุนัข กรณีตำรวจ-อส.นครพนม สกัดจับรถขนสุนัขที่ขโมยมาไปส่งยังประเทศเพื่อนบ้าน พบสุนัขกว่า 1,000 ตัว ยัดใส่กรงแออัดจนบางตัวเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ พร้อมจับกุมผู้ลักลอบขน” จากหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554
จะเห็นได้ว่าข่าวเศร้าสะเทือนใจของน้องหมามีให้เห็นเป็นเนืองๆ สะเทือนใจต่อผู้ได้พบหรือได้เห็นโดยเฉพาะชมรมคนรักน้องหมา ผู้เขียนจึงอดคิดไม่ได้ว่า การกระทำเช่นนี้นอกจากเป็นการทารุณจิตใจน้องหมาและเจ้าของด้วยการพรากพวกเขาจากกันแล้ว ยังอาจถูกประณามหยามเหยียดจากสังคมได้ ผู้กระทำต่อน้องหมาน่าจะได้รับโทษตามกฎหมายอะไรบ้าง คำถามนี้ก็ได้รับคำตอบจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นหลายเรื่องว่าการกระทำความผิดดังกล่าวมีความผิดดังต่อไปนี้
1.ฐานค้าสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อนายทะเบียน จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499
2.ฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตต่อนายทะเบียน จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499
3.ฐานกระทำทารุณสัตว์ (สุนัข) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 381
4.ฐานครอบครองสัตว์ (สุนัข) ไม่จัดการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจากแพทย์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับไม่เกินสองร้อยบาท ตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
ในคดีที่เป็นข่าวข้างต้น ศาลจังหวัดนครพนมก็ได้ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยผู้กระทำผิด โดยไม่รอการลงโทษจำคุก เพราะเห็นว่าจำเลยบางคนกระทำผิดซ้ำซากไม่หลาบจำ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว จึงน่าจะเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้คิดจะกระทำการในทำนองเดียวกันนี้อีก เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้อ่านและผู้เขียน อัตราโทษตามกฎหมายข้างต้นไม่ใช่เป็นโทษสุทธิตายตัวที่ศาลต้องวางโทษในอัตราสูงสุดเสมอไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเป็นรายคดีไป แต่หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นมาอีกโดยผู้เขียนยกตัวอย่างขึ้นมาใหม่ว่า นางสาวบัวพบว่าสุนัขหายไป ต่อมาเห็นข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายรันพร้อมสุนัขจำนวนเกือบร้อยตัว โดยนายรันให้การว่า ตนขโมยสุนัขดังกล่าวเพื่อนำไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้านเพราะให้ราคาสูงและนิยมรับประทาน นางสาวบัวจึงไปตรวจดูพบสุนัขของตนที่สูญหายไปอยู่กับนายรันในสภาพที่มีบาดแผลจากการอยู่ในกรงที่แออัด นอกจากนี้สุนัขบางตัวก็ตายเพราะขาดอากาศหายใจ
นอกจากโทษตามกฎหมายข้างต้นที่อาจได้รับแล้ว โทษตามกฎหมายอื่นที่เราน่าจะนำมาพิจารณาคือ ข้อหาลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกินหกพันบาท” แต่หากเป็นการลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอาวุธหรือร่วมกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ฯลฯ ตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
องค์ประกอบในความผิดฐานลักทรัพย์ที่จะต้องพิจารณา คือ
1.สุนัขเป็นทรัพย์หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 บัญญัติว่า “ทรัพย์” หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง ซึ่งคำว่าวัตถุนี้ มีความหมายกว้างขวางว่าหมายถึง วัตถุอย่างใดๆ ที่มิใช่คน หากเป็นวัตถุจับต้องได้ ล้วนมีสภาพเป็นทรัพย์ทั้งสิ้น สุนัขจึงต้องจัดเป็น “ทรัพย์” ด้วย
2.ทรัพย์เช่นว่านั้นมีเจ้าของหรือไม่ ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่าสุนัขของนางสาวบัวได้เดินเตลิดหนีไปจากบ้านของนางสาวบัว โดยนางสาวบัวยังคงติดตามค้นหาสุนัขอยู่ เช่นนี้จะถือว่าสุนัขไม่มีเจ้าของยังไม่ได้ เพราะเจ้าของยังค้นหาติดตามอยู่ มิได้มีการสละละทิ้งทรัพย์นั้นไปจากความครอบครองของตนแต่อย่างใด ต้องถือว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของ สำหรับกรณีตัวอย่างนี้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าสุนัขห่างหายไปจากเจ้าของนานจนอาจถือได้ว่านางสาวบัวได้สละทิ้งซึ่งสุนัขนั้นแล้ว จึงต้องถือว่า ขณะที่นายรันลักเอาสุนัขนั้นไป สุนัขนั้นยังมีเจ้าของอยู่
3.นายรันได้ “เอาไป” ซึ่งทรัพย์ของนางสาวบัวหรือไม่ซึ่งการเอาไป จะต้องเป็นการพาทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไป พาไปจนสำเร็จ ความหมายก็คือต้องมีการแย่งการครอบครองและพาทรัพย์เคลื่อนที่ไป ไม่ว่าจะเคลื่อนที่ไปใกล้ไกล แม้ต่อมาผู้ลักเกิดเปลี่ยนใจอยากนำทรัพย์คืนก็ตาม ถือว่าได้มีการ “เอาไป” แล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ การเอาทรัพย์ไปนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของนางสาวบัวตลอดไป ไม่ใช่เอาไปชั่วคราว
4.จะต้องปรากฏว่าเป็นการเอาไป “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้านายรันได้พาสุนัขนั้นไปเพื่อนำไปฝากเลี้ยงไว้ยังสถานสงเคราะห์สัตว์ ถือว่ายังไม่มีเจตนาทุจริต แต่ถ้าลักเพื่อนำไปขาย แปลได้ว่ามีเจตนาทุจริตแล้ว
ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์การกระทำของนายรันดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการกระทำของนายรันเข้าข่ายกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จึงอาจต้องรับผิดทางอาญาอีกฐานหนึ่งด้วย
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วจึงเป็นข้อคิดแก่ผู้กระทำว่า การข่มเหงรังแกสัตว์แม้จะพูดไม่ได้แต่ก็มีชีวิตและจิตใจที่จะรู้เจ็บรู้ภัยและรู้อันตรายที่เผชิญอยู่นอกจากจะผิดศีลห้าแล้ว ผู้กระทำยังต้องได้รับบทลงโทษทางกฎหมายหลายข้อหาอีกด้วย ดังคำพระที่ว่า ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นจะถึงตัว
เปรมรัตน์ วิจารณาญาณ
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ
โฆษกศาลยุติธรรม