xs
xsm
sm
md
lg

Focus: ไม่มีคำว่า “เสียใจ” จากปากวีรบุรุษ “เชอร์โนบิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - แม้ว่า เลฟ ฟัลคอฟสกี ชายชราวัย 73 ปี ต้องประสบกับปัญหาสุขภาพรุมเร้า หลังเคยร่วมกับชายฉกรรจ์โซเวียตนับแสนคน เข้าไปสะสางฝุ่นกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์ ณ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อปี 1986 แต่หนึ่งในวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียตผู้นี้ ยืนกราน ว่า ไม่เคยรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำ
เลฟ ฟัลคอฟสกี หนึ่งในทีมสะสางกัมมันตภาพรังสีขั้นสุดท้ายในพื้นที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ขณะนี้เขาอายุ 73 ปี และต้องผจญกับโรคร้ายจากหน้าที่ในครั้งนั้น
คุณปู่เลฟ ฟัลคอฟสกี เป็นหนึ่งในทีมงานซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ผู้สะสางกัมมันตภาพรังสีขั้นสุดท้าย” (liquidators) และกำลังเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำงานของหัวใจอย่างหนัก ตั้งแต่รับภารกิจเสี่ยงชีวิตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล อนึ่ง คณะแพทย์ลงความเห็น ว่า ปัญหาสุขภาพของฟัลคอฟสกี มีสาเหตุมาจากยาต้านสารกัมมันตรังสีจำนวนมากที่ต้องรับ ขณะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่กัมมันตภาพรังสี

“ผมไม่เสียใจเลยที่ไปที่นั่น” เลฟ ฟัลคอฟสกี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี “แม้ผมจะผิดหวังกับสุขภาพที่ย่ำแย่ แต่นั่นคืองานของผม”

เลฟ ฟัลคอฟสกี ถูกส่งตัวเข้าไปยังพื้นที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อเดือนมิถุนายน 1986 ไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดเหตุระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 4 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 เหตุการณ์ที่ทั้งโลกตระหนัก ว่า เป็นอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทีมงานสะสางกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวยังคงเป็นวีรบุรุษสำหรับอดีตสหภาพโซเวียตจากความเสียสละนำชีวิตของตนเข้าไปเสี่ยง เพื่ออนาคตของลูกหลาน

ทั้งนี้ หน่วยที่เข้าไปในเขตกักกันเป็นกลุ่มแรกๆ หลังจากเกิดการระเบิด ล้วนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงสุด โดยมีการประเมินไว้ ว่า มีเจ้าหน้าที่หมายหมื่นคนเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากผลกระทบโดยตรงของการเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ทว่าข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

อีกอร์ ออสเตรซอฟ สหายทีมสะสางกัมมันตภาพรังสีอีกคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอายุล่วงเลยสู่วัย 72 ปี ก็ระบุทำนองเดียวกัน ว่า เขาไม่เคยเสียใจที่รับเอากัมมันตภาพรังสีจำนวนมากจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเข้าสู่ร่างกาย แม้ปัจจุบันจะมีโรคต่างๆ รุมเร้าทั้งปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และมะเร็งร้าย
อีกอร์ ออสเตรซอฟ ปัจจุบันเป็นทั้งมะเร็งและโรคหัวใจ
“แน่นอน (หากย้อนไปได้) เราก็จะกลับไป” เขากล่าว แต่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่กำลังเผชิญอยู่ “ผมไม่เคยเสียใจ ผมภูมิใจกับทุกสิ่งที่ทำเสมอมา”

ออสเตรซอฟให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีจากอพาร์ตเมนต์ในกรุงมอสโก เขาระบุว่า เต็มใจรับหน้าที่ดังกล่าว ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า อันตรายเพียงใด

“ก่อนเดินทาง ผมอ่านทุกอย่างที่สามารถหาอ่านได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และพยายามทำตามกฎการป้องกันภัยทุกข้อ” ทุกวันนี้ อีกอร์ ออสเตรซอฟ ยังคงเก็บบัตรผ่านเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เมื่อ 25 ปีไว้กับตัว

แม้ว่าจะอุทิศชีวิตกู้วิกฤตอุบัติภัยเชอร์โนบิล และพลังงานนิวเคลียร์ แต่เขากลับปรารภออกมา ว่า หายนะเมื่อปี 1986 และโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่น แสดงให้โลกประจักษ์แล้ว ว่า การใช้พลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงมากเพียงไร

“โลกยุคใหม่ไม่ควรมีพลังงานปรมาณูหลงเหลืออยู่ ผมหวังว่า เหตุการณ์ในญี่ปุ่นจะปลุกทุกคนให้ตื่น และเริ่มตระหนักถึงอันตรายของมัน” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม อนาโตลี กริตซัค อดีตวิศวกร วัย 62 ปี ผู้ทำงานในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก่อนการระเบิด ได้รื้อฟื้นความทรงจำในอดีต และเล่ากับเอเอฟพี ว่า คนงานในโรงไฟฟ้าไม่มีใครทราบถึงระดับความอันตรายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“พวกเขาบอกกับเราว่า มันเป็นเพียงอุบัติเหตุเล็กๆ ให้เราเตรียมเงิน เอกสาร และเสื้อผ้าออกมาจากพื้นที่โรงไฟฟ้า” อนาโตลี กริตซัค เล่า อนึ่ง กริตซัคต้องเข้ารับการผ่าตัดขาทิ้งทั้งสองข้าง แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า เกี่ยวข้องกับเหตุกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลหรือไม่

อดีตทีมสะสางกัมมันตภาพรังสีขั้นสุดท้าย มักร้องเรียนอยู่เสมอว่า ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมจากทางกร และเมื่อวันพุธ (16) ที่ผ่านมา กลุ่มสหภาพผู้ทุพพลภาพจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลได้ออกมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลยูเครน ณ กรุงเคียฟ หลังมีข่าวว่า รัฐบาลวางแผนยกเลิกการช่วยเหลือทางสัมคมกับกลุ่มผู้เสียสละดังกล่าว
กลุ่มสหภาพผู้ทุพพลภาพจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลยูเครน เมื่อวันพุธ (16) ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ทางการดูแลเรื่องสวัสดิการและการช่วยเหลือทางสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น