“อัยการ” ชี้หลักฐานดีเอสไอยังไม่เข้าเงื่อนไข ระบุ ยังไม่พบเหตุสมควรที่จะยื่นให้ถอนประกัน 7 แกนนำ นปช.ตามที่ร้องขอ แนะหากภายหลังดีเอสไอตรวจพบพฤติการณ์ใหม่ส่อจะขัดเงื่อนไขการประกันตัว ให้ยื่นมาให้พิจารณาใหม่ได้
วันนี้ (21 มี.ค.) นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวบรวมหลักฐานเสนอให้อัยการพิจารณา เพื่อยื่นคำร้องถอนประกันนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และ นายยศวริศ ชูกล่อม จำเลยในคดีก่อการร้ายว่าอัยการได้พิจารณาเอกสารทั้งหมดแล้ว เห็นว่าหลักฐานของดีเอสไอยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแสดงว่าพฤติการณ์นั้นผิดเงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดไว้
“การพิจารณาว่าสมควรจะขอถอนประกันหรือไม่ ต้องดูว่าเข้าไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน รวมทั้งการผิดเงื่อนไขศาลหรือไม่ ซึ่งอัยการตรวจดูรายละเอียดเนื้อหาเงื่อนไขทั้งหมดที่ศาลแล้ว ยังไม่พบเหตุสมควรที่จะยื่น ทั้งนี้หากภายหลังดีเอสไอตรวจพบพฤติการณ์ใหม่อย่างอื่นที่ส่อว่าจะขัดเงื่อนไขการประกันตัวก็สามารถยื่นเรื่องมาให้อัยการพิจารณาใหม่ได้ แต่ถ้าดีเอสไอจะนำเรื่องไปยื่นต่อศาลเองนั้นคงต้องดูว่าก่อนหน้านี้ศาลได้พิจารณาไว้แล้วว่าการยื่นเป็นหน้าที่ของอัยการ อย่างไรก็ตาม อัยการจะได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ดีเอสไอทราบต่อไป” อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 7 แกนนำ นปช. โดยมีคำสั่งว่า พิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนแล้วเห็นว่า กรณีมีข้อเท็จจริงบางประการที่จะให้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งเดิมได้ จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้ง 7 โดยตีราคาหลักประกันคนละ 600,000 บาท แต่ห้ามมิให้จำเลยดังกล่าวกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาญาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาญาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
จากนั้น ในวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา จำเลยทั้ง 7 แกนนำ นปช.ได้ขึ้นปราศรัยร่วมกับผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เห็นว่าการกระทำของกลุ่มจำเลยน่าจะผิดเงื่อนไขของศาล จึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อถอนประกันเมื่อวันที่ 16 มี.ค. แต่ศาลได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยระบุว่า คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนก็สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการโจทก์ต่อไป โดยพนักงานสอบสวนจะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับคดีนี้ โดยอัยการโจทก์ผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นด้วยมิได้ (นัยคำฎีกาที่ 9/2481) หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตามคำสั่งของศาลก็ควรรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่อพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีนี้โดยตรง เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุอันควรที่พนักงานอัยการโจทก์จะยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ ซึ่งในชั้นนี้จึงเห็นควรให้ยกฟ้อง
และต่อมาในวันที่ 17 มี.ค. นายธาริตได้ส่งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอนำหลักฐานภาพข่าว รวมทั้งคลิปคำปราศรัยของแกนนำ นปช.บนเวทีการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยื่นให้อัยการ เพื่อให้พิจารณาตามขั้นตอน แต่สุดท้ายอัยการกลับเห็นว่าหลักฐานของดีเอสไอยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะแสดงว่าพฤติการณ์นั้นผิดเงื่อนไขที่ศาลอาญากำหนดไว้ และไม่ยื่นถอนประกันตามที่ดีเอสไอเสนอ
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีอัยการคดีพิเศษไม่ยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนประกันตัว 7 แกนนำ นปช.ว่า เป็นดุลพินิจของอัยการ ตนก็เคารพในดุลพินิจ เรื่องความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ จะติดตามพฤติการณ์ของแกนนำ นปช.ต่อไป หากพบสิ่งที่ไม่ถูกต้องจะยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวต่อไป