นายรุธ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์หลังจาก พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยื่นคำร้อง เพื่อเสนอต่อศาลอาญา ให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว 9 แกนนำ นปช. จำเลยร่วมในคดีก่อการร้าย ว่า หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้ง 9 คนกระทำผิดต่อกฎหมาย และเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ พนักงานอัยการจะพิจารณายื่นคำร้องถอนประกันต่อศาลทันที แต่หากพบว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไปตามรัฐธรรมนูญ คงไม่ยื่นคำร้องแต่อย่างใด และหากจำเลยยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา อัยการก็ยินดีรับพิจารณาให้ความเป็นธรรมเช่นกัน
ขอถามไปยัง อธิบดีฝ่ายคดีพิเศษ และอัยการสูงสุด ผู้บังคับบัญชา ของนายรุธ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ว่า เคยนึกถึงความเป็นธรรมที่สังคมและประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ควรจะได้รับเช่นกันบ้างหรือไม่ หรือว่า ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมของแกนนำ นปช. ทั้ง 9 คนนี้เพียงฝ่ายเดียว
ความเป็นธรรมที่สังคมและคนส่วนใหญ่พึงจะได้รับในกรณีนี้ก็คือ สถาบันอันเป็นที่สักการะเทิดทูน ของพวกเขาทั้งหลาย พึงได้รับการปกป้องตามกฎหมาย จากบุคคลที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย สิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามปกติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน พึงได้รับการคุ้มครอง ตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
หรือว่า ในความเห็นของอัยการ พฤติการณ์ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายนิสิต สินธุไพร นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และนายขวัญชัย ไพรพนา เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญจริงๆ
ก่อนหน้านี้ เพียงเดือนเดียว นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็น ไม่ยื่นถอนประกัน คำร้องของดีเอสไอ ที่ขอถอนประกัน นายณัฐวุฒิ , นพ.เหวง , นายก่อแก้ว , นายนิสิต , นายขวัญชัย , นายวิภูแถลง และ นายยศวริศ มาแล้ว กรณี ขึ้นปราศรัยร่วมกับผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 12 มีนาคมมาแล้ว ด้วยเหตุผลว่า หลักฐานภาพข่าว รวมทั้งคลิปคำปราศรัยของแกนนำ นปช.บนเวทีการชุมนุม ที่ดีเอสไอ ยื่นให้อัยการพิจารณา ยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแสดงว่าพฤติการณ์นั้นผิดเงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดไว้ จึงไม่ยื่นถอนประกันตามที่ดีเอสไอเสนอ
ไม่รู้ว่า ครั้งนี้ หลักฐาน ภาพถ่าย คำปราศรัยของ นายจตุพร และพวก ในคืนวันที่ 10 เมษายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ทำให้แม้แต่คนที่ยอมตนสวามิภักดิ์ กับระบอบทักษิณ อย่างพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากพรรคเพื่อไทย ในความเห็นของอัยการแล้ว เป็นข้อเท็จจริงที่เพียงพอต่อการยื่นถอนประกันแล้วหรือไม่
ในวันที่ แกนนำ นปช. 7 คน นี้ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยคำสั่งศาลอาญา มีคนจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และนายคณิต ณ นคร ซึ่งไปให้การเป็นพยานกับแกนนำ ในการไต่สวนคำร้องขอประกันตัว ต่างแซ่ซ้องสรรเสริญว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่สังคมไทยจะได้เข้าสู่แนวทางแห่งการปรองดอง สมานฉันท์กันเสียที
แต่สองเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ คนเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อุดมการณ์ล้มเจ้า สถาปนารัฐไทยใหม่ เพื่อรับใช้ระบอบทักษิณ ของพวกเขาไม่เคยเปลี่ยน มีแต่จะชัดเจน เปิดเผยยิ่งกว่าเดิม
จะรอให้ถึงวันนั้น เสียก่อน อัยการจีงสั่งถอนประกันหรืออย่างไร
เงื่อนไข ของศาลอาญา ในการให้ประกันตัว แกนนำ นปช. ทั้ง 7 คน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์มีอยู่ว่า
"ห้ามมิให้จำเลยดังกล่าวกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันจะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล"
คำสั่งของศาลอาญา ที่ให้ปล่อยตัวชั่ว มีเหตุผลแต่เพียงว่า "ภายหลังศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนแล้วเห็นว่า กรณีนี้มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งเดิมได้ จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8, 10 และ 11 ตีราคาประกันคนละ 600,000 บาท"
มีคำถามถึงศาลเช่นกันว่า ในช่วงเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวจำเลยทั้ง 7 แล้ว ในความเห็นขอศาล มีข้อเท็จจริงบางประการ ที่จะให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งเดิม เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์แล้วหรือยัง