การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผบก.-สว. ประจำปี 2553 ในครั้งนี้ มีอันต้องสะดุดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง จากที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) มีคำสั่งให้ทุกกองบัญชาการต้องส่งรายชื่อมาให้ตร.พิจารณาในวันที่ 31 ม.ค. ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ก.พ. ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ก็ไม่สามารถทำตามขั้นตอนดังกล่าวสำเร็จลงได้ ส่วนจะมีเหตุผลหรือกลใดซ่อนอยู่นั้น เชื่อว่า ผู้ที่อยู่ในแวดวงสีกากีรู้กันดี แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดให้เหตุผล เพราะกลัวเจ็บตัวกันเสียเปล่าๆ เข้าตำรา "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"ดีกว่า
ความล่าช้าในการแต่งตั้งนายตำรวจระดับดังกล่าว พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ออกมายืนยันว่า "ความล่าช้าไม่ได้เกิดจากการวิ่งเต้นของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะนักการเมือง ซึ่งยอมรับว่านักการเมือง มีสิทธิ์ให้การเสนอแนะ แต่ไม่สิทธิ์เรียกร้องว่าจะให้ดำรงตำแหน่งใด เพราะองค์กรตำรวจถือเป็นองค์กรที่มีความเป็นระเบียบสูงมากกว่าองค์กรอื่นๆ"
คำพูดของผบ.ตร.ย่อมแสดงให้เห็นว่า การแต่งตั้งในครั้งนี้ ย่อมมีเสียงครหา แว่วมาเข้าหูบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็น "นักการเมืองจอมแทรกแซง" โดยในข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ นักการเมืองไม่ได้แทรกแซงการแต่งตั้ง แต่ นักการเมืองเหล่านี้ ได้ใช้อำนาจเจาะจงลงไปทีเดียวเลยว่า นายตำรวจคนนั้น ต้องอยู่ตรงนี้ ที่ตรงนี้ ต้องให้นายตำรวจคนนั้น ซึ่งอำนาจของนักการเมืองดังกล่าว เป็นที่กระอักกระอ่วนของบรรดาผู้ที่ทำหน้าที่จัดสรรตำแหน่ง จนถึงขั้นเกิดความเอือมระอากันทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ในขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มักที่ยอมทำตามความประสงค์ของนักการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะอะไรก็รู้กันดีอยู่
การจัดสรรตำแหน่งแต่งตั้งโยกย้ายในแต่ละครั้งในอดีต จะมีโควต้าที่ได้วางไว้เป็นมาตรฐาน ซึ่งตำรวจเอง ก็ยอมรับกันได้ส่วนหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน โควต้าจากฟากนักการเมือง ได้เข้ามา"ปล้น"ตำแหน่งไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อน สมัยก่อนหน้านี้ โควต้าของนักการเมืองยังแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ อีก 60 เปอร์เซ็นต์ให้ตำรวจไปจัดสรรกันเองเอง ทั้งหลักอาวุโส คนทำงาน หรือเด็กนาย เป็นต้น ซึ่งก็ยอมรับกันได้ด้วยดี พูดง่ายๆ นายตำรวจที่ครองความอาวุโส หรือบรรดามือทำงาน ยังพอมีความหวังที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนชั้น แต่เมื่อตำแหน่งมาถูกนักการเมือง"ปล้น"ไปเสียถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ความหวังที่มีอยู่ กลับกลายเป็นความท้อแท้ สิ้นหวังในองค์กรที่ตัวเองอุทิศให้ด้วยความศรัทธา สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้อง"ลาออก"
ความจริง เมื่อกรมตำรวจ ยกฐานะขึ้นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหตุผลประการหนึ่ง ก็เพื่อต้องการให้หลุดพ้นจากอำนาจของนักการเมืองที่ควบคุมกระทรวงมหาดไทย และดูแลกรมตำรวจอยู่ แต่ครั้นยกฐานะขึ้นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงแล้ว นักการเมืองทุกระดับ โดยเฉพาะในซีกฝ่ายรัฐบาล กลับเข้าไปก้าวก่ายเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งโยกย้าย
และในขณะเดียวกัน ตำรวจก็ไม่สามารถที่จะขัดนักการเมืองเหล่านี้ได้ เพราะอำนาจของพวกเขา สามารถให้คุณให้โทษได้ทุกเมื่อ
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือก.ตร. ก็ยังไม่มีอำนาจที่จะไปทัดทานอำนาจจากฝ่ายการเมืองได้ เพราะฝ่ายการเมือง ดันมานั่งหัวโต๊ะ เป็นประธานก.ตร. เสียเอง ซึ่งหากเห็นว่า ในการประชุมครั้งไหน ถูกก.ตร.คัดค้านอย่างหนัก ประธานก.ตร.ตัวดี ก็จะใช้กลวิธีทางการเมือง เช่น พักการประชุมบ้าง เลื่อนวาระการประชุมครั้งนั้นออกไปบ้าง โดยที่ก.ตร.เองก็จำต้องปฏิบัติตาม
เหตุผลต่างๆ จากข้อเท็จจริงเหล่านี้เอง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจทุกระดับในแต่ละครั้ง ไม่สามารถที่จะหนีพ้น ข้อครหาไปได้ ที่สำคัญ หากผู้นำหน่วย และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มัวแต่คิดเอาใจ และยอมสนองต่อฝ่ายการเมืองอยู่ โดยไม่คำนึงถึงขวัญกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คงยังต้องคำสาปให้อยู่ในแดนสนธยาต่อไปตราบชั่วนิรันดร์กาล