“วีระกานต์” แกนนำ นปช. พร้อมแนวร่วมเสื้อแดง 19 คน ขึ้นศาลตรวจพยานหลักฐานในคดีก่อการร้าย ขณะที่ “เหวง-ณัฐวุฒิ” บอกยังไม่ได้รับทาบทามจากพรรคเพื่อไทย เคารพมติพรรค หากพรรคเห็นว่าเหมาะสมก็ยินดีที่จะรับตำแหน่ง ขณะที่ “ไอ้ตู่” ทนายรอ กกต.รับรองสิทธิเป็น ส.ส. เพื่อนำยื่นขอถอนประกันอีกรอบ
วันนี้ (11 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดตรวจหลักฐานคดีดำ อ.2542/2533 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่ม นปช. กับพวกที่เป็นแกนนำและแนวร่วม รวม 19 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย , ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน , มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ.2548
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 53 ต่อเนื่องกัน พวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อต้านรัฐบาลและบังคับขู่เข็ญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ยุบสภา
โดยอัยการโจทก์แถลงต่อศาลขอนำพยานเข้าสืบจำนวน 369 ปาก แต่ศาลเห็นว่า พยานบางปากซ้ำซ้อนกัน จึงให้ตัดพยานโจทก์เหลือ 120-150 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 60 นัด ขณะที่ทนายจำเลย แถลงต่อศาลว่า จำเลยบางส่วนได้รับเลือกเป็น สส.หาก มีสมัยประชุมสภา จะไม่สามารถ เข้าร่วมการพิจารณาคดีได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ก่อน ในช่วงที่ปิดสมัยประชุมสภา โดยนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก ในวันที่ 1 มิ.ย. 2555 เวลา 09.00 น. และได้นัดพร้อมคู่ความทั้งสองฝ่าย อีกครั้งก่อนสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 23 เม.ย. 2555 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ทนายจำเลยแถลงต่อศาล ขอรวมคดีก่อการร้ายจำเลยอื่น ๆที่อัยการแยกฟ้อง อีก 4 ราย เช่น คดีบึ้มพรรคภูมิใจไทย เข้ารวมในสำนวนคดีนี้ด้วย ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้รวมเป็นคดีเดียวกัน ซึ่งจะทำให้มีจำเลยคดีก่อการร้ายทั้งหมดรวม 23 คน
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าและกิจการที่แยกราชประสงค์ ทั้งบุคคลธรรมและนิติบุคคล ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ขอเป็นโจทก์ร่วมด้วย ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ศาลได้เบิกตัวนายจตุพร พรหมพันธุ์ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และนายนิสิต สินธุไพร แกนนำนปช. จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาร่วมพิจารณาด้วยโดยมีบรรดาคนเสื้อแดงกว่าร้อยคนเดินทางมาให้กำลังใจ
นายคารม พลทะกลาง ทนายความนปช. กล่าวว่า พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยทุกคนจะใช้ชุดเดียวกัน ยกเว้น นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต ประธาน นปช. ที่จะใช้พยานหลักฐานที่มีความแตกต่างออกไป ทั้งนี้ อยากเรียกร้องในเรื่องการปล่อยชั่วคราวของ นายจตุพร และนายนิสิต ที่ถูกคุมขังในคดีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น่าจะนำไปสู่การปรองดอง จึงอยากขอโอกาสให้จำเลยได้ออกมาพิสูจน์ความจริงตามกฎหมายต่อไป
ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนปช. กล่าวว่า หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ทีมทนายได้ทำหนังสือชี้แจงสาเหตุที่นายจตุพร ไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. ได้ ไปยังสำนักงานเขตวังทองหลาง และเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเขตได้มีหนังสือชี้แจงกลับมาว่า ได้พิจารณาเหตุที่นายจตุพรไม่ได้ไปใช้สิทธิ์ แล้วเห็นว่ามีเหตุสมควร ทำให้นายจตุพรไม่เสียสิทธิ์การเป็น ส.ส. และทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศรับรองสถานภาพการเป็น ส.ส. ของนายจตุพร ทางทีมทนายก็จะนำหนังสือดังกล่าวประกอบคำร้องยื่นต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร ต่อไป
ส่วนนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต ประธาน นปช. กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งของแกนนำ นปช. ว่า เรื่องที่มีความขัดแย้งกันนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อยไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ และผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็จะต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้น่าจะสามารถพูดคุยกันในแบบพี่น้องได้ และตนเองก็ได้พูดคุยกับนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ถึงความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ เรื่องสัดส่วนการเป็นรัฐมนตรีของแกนนำ นปช. นั้น ก็ถือเป็นดุลยพินิจของพรรค เพราะอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงคือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อจะเป็นรัฐมนตรี
ด้านนางธิดา กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งของแกนนำคนเสื้อแดง เริ่มขึ้นภายหลังจากพรรคไทยชนะการเลือกตั้งถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะทำให้คนเสื้อแดงเข้มแข็งขึ้น และหากยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนทุกอย่างก็จะสามารถแก้ไขได้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า ตนเองยังไม่ได้รับการทาบทามจากพรรคให้เป็นรัฐมนตรี เพราะขณะนี้ทางพรรคอยู่ระหว่างการทำตามนโยบายที่ได้ให้ไว้กับประชาชนในขณะหาเสียงให้เป็นรูปธรรม และยืนยันว่าแกนนำ นปช. ไม่มีการแทรกแซงเรื่องการจัดตั้ง ครม.เห็นว่าเรื่องดังกล่าวควรปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคที่จะเป็นผู้เห็นชอบ
ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ร้อง กกต.ให้ตรวจสอบ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี เรื่องผัดหมี่แจกประชาชนในระหว่างการหาเสียงนั้น ถือเป็นการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งที่สามารถอธิบายภาพการเมืองตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับอำนาจประชาธิปไตย และปฏิเสธแนวทางการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหลังจากนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็ต้องสรุปบทเรียนว่าตราบใดที่ยังยึดแนวทางประชาธิปไตยประชาชนจะยืนอยู่เคียงข้างไปตลอด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับบทเรียนว่าการทำงานที่ตอบรับเผด็จการจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทั้งนี้ ขอสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์หลังจากแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งน่าแปลกใจไม่น้อยที่เห็นนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ว่าที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องและโจมตีพรรคเพื่อไทย แทนที่น่าจะเห็นผู้ใหญ่ของพรรคออกมาทำงาน ยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำการเมืองให้เดินหน้าและสร้างสรรค์ได้อย่างไร หรือจะยึดการทำงานแบบเดิมๆ
นพ.เหวง โตจิราการ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า ตนเองยังไม่ได้รับการติดต่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด และตนเองก็พร้อมจะทำงานตามที่ทางพรรคได้มอบหมายให้