นักศึกษาสาวขอความเป็นธรรม พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หลังอัยการยึดข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยื่นอุทธรณ์สู้คดีขายซีดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษารอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี แต่อัยการอ้างเหตุ คดีนี้ความผิดที่โจทก์กล่าวหาจำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว คือต้องระวังปรับ 2 แสนถึง 1 ล้านบาท ไม่ได้มีโทษจำคุก ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจรอการกำหนดโทษจำเลยได้
วันนี้ (8 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส.สุดาวดี โกมลวิชญ์ อายุ 25 ปี นักศึกษาปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จำเลยในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 กรณีจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 8 แผ่น ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2553 ศาลแพ่งธนบุรี ได้พิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี และให้เข้ารับคำปรึกษาที่คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลนี้ภายในระยะเวลา 1 ปี เดินทางร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา (สบ 10) ภายหลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี 1 อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น แต่เนื่องจาก พล.ต.อ.พงศพัศติดภารกิจ จึงได้มอบหมายให้นายตำรวจประจำสำนักงานเป็นผู้รับเรื่อง
น.ส.สุดาวดีกล่าวว่า คิดว่าเรื่องน่าจะจบไปแล้วภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ได้เดินทางไปรับการบำบัดทางจิตโดยตลอด แต่เมื่อได้รับหมายศาลที่ระบุว่าพนักงานอัยการยังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาก็รู้สึกแปลกใจ แต่ตนก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครเนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนจึงเดินทางมาขอความช่วยเหลือจาก พล.ต.อ.พงศพัศอีกครั้ง นอกจากนี้จะเดินทางไปขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานอัยการให้เหตุผลในการยื่นอุทธรณ์ โดยระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำผิดที่มีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเคยจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุก แต่เป็นโทษที่ได้กระทำผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือแห่งอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิด แต่จะรอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษ แต่การลงโทษไว้และปล่อยตัวไป เพื่อให้ผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับจากศาลมีคำพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติผู้นั้นด้วยก็ได้”
จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า ความผิดที่ศาลจะพิพากษาให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษให้จำเลยผู้กระทำความผิดตามมาตรา 56 ได้ ต้องเป็นจำเลยที่กระทำความผิดที่มีโทษจำคุกเท่านั้น โดยจะมีโทษปรับหรือโทษอย่างอื่นด้วยก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นการกระทำผิด 2 กรรม 2 กระทง โดยจำเลยให้การรับสารภาพตามคำฟ้องโจทก์ทุกประการ ข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาที่ปรากฏต่อศาลจึงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนและไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามคำฟ้องที่ 1.1 กรรมหนึ่ง และจำเลยได้กระทำความผิดฐานจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ตามคำสั่งฟ้องที่ 1.2 อีกกรรมหนึ่ง
การกระทำผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ มาตรา 4, 25, 38, 78, 79 โดยความผิดข้อ 1.1 เป็นความผิดตามมาตรา 38 ต้องระวังโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 ที่บัญญัติให้ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 2 แสนถึง 1 ล้านบาท และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน ขณะที่ความผิดตามคำฟ้องที่ 1.2 เป็นความผิดตามมาตรา 25 ต้องระวังโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 78 ที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องระวังปรับ 2 แสนถึง 1 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความผิดที่โจทก์กล่าวหาจำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว ไม่ได้มีโทษจำคุก ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจรอการกำหนดโทษจำเลย โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 แต่ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาจำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณาว่า จำเลยกระความผิดตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 จริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 185 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ภายนตร์และวิดีทัศน์ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิจารณาลงโทษในมาตราดังกล่าวด้วย ไม่อาจรอการกำหนดโทษโดยอาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้