“นครบาล” เชิญตัวแทน-องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก ร่วมถกหาแนวทางเกี่ยวกับมาตรการพิทักษ์เด็ก ตร.ยันไม่ใช่เคอร์ฟิวแต่ต้องการดูแลเด็กและเยาวชน ระบุใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่เน้นตรวจในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง 4 จุดหลัก ขณะที่หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องกับมาตรการ แต่ให้เน้นทำความเข้าใจผู้ปกครอง และประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น
วันนี้ (21 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมปารุสกวัน 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ พล.ต.ต.วรัญวัส การุณยธัช พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.อก.บช.น. พร้อมตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนหญิง, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก, มูลนิธิคุ้มครองเด็ก, มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก, มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก, สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร, มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร, สำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็กและสื่อมวลชน เพื่อประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการพิทักษ์เด็ก
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า เป็นการหารือวางมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลตามมาตรการพิทักษ์เด็ก รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยในกรณีที่สอดรับโครงการประชาวิวัฒน์ที่ต้องลดอาชญากรรม 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 6 เดือน ซึ่งหลายสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำนั้นจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น เด็ก ผู้ปกครอง ฯลฯ จากการหารือทั้งหมดมีความเป็นห่วงในการปฏิบัติงานของตำรวจระดับล่างในการดูแลตามนโยบายดังกล่าวซึ่งทาง บช.น.ยินดีรับข้อเสนอของผู้เข้าประชุม เนื่องจากผู้ปกครองหลายท่านเป็นห่วงว่าหารที่เข้าไปกระทำหรือจับกุมอาจกระทบกับจิตใจเด็ก
“จริงแล้วตำรวจไม่ได้มีมาตรการในการจับกุมเด็ก ตำรวจจะทำเพียงเข้าไปดูแลในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง 4 ส่วน คือ 1.ร้านอินเทอร์เน็ตห้ามให้บริการเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หลัง 22.00 น.ตาม พรบ.ภาพยนต์ ปี พ.ศ.2551 2.สถานบริการใดที่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้บริการ 3.โต๊ะสนุกเกอร์ ร้านยาดอง และ 4.แหล่งมั่วสุมอื่นๆ เช่น สวนสาธารณะ ทางตำรวจจะเข้าไปดำเนินการ ทั้ง 4 ส่วนเด็กและเยาวชนไม่ต้องกังวลสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเน้นตามสุ่มเสี่ยงดังกล่าว ส่วนตัวเด็กจะไม่มีการจับกุมมาดำเนินคดี แต่จะเน้นดำเนินการกับผู้ใหญ่ที่กระทำผิดกฎหมาย หากร้านที่มีการขายบุหรี่ สุราให้แก่เด็กและเยาวชน ตำรวจจะเข้าไปดำเนินตามกฎหมายต่อร้านเหล่านั้นทันที” โฆษก บช.น.กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะกล่าวอีกว่า สำหรับคำว่าเคอร์ฟิวตำรวจไม่มีการบังคับใช้ แต่เป็นเพียงมาตรการดูแลเด็กและเยาวชนเท่านั้น ซึ่งทุกส่วนราชการยินดีให้ความร่วมมือกับตำรวจ นอกจากนี้ยังเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมาซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อให้งานที่ออกมาเป็นไปทิศทางเดียวกัน ซึ่งตำรวจจะมีการประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนและตามสถานที่ราชการทุกแห่งเพื่อให้เกิดเข้าใจมากยิ่งขึ้นต่อไป
ด้าน น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังน้อยเกินไปที่จะให้เข้ามาตรการดังกล่าวได้ และขอให้มีการนำภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันทำงานโดยเฉพาะผู้มีอำนาจเกี่ยวกับเด็ก รวมถึงควรมีการเวอร์ช้อปปฏิบัติการอย่างจริง โดยให้งานที่ออกมีประโยชน์กับทุกด้านส่วน
ส่วนนายณัฐวุฒิ บัวประทุม มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำขึ้นมา และต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องมีการดำเนินที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เมื่อตำรวจมีการทำงานร่วมกันการเกิดข้อสงสัยก็น้อยลง
ตัวแทนสื่อมวลชนกล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ แต่ต้องมีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนเพื่อไม่ให้ผู้ปกครองและเด็กเกิดข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัย เพราะบางครั้งผู้ปกครองมักกลัวว่าลูกหลานอาจถูกจับกุมโดยที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งก็ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้เช่นกัน
ด้านตัวแทนนักเรียนกล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องกลับบ้านก่อนเวลา 22.00 น.เพราะมาตรการดังกล่าวสามารถลดปัญหาการมั่วสุมของเยาวชนได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งผู้ใหญ่กระทำความผิดเสียเองอย่างแถวบ้านตนอยู่ในเขตพื้นที่สน.ประเวศ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลบ่อนการพนัน และทำสิ่งผิดกฎหมายเสียเอง อีกทั้งร้านจำหน่ายสุรา สถานบริการไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลยให้เด็กซื้อตามความต้องการ เพราะบางครั้งผู้ใหญ่ส่งเสริมเด็กเหล่านั้นไปในทางที่ผิด ควรมีการป้องกันที่ดีด้วย