xs
xsm
sm
md
lg

เผย 2 พรรคใหญ่เรียก ตร.คุ้มกันสูสี สั่งจับตาเพิ่ม 3 จว.แข่งขันรุนแรง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา(สบ10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ในฐานะกำกับดูแล ศรส.ลต.ตร. กล่าวภายหลังการประชุม ศรส.ลต.ตร.
ที่ประชุม ศรส.ลต.ตร.เพิ่ม แม่ฮ่องสอน-ราชบุรี-ภูเก็ต เป็นพื้นที่จับตามองการแข่งขันรุนแรง รวมเป็น 13 จังหวัด ขณะที่การร้องทุกข์ทำลายป้ายหาเสียงยังไม่หยุด พบป้ายพรรค ปชป.ถูกทำลายทั้งสิ้น 361 ป้าย ส่วน ส.ส.ขอกำลังตร.คุ้มครองแล้ว 151 ราย พท.-ปชป.เรียกขอสูสี ด้าน “พงศพัศ” เตือนผู้สมัครห้ามเอานักเลง อดีต ตร.-ทหารที่ไปติตามพกปืน นอกจาก ตร.ที่เรียกขอคุ้มครองเท่านั้น หลังพบมีหลายกลุ่มมีพฤติกรรมเช่นนี้ เผย เร็วๆ นี้จะมีมือปืนอีก 2-3 ราย ในบัญชีมือปืน 75 รายเข้ามอบตัวอีก

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศรส.ลต.ตร.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ในฐานะกำกับดูแล ศรส.ลต.ตร.กล่าวภายหลังการประชุม ศรส.ลต.ตร.ว่า ศรส.ลต.ตร.ได้ติดตามการเดินทางไปหาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้ง ทั้งหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และผู้สมัครแบบแบ่งเขต เพื่อดูแลความปลอดภัยและความสงบ ป้องกันการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งการสัมมนาร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ตกลงกันว่า การขัดขวางการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ ตำรวจต้องเข้าระงับยับยั้ง โดยพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดขวางการเลือก คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ไม่สามารถปราศรัยหาเสียง หรือเข้าพื้นที่หาเสียงได้ ตลอดการกระทำที่ส่งผลให้ประชาชนผู้มาฟังการปราศรัยหาเสียงไม่สามารถร่วมฟังการปราศรัยได้ รวมทั้งการประทุษร้าย ผู้สมัครและมวลชน แต่ทั้งนี้พฤติกรรมอื่นใดที่เป็นเพียงการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย เช่นการชูป้าย หรือชุมนุม หากไม่ขัดขวางการเลือกตั้งก็สามารถทำได้ แต่หากเข้าข่ายขัดขวางตำรวจในพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้งทุกกลุ่ม

“ที่ประชุม ศรส.ลต.ตร.ได้พิจารณาเพิ่ม จ.แม่ฮ่องสอน จ.ราชบุรี และภูเก็ต เป็นอีก3จังหวัดที่ต้องเฝ้าจับตามอง เนื่องจากเป็นพื้นที่แข่งขันรุนแรง โดยพิจาณาจาก 3 ปัจจัย คือ ประวัติความเป็นมา ความขัดแย้งของคู่แข่งขันและหัวคะแนน การสกัดกั้นคู่แข่ง และการร้องขอการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเฉพาะจ.แม่ฮ่องสอนนั้น พิจารณาว่า มีการยุบเขตเลือกตั้งจากครั้งก่อน มี 2 เขต เหลือเพียง 1 เขต จึงแนวโน้มการแข่งขันสูง ทำให้ขณะนี้ มีพื้นที่การแข่งขันสูงที่ ศรส.ลต.ตร.จับตามองทั้งสิ้น 13 จังหวัด” พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าว

ที่ปรึกษา (สบ10) กล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้ มีการร้องทุกข์การทำลายป้ายหาเสียงมาแล้ว 88 ราย มีป้ายถูกทำลายทั้งสิ้น 430 ป้าย เป็นป้ายของพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด 361 ป้าย รองลงมาเป็นของพรรคเพื่อไทย 43 ป้าย และป้ายของพรรคอื่นๆทุกพรรค โดยในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1) มีป้ายหาเสียงถูกทำลายมากที่สุด 170 ป้าย รองลงมา บช.ภ.2 จำนวน 60 ป้าย และกองบัญชาการตำรวจนครบาล 56 ราย ขณะเดียวกัน ตำรวจได้จับกุมและเปรียบเทียบปรับ ผู้ทำลายป้ายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีพฤติการณ์รื้อออก ได้ 1ราย ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ คือนายพนมไพร แจ่มเจริญ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งเจ้าของป้ายไม่ติดใจเอาความ โดย นายพนมไพร รับว่าที่ยกป้ายหาเสียงออกเนื่องจากกีดขวางทางเส้นทางเข้าออก

“ในกรณีที่ประชาชนรู้สึกว่าป้ายหาเสียง ที่ติดอยู่นั้น รก หรือกีดขวางเส้นทางเข้าออก บดบังการจราจร ปิดทางเข้าบ้าน ห้ามยกออก ย้าย หรือทำลายด้วยตนเอง แต่สามารถตรวจสอบกับกกต.ก่อนได้ ว่าพื้นที่ หรือจุดนั้นเป็นจุดที่ กกต.อนุญาตให้ติดตั้งป้ายหาเสียงได้หรือไม่ ก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือจะประสานตำรวจท้องที่ดำเนินการ หรือจะประสานมาที่ ศรส.ลต.ตร.ซึ่งรับเป็นคนกลางประสานงานให้ โดยตำรวจ และ กกต.ยืนยันว่าจะพิจารณาโดยยึดหลักความปลอดภัยของประชาชนในเรื่องผลกระทบด้านทัศนวิสัยในการจราจรเป็นหลัก ให้ความสำคัญมากกว่าป้ายหาเสียง ทั้งนี้ขอให้ประชาชนอดทนกับป้ายหาเสียงที่อาจสร้างความรำคาญบ้างในช่วงนี้ และย้ำว่า การเติมข้อความ เช่น ดีแต่พูด อย่างที่พบที่เขตมีนบุรี หรือ ขีดหนวด วาดเครา ที่ป้ายหาเสียงก็มีความผิด” พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวและว่า ที่ประชุม ศรส.ลต.ตร.มีมติว่า จะทำหนังสือประสานไปยังทุกพรรคการเมือง เพื่อขอให้ ศรส.ลต.ตร.มีอำนาจแทนทุกพรรคในการดำเนินคดีกับผู้ทำลายป้ายหาเสียง เพื่อให้การสืบสวนขยายผลรวดเร็วและง่ายขึ้น โดยจากนี้จะส่งสายตรวจเฝ้าระวังหารทำลายป้ายหาเสียงและยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับกลุ่มที่มุ่งทำลายป้ายหาเสียงของพรรคอื่นและกลุ่มที่ทำลายป้ายของตนเองเพื่อสร้างสถานการณ์ อย่างถึงที่สุดเพราะการกระทำเช่นนี้มีความผิดถึงขั้นยุบพรรคการเมือง

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ว่า ในกลุ่มหัวหน้าพรรคต่างๆมีกำลังตำรวจสันติบาลไปดูแลแล้ว ส่วนผู้สมัครแบบแบ่งเขตขณะนี้จากจำนวนผู้สมัครทั่วประเทศ 2,422 ราย มีการขอการรักษาความปลอดภัยจากตำรวจแล้ว 151 ราย ส่งตำรวจคุ้มกัน 302 นายไปดูแล โดยพรรคเพื่อไทยขอให้ไปคุ้มกันมามากที่สุด 51 คน พรรคประชาธิปัตย์ 50 คน ภูมิใจไทย 26 คน ชาติไทยพัฒนา 7 คน ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 5 คน มาตุภูมิ 1 คน และพรรคอื่นๆ โดยพื้นที่บช.ภ.3 ขอกำลังตำรวจดูแลความปลอดภัยมากที่สุด 33 ราย รองลงมา คือ บช.ภ.1 จำนวน 22 ราย บช.ภ.4จำนวน 19 ราย ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครในพื้นที่ 13 จังหวัดที่ตำรวจเฝ้าระวัง

“นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไม่ได้ร้องขอ แต่ ศรส.ลต.ตร.พิจารณาจากข้อมูลข่าวว่าควรต้องไปดูแลก่อนจะเกิดเหตุร้ายกับบุคคลนั้น อีกจำนวนหนึ่ง ไม่ถึง 10 ราย นอกเหนือจาก 151 รายที่ร้องขอมาเอง โดยรวมถึงกรณี ผู้สมัคร สส.ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ตำรวจไปดูแลด้วย ทั้งนี้อยากให้ท่านเข้าใจ ว่าตำรวจจำเป็นต้องไปดูแลเพื่อปกป้องอันตรายที่จะเกิดกับท่าน” พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าว และว่าต้องขอเตือน ผู้สมัครทุกรายด้วยว่าห้ามเอานักเลง หรืออดีตตำรวจ อดีตทหาร หรือบอดี้การ์ดส่วนตัวไปติดตาม ทั้งจ้างมา หรือขอแรงมา เพราะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ย้ำว่านอกจากตำรวจที่ศรส.ลต.ตร.ส่งไปคุ้มกัน แล้ว ผู้ที่อยู่รายล้อมผู้สมัคร ไม่มีสิทธิ์พกพาอาวุธเด็ดขาด โดยขณะนี้พบกลุ่มที่มีพฤติกรรมเช่นนี้แล้วในหลายพื้นที่โดยทาง บช.ภ.รายงานเข้ามายังศรส.ลต. เป็นลักษณะเอานักเลง ชายฉกรรจ์ มีอาวุธมาติดตามเป็นกลุ่ม 10-20 คน บ้างก็ไปข่มขู่ คุกคามฝ่ายตรงข้ามด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ขอให้ยุติเสีย ไม่เช่นนั้นต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่กรณีผู้สมัครเป็นอดีตตำรวจหรือทหาร มีลูกน้องติดตามก็ต้องพิจารณาพฤติกรรมว่าไปทำอะไร ถ้าไปช่วยหาเสียงแจกใบปลิว ไม่ได้พกอาวุธไปข่มขู่คุกคามใคร ก็ไม่เป็นไร

พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวถึงคดียิงหัวคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เขตบึงกุ่ม กทม.ว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด และเร็วๆ นี้ จะมีมือปืนในบัญชี 75 ราย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการตัวติดต่อมอบตัวอีก 2-3 ราย ส่วนกรณีตำรวจไม่สังกัดจังหวัดบึงกาฬที่ถูกร้องเรียนพฤติกรรมวางตัวไม่เป็นกลางนั้น ทราบว่า เป็นระดับผู้กำกับการ โดยอีก 3 วันจะทราบผลการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น