xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ล้อมคอก! สั่ง “เอก” หามาตรการอุดช่องโหว่จับผิดตัวซ้ำรอยสาวอ่างทอง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพในวันที่ น.ส.นภาศรี สังสัญชาติ สาวอ่างทองที่ถูกจับผิดตัวในคดีลักทรัพย์ เข้าร้องขอความเป็นธรรมที่ สตช.
ตร.สั่งนครบาลตั้งคณะกรรมการสอบวินัยดูว่าทำคดีด้วยความประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่ เหตุพนักงานสอบสวน สน.บางเขนจับผิดตัวสาวอ่างทองในคดีลักทรัพย์ คาด 60 วันทราบผล พร้อมยอมรับผิดพลาดในเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมเยียวยาตามเหยื่อร้องขอ มอบหมาย “เอก” หามาตรการป้องกันการจับผิดตัว

วันนี้ (5 เม.ย.) เมื่อเวลา 16.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงพนักงานสอบสวน สน.บางเขน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีที่จับกุม น.ส.นภาศรี สังสัญชาติ อายุ 28 ปี ผิดตัวในคดีลักทรัพย์ เมื่อปี 2552 ว่า ทาง ตร.ได้สั่งให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยมี พ.ต.อ.ภานุเดช สุขวงศ์ ผกก.ฝอ.บก.น.2 เป็นประธานการสอบสวนในเรื่องนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการว่าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ทำคดีประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายใน 60 วัน

พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า ทาง ตร.ก็ยอมรับในความผิดพลาดเรื่องที่เกิดขึ้น และไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งได้สั่งให้ทาง สน.บางเขนเข้าไปดูแลเยียวยาช่วยเหลือ น.ส.นภาศรี โดยให้ทาง สน.บางเขนสอบถามเจ้าตัวว่าต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง โดยหลังจากได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ เบื้องต้นได้มอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งไถ่รถจักรยานยนต์ที่โดนไฟแนนท์ยึดไปในช่วงที่ถูกควบคุมตัวกลับคืนมาให้ อีกทั้งยังพร้อมจะไปช่วยซ่อมแซมบ้านที่เก่าชำรุดที่มีแม่สูงอายุ และลูกสาว 2 คนที่อาศัยอยู่ที่ จ.อ่างทอง ส่วนเจ้าตัวที่ตกงานก็ได้ช่วยหางานเตรียมไว้ 2-3 แห่งเพื่อให้เจ้าตัวเลือก

ส่วนมาตรการในการแก้ไขปัญหาในการจับผิดตัว พล.ต.ต.ประวุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้อาจเกิดจากสาเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่รอบคอบในการทำงาน สำนวนคดีจำนวนมากทำให้ทำไม่ทัน ซึ่งทาง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษา (สบ 10) หามาตรการดำเนินการ เพื่ออุดช่องว่างตรงนี้ พร้อมกับวางมาตรการในตรวจสอบสำนวนให้รอบคอบรัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

ส่วนการออกหมายจับต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบไม่ให้ผิดพลาดต้องหามาตรการอีกชั้น สำหรับขั้นตอนการชี้ตัวผู้ต้องหาต้องตรวจสอบว่าเป็นกฎระเบียบที่ระบุว่าต้องมีการดำเนินการทุกครั้งหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ระบุในกฎหมาย ซึ่งหากมีความจำเป็นก็อาจมีการพิจารณาเพิ่มขั้นตอนนี้ในการสอบสวน เพื่อไม่ให้ผิดพลาดในการจับกุมตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น