อัยการคดีพิเศษยื่นคำร้องขอศาลเปิดไต่สวนข้อเท็จจริงพิจารณาเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว 9 แกนนำแดงขึ้นเวที นปช.ปราศรัย หมิ่นเบื้องสูง ผิดเงื่อนไขประกัน ศาลนัดไต่สวน 4 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.
วันนี้ (29 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายโกวิท ศรีไพโรจน์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลเรื่องการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ที่ศาลอาญาได้กำหนดเงื่อนไขให้นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อายุ 62 ปี อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ อายุ 44 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 35 ปี นายแพทย์เหวง โตจิราการ อายุ 59 ปี นายก่อแก้ว พิกุลทอง อายุ 45 ปี นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา อายุ 58 ปี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก อายุ 52 ปี นายนิสิต สินธุไพร อายุ 54 ปี และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อายุ 58 ปี จำเลยที่ 1-8 และ 10 ในคดีก่อการร้าย เมื่อรับแจ้งจากพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ภายหลังที่จำเลยทั้ง 9 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้กระทำการฝ่าฝืน โดยจัดกิจกรรมให้มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง โดยได้ปราศรัยต่อผู้ชุมนุมจำนวนมาก หลายแห่งหลายครั้ง ระหว่างวันที่ 10-11 เม.ย.54 จำเลยได้จัดชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในงานครบรอบ 1 ปี รำลึกถึงสมาชิก นปช.ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 โดยมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน
โดยจำเลยทั้ง 9 กับพวก ผลัดเปลี่ยนกับผู้ร่วมชุมนุมขึ้นเวทีปราศรัย พูดโน้มน้าว ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้ผู้ร่วมชุมนุมเกลียดชังรัฐบาล โดยให้เชื่อว่าการเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10-19 เม.ย.53 เป็นการปราบปรามและฆ่าประชาชนโดยรัฐบาลและคณะทหาร ทั้งนี้ มีการพาดพิงถึงกระบวนการยุติธรรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และสถาบันเบื้องสูง โดยกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกา เป็นเครื่องมือทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคนเสื้อแดง ศาลบางศาลพึ่งไม่ได้เอนเอียงแย่กว่าศาลพระภูมิ และมี พล.อ.เปรมสนับสนุนการยึดอำนาจ โดยเฉพาะนายจตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยที่ 2 ได้พูดปราศรัยบนเวทีกับผู้ชุมนุม กล่าวพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง รวมทั้งนายนิสิต สินธุไพร จำเลยที่ 8 ได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูงด้วย
อย่างไรก็ตาม คำปราศรัยของจำเลยทั้ง 9 เป็นการยุยงปลุกปั่น ปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล และกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถเชื่อถือได้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนทั่วไป และจากกองทัพอย่างรุนแรง โจทก์จึงเห็นว่าจำเลยกับพวกได้กระทำการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยก่อให้เกิดความขัดแย้งของประชาชน ทั้งมิได้เป็นไปตามแนวทางสมานฉันท์ในชาติ โจทก์จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไข เปลี่ยนแปลง เงื่อนไขการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของจำเลยทั้ง 9 ตามที่ศาลเห็นสมควร
ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาและนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
สำหรับเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ในระหว่างที่จำเลยทั้ง 9 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวนั้นระบุว่า ห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาญาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น