xs
xsm
sm
md
lg

ผลทางนิตินัยของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน (VOTE NO)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ผู้คนในสังคมโดยทั่วไปส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นเท่านั้น มิฉะนั้น กกต.จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นใหม่ โดยสังคมไทยมีประสบการณ์จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งหลายเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนได้บอยคอตการเลือกตั้ง (Election boycott) จนนำไปสู่ปรากฏการณ์พรรคใหญ่จ้างพรรคเล็ก และถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย เพราะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2540 มาตรา 66 (1) และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 66 (3) (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550)

แท้จริงแล้ว แม้ในเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน ผู้สมัครที่จะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดแล้ว ยังจะต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 89 ประกอบมาตรา 88 ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้ มาตรา 89 ภายใต้บังคับมาตรา 88 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลากซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา 88 ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียว ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง

ในกรณีที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ และให้นำความในมาตรา 9 มาใช้บังคับ

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง ถ้ามีผู้สมัครคนเดียว ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และถ้าผู้สมัครได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอีก หรือได้ไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ดำเนินการตามวรรคสองอีกครั้งหนึ่ง

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสาม ถ้ามีผู้สมัครคนเดียว ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้ได้รับเลือกตั้งภายในระยะเวลาตามมาตรา 8

ในกรณีที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสาม หากปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้นำความในวรรคสอง และวรรคสาม และความในส่วนที่ 5 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง 2.การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มาตรา 89 บัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 88 ซึ่งเป็นเทคนิคการร่างกฎหมายที่ต้องการให้มาตรา 89 นำหลักการตามมาตรา 88 มาใช้บังคับด้วยโดยไม่ระบุซ้ำลงไปในมาตรา 89 อีก จึงหมายความว่า ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครหลายคน ผู้สมัครที่จะถือว่าเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง จะต้องผ่านองค์ประกอบของกฎหมายทั้งมาตรามาตรา 88 และมาตรา 89 กล่าวคือ

1.ได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต
เลือกตั้งนั้น

2.ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง และ

3.ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย คือ การถือเสียงข้างมากของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเกณฑ์มาตรฐานเสียงข้างมากขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 ก็คือไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง

ดังนั้น จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง (VOTE NO) จึงมีผลทางนิตินัยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และหากในเขตเลือกตั้งใดมีจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเลือกตั้งของผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครผู้นั้นก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 88 วรรคสองถึงวรรคห้า

การที่มาตรา 61 ของกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าวบัญญัติไว้ให้บัตรเลือกตั้งมีช่องทำเครื่องหมายว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วยนั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะสงวนสิทธิ์ไม่เลือกผู้ใด ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดมีคุณสมบัติดีเพียงพอที่จะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ยิ่งถ้าบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีอยู่และลงสมัครรับเลือกตั้งในปัจจุบันได้พยายามสื่อสารกับสังคมว่าขอให้เลือกพรรคหรือผู้สมัครที่เลวน้อยที่สุด กรณีการที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยกาบัตรเลือกตั้งในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน (VOTE NO) ด้วยเหตุผลว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ดีได้ ด้วยวาทะที่ว่า “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา” และข้อกล่าวหาว่า “มีแต่พรรคการเมืองเผาบ้านเผาเมืองจาบจ้วง ล้มเจ้า พรรคการเมืองปล่อยคนเผาบ้านเผาเมืองขายชาติหลอกเจ้า และพรรคการเมืองโกงชาติกินเมืองโหนเจ้า” จึงสามารถกระทำได้โดยชอบ และมีผลต่อการเลือกตั้งตามกฎหมายดังกล่าว

หากมีจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง (VOTE NO) มากกว่าคะแนนของผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดจำนวนมากๆ หรือแม้แต่คะแนนของจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง (VOTE NO) รวมกับคะแนนของผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนในลำดับรองๆ ลงไป มากกว่าคะแนนของผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุด ก็อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะได้ เพราะผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดย่อมไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนเสียงข้างมากไปในตัว และน่าจะต้องถือว่าขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต้องยอมรับเสียข้างมาก แต่มีหลักประกันสำหรับเสียงข้างน้อย เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ที่ กกต.เพียงแต่จัดการเลือกตั้งโดยหันคูหากลับด้านทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งที่จัดคูหาให้ผู้เลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาและหันหลังให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและประชาชน ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 93 วรรคสอง) เป็นเหตุให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

(คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549) แล้ว การเลือกตั้งกรณีนี้อาจจะต้องถือว่านั้นเป็นโมฆะยิ่งกว่าบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิฉัยไว้ดังกล่าวเสียอีก ทั้งหากพรรคการเมืองใดยังฝืนส่งคนไม่ดีที่ประชาชนปฏิเสธลงสมัครรับเลือกตั้งอีก อาจถึงขั้นถือได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การถูกยุบพรรคการเมืองนั้นก็เป็นได้ (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 68)

ท้ายที่สุดนี้ ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า บัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง (VOTE NO) มีผลทางนิตินัยตามกฎหมายดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นอย่างแน่นนอน

                               อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล
เลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
กำลังโหลดความคิดเห็น