ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มคนที่แบ่งฝัก แบ่งฝ่ายในบ้านเมือง มีทั้งหลากสี สีน้ำเงิน สีแดง สีเหลือง ภายหลังการประกาศยุบสภา ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนจนนำไปสู่การห้ำหั่นจ้องพังป้ายหาเสียงของแต่ละพรรคที่ตนเองไม่ชอบขี้หน้า ไม่ชอบใจ โดยไม่สนใจใยดีว่าพรรคการเมืองเหล่านั้น ได้ชูนโยบายเพื่อขันอาสาพ่อแม่พี่น้อง ขอเป็นปาก เป็นเสียงแทนประชาชน เพื่อเข้าไปนั่งเป็นตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎรการรณรงค์หาเสียงในหลากหลายรูปแบบของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ประเคนคุณสมบัติ พร้อมนโยบายของนักการเมืองในแต่ละพรรค รวมถึงการติดป้ายหาเสียง เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิใช้เสียง หรือจะโหวตโน ในการกากบาทเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 08.00 -15.00 น. ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยแต่ละป้ายหาเสียงในลักษณะต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองได้นำมาใช้ประกอบกิจกรรมการแนะนำตัวเอง ควบคู่กับนโยบายหลัก ที่จะพัฒนาประเทศชาติ ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้นำไปติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า ต้นไม้ประดับ ตลอดแนวถนนทั่วประเทศ ยังคงเห็นกันดาดเดื่อน
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งเช่นนี้ได้มียุทธวิธีทำลายป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในหลายรูปแบบ และใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การเผาทำลาย การป้ายระบายสี การเขียนข้อความที่ไม่พึงประสงค์เพิ่มเติม การกรีดด้วยของมีคม การพังป้ายโดยไม่ให้เหลือซาก โดยผู้ทำลายป้ายรณรงค์การเลือกตั้งดังกล่าว อาจจะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่ตรงข้ามกับผู้สมัครรับการเลือกตั้งพรรคนั้นๆ หรืออาจเป็นการทำลายป้ายหาเสียงเพื่อขอคะแนนสงสาร ซึ่งการทำลายป้ายหาเสียงถือเป็นปัญหาใหญ่ กระทำเป็นกระบวนการขยายวงกว้างไปสู่ในหลาย ๆ เขต หลายพื้นที่การเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมทำให้การรณรงค์หาเสียงที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของประชาชนในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
แม้ว่าศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ลต.ตร.) นำโดยพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมีพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นหัวหน้าศูนย์ ได้ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือเลือกตั้งทุกวัน และจะเปิดเผยตัวเลขสถิติการทำลายป้ายหาเสียงทั่วประเทศ ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์โดยรวมให้ทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจะแถลงโชว์การไล่นับจำนวนป้ายที่ถูกทำลายทุกวัน ว่ามีป้ายของพรรคการเมืองไหนเป็นคู่แข่งในพื้นที่ใดถูกทำลายเพิ่ม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ไม่ค่อยปรากฎว่าถูกทำลายเท่าที่ควร โดยมีเพียงเล็กน้อย ปะปราย แต่ในทางตรงข้ามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งกลับครองแชมป์ถูกทำลายมากที่สุด โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ศรส.ลต.ตร.ได้แถลงว่า การทำลายป้ายหาเสียงพุ่งสูง โดยพรรคประชาธิปัตย์ถูกทำลายมากสุดถึง 702 ป้าย พรรคเพื่อไทย 108 ป้าย, พรรคภูมิใจไทย 124 ป้าย และพรรคชาติไทยพัฒนา 47 ป้าย
ขณะเดียวกันเมื่อมองย้อนถึงการเอาจริง เอาจังกับการปราบปรามจับกุมขบวนการจ้องทำลายป้ายหาเสียงแล้ว ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับไม่ค่อยมีสถิติรายชื่อพวกมือบ่อนถูกรวบตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายเปิดเผยให้ทราบได้ แต่จะใช้การข่มขู่ทุกวันว่า หากพบใครกระทำความผิดทำลายป้ายหาเสียง ซึ่งถือเป็นคดีอาญา ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์มีความผิดตามกฎหมาย ผู้กระทำผิดจะถูกจับกุมดำเนินคดีมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน60,000 บาท แต่หากมีผู้จ้างวานด้วย ผู้จ้างวานนั้นจะต้องได้รับโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปีปรับ 20,000-200,000 บาท และถ้าผู้เกี่ยวข้องเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอาจถูกตัดสิทธิ พร้อมโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้
น่าแปลกใจเมื่อเหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือน และใกล้การแข่งขันในโค้งสุดท้าย ทางศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับบอกว่าการทำลายป้ายหาเสียง
ลดน้อยลงเหลือเพียง 1,200 ป้าย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่น่ามองได้ว่า หรือว่าป้ายหาเสียงที่นำมาติดตั้งเพื่อขอคะแนนเสียง ของแต่ละพรรคนำมาติดตั้งน้อยลง เลยถูกทำลายจำนวนน้อยตาม หรือว่าแต่ละพรรคอาจจะไม่ได้ติดตั้งป้ายหาเสียงเพิ่มเติม เนื่องจากที่เก็บไว้ในโกดังป้ายหาเสียงเหลือน้อยเต็มที จนเป็นเหตุทำให้การทำลายป้าย และจำนวนที่ถูกทำลายลดน้อยลงตามไปด้วย และที่สำคัญหรือว่าความขัดแย้ง ความเห็นที่แตกต่างของแต่ละกลุ่มลดน้อยลง ซึ่งจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามตรงจุดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจำนวนตัวเลขผลการจับกุมกลุ่มที่ออกมาสร้างความวุ่นวาย ป่วนทำลายป้ายหาเสียงเพิ่มขึ้น และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสืบสาวราวเรื่องไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำลายป้ายหาเสียงได้เช่นกัน
เมื่อเปิดยอดการแถลงโชว์ผลงานที่ได้ประเมินผลจำนวนป้ายหาเสียง กับจำนวนที่ได้จับกุมกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายทำลายป้ายหาเสียงแล้ว พบว่า
1 มิ.ย. ศูนย์อำนวยการความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงสรุปคดีการทำลายป้ายหาเสียง 430 ป้าย เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ 361 ป้าย พรรคเพื่อไทย 43 ป้าย ซึ่งตำรวจกำลังสืบสวนว่าจะเป็นการกระทำของพรรคคู่แข่งหรือทำลายป้ายหาเสียงของพรรคตัวเองเพื่อเรียกคะแนนสงสาร
6 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองลพบุรี จับกุมผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ จำนวน 5 คน โดยทำลายป้ายหาเสียง และขโมยป้ายหาเสียงพรรคเพื่อไทย อ้างทำไปเพราะคึกคะนอง และชอบผู้สมัครอยากนำภาพไปเก็บไว้ที่บ้าน
9 มิ.ย. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะหัวหน้า ศรส.ลต.ตร. ได้นั่งแถลงสรุปยอดป้ายการหาเสียงถูกทำลายทั่วประเทศ มีจำนวน 1,246 ป้าย เกิดขึ้นในพื้นที่ ภาค 1 มากที่สุด จำนวน 323 ป้าย รองลงไป ได้แก่ ภาค 5 จำนวน 171 ป้าย, ภาค 4 จำนวน 149 ป้าย ภาค 8 จำนวน 113 ป้าย และ ภาค 2 จำนวน 108 ป้าย โดยป้ายหาเสียงพรรคประชาธิปัตย์ถูกทำลายมากที่สุด 702 ป้าย, พรรคเพื่อไทย 108 ป้าย, พรรคภูมิใจไทย 124 ป้าย และพรรคชาติไทยพัฒนา 47 ป้าย พร้อมกับเปิดเผยว่ามีคดีเกี่ยวกับการทำลายป้ายหาเสียง รวม 21 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหาทำลายป้ายหาเสียงได้ในท้องที่ สภ.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้ผู้ต้องหา 4 คน และอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนขยายผล
10 มิ.ย. ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปยอดทำลายป้ายหาเสียงลดลงเหลือเพียง 1,200 ป้าย โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 มากที่สุด จำนวน 323 ป้าย และป้ายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ถูกทำลายมากที่สุดจำนวน 702 ป้าย พรรคเพื่อไทย 108 ป้าย, พรรคภูมิใจไทย 124 ป้าย และพรรคชาติไทยพัฒนา 47 ป้าย
13 มิ.ย.ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง (ศรส.ลต.ตร.) พบว่ามีการทำลายป้ายหาเสียงน้อยที่สุดมีปรากฏเพียงไม่กี่อำเภอ คือ อ.ชัยบาลดาล จ.ลพบุรี, อ.เมือง จ.สระบุรี, อ.สองแคว จ.น่าน, อ.ลี้ จ.ลำพูน,อ.เมือง จ.อุทัยธานี,อ.คีรีรัตนานิคม จ.สุราษฎร์ธานี และอ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
กับการเลือกตั้งครั้งใหญ่ 3 ก.ค. ได้สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งในแต่ละพรรคการเมืองก็พยายามงัดกลยุทธวิธีในการอ้อนขอคะแนนเสียงจากประชาชนด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดความสนใจจนนำไปสู่การกาบัตรเลือกตั้งให้กับพรรคตนเอง แต่ในทางกลับกันกลุ่มที่มีหน้าที่คอยออกตระเวนทำลายป้ายหาเสียงของพรรคฝ่ายรัฐบาลที่พุ่งสูง 704 ป้าย จากยอดเฉลี่ยของแต่ละพรรคที่ถูกทำลายทั้งหมดทั่วประเทศ 1,246 ป้าย และพรรคใหญ่เช่นกัน โดยมีกำลังขับเคลื่อนที่ชูมวลชนคนเสื้อแดงที่เคยออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อการันตีคุณสมบัติที่น่าถูกเลือกเข้าสภากลับถูกกลุ่มมือบ่อนทำลายป้ายเพียง 108 ป้าย จากจำนวนทั้งหมด 1,246 ป้ายเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ทำลายป้ายหาเสียงได้ไม่กี่คน ซึ่งกว่าจะถึงวันเลือกตั้งเชื่อแน่ว่า
ขบวนการทำลายป้ายหาเสียงเลือกตั้งยังคงลอยนวล!!