xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์จำคุก 10 ปี อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า ทุจริตซื้อเรือขุด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ คำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 10 ปี "นายจงอาชว์ โพธิสุนทร"อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่ากับพวก ฐานทุจริตจัดซื้อเรือขุด 2,000 ล้าน

วันนี้ ( 19 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 915 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ ด.84/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า (กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) ร.ต.สัญชัย กุลปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมเจ้าท่าฝ่ายปฏิบัติการ ร.ต.ประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ กรมเจ้าท่า นายอิทธิพล กาญจนกิจ นิติกร 8 สำนักงานเลขานุการกรมเจ้าท่า นายดนัย ศรีพิทักษ์ นายช่างขุดลอก ฝ่ายแผนงานบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล กรมเจ้าท่า ร.ต.วิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กรมเจ้าท่า และนายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 กรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับรองเอกสารได้กระทำการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 162

คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 12 และ 28 ม.ค.47 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ย.40 ร.ท.วิทย์ วรคุปต์ อธิบดีกรมเจ้าท่าในขณะนั้น จัดทำสัญญาซื้อเรือขุดแบบหัวสว่าน จำนวน 3 ลำ พร้อมเรือพี่เลี้ยง ราคา 49,400,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท จากบริษัทเอลลิคอตต์ กำหนดส่งมอบงานภายใน 540 วัน นับจากวันทำสัญญา โดยครบกำหนดสัญญาวันที่ 24 มี.ค.42 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2-7 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างและระหว่างวันที่ 30 ก.ย. 41 - 6 ส.ค. 42 จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันกระทำผิดโดยการตรวจรับเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 3 เครื่อง ทั้งที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักตามข้อกำหนดทางเทคนิคและเงื่อนไขสัญญา นอกจากนี้ พวกจำเลยยังร่วมกันรับรองบันทึกรายงานผลการตรวจรับงาน ลงวันที่ 30 ก.ย.41 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 6,679,817.85 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้กรมเจ้าท่าได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 2 ม.ค.44 พวกจำเลยยังร่วมกับบริษัทเอลลิคอตต์แก้ไขสัญญาเงื่อนไขและการชำระเงินจากเดิม ให้ชำระร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 9 รวม 3 งวด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.49 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 ต่อมาวันที่ 15 ก.พ.49 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ยื่นอุทธรณ์ระบุว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากได้วินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อข้อมูลเอกสารทางราชการที่บันทึกไว้และเก็บเป็นหลักฐาน โดยพนักงานอัยการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายของรัฐเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนายจงอาชว์กับพวกปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต ปล่อยให้บริษัทเอลลิคอตต์ฯเลี่ยงสัญญา และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ สนับสนุนกระทำเอื้อประโยชน์ให้บริษัท อีกทั้งหาช่องทางช่วยเหลือเบี่ยงเบนตีความในสัญญา และระเบียบปฏิบัติทางราชการทุกวิถีทางให้เป็นช่องทางออกโดยไม่สมเหตุผล นอกจากนี้จำเลยทำเอกสารที่เป็นเท็จถึง 2 ฉบับ โดยโจทก์ได้ชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ไว้ในคำแถลงการณ์ปิดคดี แต่ศาลชั้นต้นอ้างอิงเอกสารของฝ่ายจำเลยมารับฟังประกอบ

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมเจ้า และจำเลยที่ 2-7 ในฐานะคณะกรรมการตรวจรับงานและเบิกจ่ายเงินผิดข้อกำหนด โดยเฉพาะการแก้ไขการจ่ายเงินงวดที่ 5 สูงกว่าสัญญาเดิม เป็นการทำทุจริต หรือไม่เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 7 ทุจริตหรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อตนเอง

คดีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 7 เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้บริหารตามสัญญามีหน้าที่ต้องจัดหาต่อเรือกลที่มีคุณภาพและเสร็จสิ้นตามเวลา ซึ่งสัญญานั้นมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อสาธารณะที่มีการกำหนดสัญญาเป็นแบบแผนและลายลักษณ์อักษร และต้องปฏิบัติตามระเบียบราชการ ซึ่งการกำหนดสัญญาได้ถูกออกแบบให้การส่งมอบงานต้องสัมพันธ์กับมูลค่างานที่จะต้องส่งมอบแต่ละงวดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทผู้ค้าไม่ทิ้งงาน หากจะมีการแก้ไขสัญญาจะต้องมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเหตุไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นจึงต้องยึดถือสัญญาเดิม จำเลยซึ่งเป็นผู้บริหารย่อมต้องระมัดระวังควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย อีกทั้งจำเลยไม่มีอำนาจในการแก้ไขสัญญาของจำเลยทั้ง 7 ที่มีลักษณะไปในทางเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ค้าจากการรับเงินค่าส่งที่สูงมากถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่างาน เป็นเหตุให้บริษัทผู้ค้าไม่ส่งมอบงานตามกำหนด และยังนำเรือไปขายทำกำไรอีกทอดหนึ่ง

นอกจากนี้ โจทก์นำพยานซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานต่อเรือมาเบิกความระบุว่า เครื่องจักรหลักตามสัญญาหมายถึงเครื่องยนต์ขับปั้มขุด ซึ่งมีขนาดใหญ่ 1,150 แรงม้า มากกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่บริษัทผู้ค้าส่งมอบให้มีแรงม้าและมูลค่าต่ำกว่า เครื่องยนต์ขับปั้มขุด โดยจำเลยทั้ง 2-7 เป็นผู้บริหารสัญญา ย่อมต้องรู้ดีกว่าการส่งมอบเงินในงวดที่ 2 จะต้องสัมพันธ์กับงานที่ได้รับ การที่บริษัทผู้ค้าส่งมอบเครื่องจักรที่มีกำลังและมูลค่าต่ำ ไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยทั้ง 2-7 ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะไม่ทราบว่าเครื่องจักรหลักเป็นเครื่องใด เมื่อจำเลยทั้ง 2-7 ทราบว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่ใช้เครื่องจักรหลักแต่ยังตรวจรับงานและทำเอกสารอนุมัติจ่ายเงินงวดที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามฟ้อง

โจทก์ยังมีพยานซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับสัญญา เบิกความด้วยว่า การแก้ไขสัญญาจ่ายเงินงวดที่ 5 จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่างาน แยกย่อยเป็น 3 งวด และเป็นจำนวนที่สูงกว่ามูลค่าสัญญาเดิม ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 126 ที่ว่ารัฐไม่ได้ประโยชน์สูงสุด แต่เป็นการส่งผลให้บริษัทผู้ขายได้รับประโยชน์ ที่ได้รับเงินค่างวดสูงสุดโดยยังไม่ได้ส่งมอบเรือขุด 3 ลำ เห็นว่าพยานเบิกความเป็นลำดับขั้นตอน ไม่มีลักษณะเป็นการกล่าวหาให้จำเลยได้รับผิด คำเบิกความมีเหตุผลเชื่อมโยง และไม่ปรากฏว่าพยานมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความไปตามหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาและแผนการแก้ไขสัญญาตั้งแต่ต้น โดยการหาเหตุผลต่างๆมาอ้างเพื่อลดการรับงาน แต่ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนสูง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ขาย เป็นการทำให้รัฐเสียหาย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เครื่องกำหนดไฟฟ้า 3 เครื่องที่ได้รับมานั้น สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม โดยมีสถาบันจัดชั้นเรือหรือเอบีเอส และผู้ควบคุมงานให้การรับรองนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญา ขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารสัญญาจะต้องมีความระมัดระวังในปฏิบัติตามสัญญา ขณะที่ปัจจุบันความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ข้ออ้างของจำเลยจึงเลื่อนลอยฟังไม่ขึ้น

ส่วนจำเลยที่ 4-5 เป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชา ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความรับว่าไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลของบริษัทผู้ค้าซึ่งไม่มีสภาพความมั่นคง และหากรับรู้จะไม่ลงชื่อในเอกสาร จึงน่าเป็นไปได้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้ข้อมูลทั้งหมดกับจำเลยทั้งสอง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสอง

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้บางส่วนว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามาตรา 157 ให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2,3,6,7 มีความผิดตามาตรา 157 และ 162 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 157 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรวมคนละ 2 กระทง ๆละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลาคนละ 10 ปี และพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 4-5

ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น.ญาติของนายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตกรมเจ้าท่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นอาคารห้องชุด ย่านบางพลัด เนื้อที่ 80 ตารางเมตร ราคาประเมิน 2.1 ล้านบาทเศษ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกาคดี ศาลพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว เห็นควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท ขณะที่ ร.ต.สัญชัย กุลปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมเจ้าท่าฝ่ายปฏิบัติการ , ร.ต.ประเวช รักแผน นักวิชาการขนส่ง 9 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเดินเรือ กรมเจ้าท่า , ร.ต.วิเชฎฐ์ พงษ์ทองเจริญ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 กรมเจ้าท่า และ นายปัญญา ส่งเจริญ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 7 ฝ่ายตรวจเรือ สำนักงานเจ้าท่าที่ 2 กรมเจ้าท่า

จำเลยที่ 2,3,6 และ 7 นั้นได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกันซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 1 ล้านบาท
นายจงอาชว์ โพธิสุนทร อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า
เรือขุดหัวสว่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น