xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรยูเครนถูกขัง 14 ปี ไม่มีค่าจ้างร้อง DSI เร่งคดีเอาผิดโรงงาน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายอนาโตลี วโดวีเชนโก อายุ 57 ปี วิศวกรชาวยูเครน พร้อมด้วยนายคอนสแตนติน อิวาเชนโก เจ้าหน้าที่สถานทูตยูเครน ประจำประเทศไทยเข้าร้องขอความเป็นธรรมดีเอสไอ เร่งรัดคดีถูกกักขัง 14 ปี ไม่ได้
วิศวกรชาวยูเครนร้องขอความเป็นธรรมกับดีเอสไอให้เร่งรัดคดี เหตุถูกขังในโรงงานผลิตถังออกซิเจนย่านคลองหลวง ปทุมธานี 14 ปี ไม่ได้รับค่าจ้าง 7 ล้านบาท ขณะที่เจ้าตัว เผย ได้ขอให้แรงงานพม่าเขียน จม.ถึงน้องสาว และให้น้องสาวโทรเข้ามือถือที่ซื้อจากแรงงานพม่า จนนำไปสู่อิสระภาพ ด้าน "ธาริต" ชี้การยึดพาสปอร์ตก้ำกึ่งค้ามนุษย์ เล็งพิจารณาเป็นคดีพิเศษ เผย โรงงานดังกล่าวมีหญิงไทยเชื้อสายจีนวัย 91 ปี เป็นเจ้าของ

วันนี้ (24 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายอนาโตลี วโดวีเชนโก อายุ 57 ปี วิศวกรชาวยูเครน พร้อมด้วยนายคอนสแตนติน อิวาเชนโก เจ้าหน้าที่สถานทูตยูเครน ประจำประเทศไทย เข้าพบพ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ. สำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศดีเอสไอ พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ สังคหะพงศ์ ผอ.ส่วนกิจการต่างประเทศ ดีเอสไอ เพื่อขอความเป็นธรรมและให้เร่งรัดคดีกรณีนายอนาโตลี วโดวีเชนโก ถูกกักขังให้ทำงานในโรงงานผลิตถังออกซิเจนแห่งหนึ่ง ย่านคลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นเวลา 14 ปี โดยไม่ได้รับค่าจ้างจนผู้เสียหายติดต่อสถานทูตยูเครนเข้าช่วยเหลือจนได้รับอิสรภาพ

อย่างไรก็ตาม นายอนาโตลี อยู่ในสภาพผอมซูบเซียวให้การว่า เข้ามาทำงานที่โรงงานแห่งนี้ในตำแหน่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตถังออกซิเจน เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1996 ขณะนั้นได้ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท มีบ้านพัก พร้อมรถประจำตำแหน่ง แต่ได้รับเงินเดือนจริงเพียง 1 เดือน หลังจากนั้นเจ้าของโรงงานได้ยึดหนังสือเดินทางและไม่ให้ตนออกนอกบริเวณโรงงานเด็ดขาด อนุญาตเพียงออกมาซื้ออาหาร โดยมีเจ้าหน้าที่ รปภ.ติดตามอย่างเข้มงวด แต่ไม่มีการทุบตี หรือใส่โซ่ตรวน เพียงแต่มีข่มขู่บางครั้ง ต่อมาตนได้รับบาดเจ็บที่นิ้วจากการทำงาน เจ้าของโรงงานเลยให้เงินมา 1,000 บาท จึงเก็บไว้ กระทั่งเมื่อเดือน พ.ย.53 ได้รู้จักคนงานชาวพม่าและได้บอกขายโทรศัพท์มือถือกับตนจึงซื้อไว้ จากนั้นให้คนงานชาวพม่าช่วยเขียนจดหมายถึงน้องสาวในประเทศยูเครน เพื่อขอความช่วยเหลือโดยให้น้องสาวไปบอกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยูเครนและตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล และให้โทรศัพท์เข้ามาที่เครื่องโทรศัพท์ของตนที่ได้ซื้อต่อจากชาวพม่า

วิศวกร ชาวยูเครน กล่าวอีกว่า น้องสาวตนจึงรีบแจ้งตำรวจยูเครน จากนั้นได้ประสานสถานทูตยูเครน ในกรุงเคียฟ และสถานทูตได้ประสานสถานทูตยูเครน ประจำประเทศไทย เข้าตรวจสอบ ต่อมาเจ้าหน้าที่สถานทูตยูเครน ประจำประเทศไทย ได้โทรศัพท์เข้ามาที่ตนจึงบอกชื่อโรงงานให้ทราบและให้รีบมาช่วยเหลือ กระทั่งวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถานทูตยูเครน ได้โทรศัพท์มาเจรจาที่โรงงานแห่งนี้ขอให้ปล่อยตนออกมา โดยทางโรงงานจึงยอมคืนหนังสือเดินทางและปล่อยตัวตน ซึ่งตนจึงเรียกแท็กซี่ไปสถานทูตยูเครน และเข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.คลองหลวง แต่ตนอยากได่ค่าจ้างกว่า 7 ล้านบาท ที่ทำงานมานานเป็นเวลา 14 ปี คืนจากนายจ้าง จึงต้องมาขอความเป็นธรรมกับดีเอสไอให้เร่งรัดคดี

"ผมคิดว่าจะต้องอยู่ที่โรงงานนั่นตลอดไปเสียแล้ว ต้องทนอยู่ในห้องพักที่ทั้งเล็กแคบและสกปรกมานานหลายปี โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผมทำงานหนักโดยไม่ได้อะไรเลย พวกเขาไม่จ่ายเงินเดือนให้ผม และพวกเขาบังคับให้ผมทำงาน" วิศวกร ชาวยูเครน กล่าว

ทางด้าน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้กำชับให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย เพราะเป็นคนชาวต่างประเทศ เบื้องต้นพบว่านายอนาโตลี วโดวีเชนโก ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง ถูกยึดหนังสือเดินทางไม่ให้ออกไปไหนและให้ทำงานโดยไม่ได้รับค้าจ้าง และผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.คลองหลวง และมีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.รับคนงานต่างด้าว โดยไม่ได้รับอนุญาต และสอบสวนเจ้าของโรงงานรับเพียงว่ารับผู้เสียหายไว้ทำงานจริง ซึ่งวันนี้ผู้เสียหายเข้าขอความเป็นธรรมกับดีเอสไอช่วยเหลือติดตามค่าจ้างคืน หลังจากสอบปากคำจะจัดชุดสอบสวนประสานตำรวจคลองหลวง ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะการยึดหนังสือเดินทางไม่ให้ผู้เสียหายไปไหนก้ำกึ่งเข้าข่ายค้ามนุษย์ เพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษต่อไป ส่วนเหตุผลที่นายอนาโตลี ถูกกังขังเพียงคนเดียว เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตถังออกซิเจน หากไม่มีนายอนาโตลี โรงงานดังกล่าวก็ไม่สามารถเดินเครื่องจักรได้

เบื้องต้น ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบโรงงานแห่งนี้พบว่า เจ้าของโรงงานเป็นผู้หญิงชาวไทยเชื้อสายจีน อายุ 91 ปี แต่การบริหารกิจการจะมีชายไทยยังไม่ทราบชื่อเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งดีเอสไอจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป เพราะทางรัฐบาลยูเครนขอให้ทางการไทย ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น