“ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า คดีมีอัตราโทษสูง ตามข้อหาเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะซึ่งกระทบกระเทือนต่อจิตใจของประชาชนโดยรวม ประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมขณะกำลังจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ถือว่ามีพฤติการณ์หลบหนี หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”
นั่นคือคำวินิจฉัยขององค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ได้สั่งยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว “นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข” แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ต้องหาในคดี กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมุ่งร้ายต่อสภาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ และเป็นตัวการผู้ใช้ ผู้สนับสนุน เข้าข่าย กระทำขององค์กรอาชญากรรม หมิ่นสถาบัน ในวันที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ควบคุมตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาเป็นเวลา 12 วัน เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา
จากคำวินิจฉัยข้างต้นถือว่าชัดเจน ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ไม่สมควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงทำให้วันนี้นายสมยศถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อรอรับโทษ
กรณีของนายสมยศ หากนำมาเทียบเคียงกับกรณีของ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ส.ส.เพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง และพวก ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 เช่นกัน
คำพูดของ นายจตุพร ถือว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าในหลายเวที ในหลายรายการ และในหลายความคิดเห็นของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ได้พูดตรงกันว่า “คำพูด” ของนายจตุพร เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าได้กระทำความผิดฐานหมิ่นสถาบัน ขณะที่อัยการก็ได้เคยวินิจฉัยในชั้นต้นว่าผู้ต้องหาบางคนกระทำความผิดจริง
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามช็อตไปสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ในกรณี “จตุพร พรหมพันธุ์” และพวก ในเมื่อเขาทำผิดจริง เขาก็คงจะต้องถูกถอนประกันเช่นกัน อยู่ที่ว่า ศาลจะแยกพิจารณา “คดีก่อการร้าย กับ คดีหมิ่นสถาบัน” แยกออกจากกันหรือไม่
ขณะที่ความจริงกล่าวคือ นายจตุพร และพวก เขาได้รับการประกันตัวในคดีก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง โดยศาลกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวไว้ว่า “ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น”
แต่จากการเคลื่อนไหวของ “จตุพร และพวก” เขากลับไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล แต่ได้กระทำความผิดในสถานหนัก คือ หมิ่นสถาบัน นอกจากนั้นในคำร้องของอัยการที่ได้ยื่นต่อศาลเพื่อขอไต่สวน อัยการก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า...
“นายจตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยที่ 2 ได้พูดปราศรัยบนเวทีกับผู้ชุมนุม กล่าวพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง รวมทั้งนายนิสิต สินธุไพร จำเลยที่ 8 ได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง”
“คำปราศรัยของจำเลยทั้ง 9 เป็นการยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล และกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถเชื่อถือได้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนทั่วไป และจากกองทัพอย่างรุนแรง”
“จำเลยกับพวก ได้กระทำการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยก่อให้เกิดความขัดแย้งของประชาชน ทั้งมิได้เป็นไปตามแนวทางสมานฉันท์ในชาติ”
ดังนั้น การไต่สวนของศาลในประเด็นดังกล่าวที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลคงจะไม่แยกพิจารณา “คดีก่อการร้าย กับ คดีหมิ่นสถาบัน” ออกจากกัน และผู้ที่กระทำความผิดสถานหนักหมิ่นเบื้องสูง ต้องได้รับโทษสถานหนักเช่นกัน โดยยึดคำสั่งยกคำร้องห้ามปล่อยตัวชั่วคราว “นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข” มาเป็นบรรทัดฐาน ด้วยการถอนประกัน “จตุพร และพวก” ส่งตัวคนหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เข้าคุกนอนรอรับโทษ!