“วีระกานต์” ขึ้นศาลอาญาเป็นพยานไต่สวนคำร้องประกันตัว “สมชาย ไพบูลย์” แกนนำ นปช.คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวตีราคา 1 แสนบาท ภายใต้เงื่อนไขห้ามยุยง ปลุกปั่น ห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต
วันนี้ (24 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องที่นายสมชาย ไพบูลย์ อายุ 41 ปี อดีตสมาชิกสภาเขตบางบอน พรรคไทยรักไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. จำเลยคดีหมายเลขดำที่ อ.2543/2553 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยื่นคำร้องขอประกันตัว
โดยนัดไต่สวนวันนี้ ทนายความจำเลยนำนายสมพงษ์ ปรดิษฐ์วงศ์กูล ผู้อำนวยการส่วนควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต ประธาน นปช. และตัวจำเลย ขึ้นเบิกความเป็นพยานรวม 3 ปาก โดยมีนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และกลุ่มคนเสื้อแดงราว 30 คน เข้าร่วมฟังการพิจารณาด้วย
โดยนายสมพงษ์เบิกความเป็นพยานปากแรกระบุว่า จำเลยถูกคุมขังที่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในความดูแลของตน ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมของจำเลยนั้นเห็นว่าไม่มีความกระด้างกระเดื่อง ประพฤติตัวเป็นผู้ต้องขังที่ดี เชื่อว่าหากจำเลยได้รับการประกันตัวจะไม่หลบหนี
ขณะที่ นายวีระกานต์เบิกความเป็นพยานปากที่สองระบุว่า ตนจัดตั้งกลุ่ม นปช.กับคนที่มีแนวคิดเดียวกันเพื่อต่อสู้ตามสันติวิธี เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจัดการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ส่วนจำเลยในคดีนี้เป็นแกนนำ นปช.มีหน้าที่ปราศรัยบนเวทีตามแนวทางสันติวิธี ซึ่งก่อนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ตนในฐานะประธาน นปช.ได้ติดต่อเจรจากับทางรัฐบาลเพื่อหาแนวทางการปรองดองร่วมกัน ซึ่งจำเลยเป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำที่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และยังเสนอให้สลายการชุมนุมไปก่อน แต่ภายหลังไม่สามารถเจรจาในเงื่อนไขกันได้ตนจึงขอลดบทบาทไม่ขอปราศรัยบนเวที นปช.อีก กระทั่งมีการสลายการชุมนุม จำเลยถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ถูกดำเนินคดีฐานก่อการร้าย กระทั่งวันที่ 10 ธ.ค.53 รัฐบาลประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เชื่อว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด
ด้าน นายสมชาย ไพบูลย์ จำเลย เบิกความเป็นพยานปากสุดท้ายว่า ตนเป็นแกนนำ นปช. เรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง ต่อต้านความไม่เท่าเทียมในสังคมและถูกดำเนินคดีนี้ โดยไม่มีความผิดฐานก่อการร้ายเหมือนแกนนำคนอื่น นอกจากนี้ตนยังเห็นด้วยกับแนวทางปรองดอง ซึ่งเมื่อมีการสลายการชุมนุม จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทั่งถูกจับกุมในวันที่ 9 มิ.ย.53 ตนถูกตำรวจกองปราบปรามตามไปจับกุมก่อนนำตัวไปควบคุมไว้ที่ ตชด.ภ.1 จ.ปทุมธานี ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย.53 ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตในขยายเวลาคุมขัง จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย.53 กลับถูกพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและถูกคุมขังถึงปัจจุบัน พร้อมยืนยันว่าหากตนคิดจะหลบหนีคงไม่เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก อีกทั้งหากจะหลบหนีจริงคงไม่เลือกหนีไปที่บ้านเกิด เพราะง่ายต่อการติดตามจับกุม ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และพร้อมต่อสู้คดี รวมทั้งยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาลกำหนด หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ทั้งนี้ หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวหรือไม่ในเวลา 15.00 น. อีกครั้ง
ต่อมาเวลา 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายสมชาย ไพบูลย์ จำเลยคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ภายหลังที่ได้ไต่สวนคำร้องที่ยื่นพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติกรรมความผิดของคดีนี้เกี่ยวข้องกับคดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ และแนวร่วม นปช.รวม 19 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแกนนำหลายคน เนื่องจากการไต่สวนมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้เช่นกัน โดยตีหลักทรัพย์ 100,000 บาท พร้อมทั้งวางข้อกำหนดห้ามไม่ให้จำเลยกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
ภายหลังศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแล้วจะได้ออกหมายปล่อยแจ้งให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน